เพิ่งจะเกิดเรื่อง…แต่ ‘มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว!!’
นักธุรกิจชาวอาทิตย์อุทัยมาประกอบกิจการอยู่ในเมืองไทยโดยมีภาวะ “เส้นเลือดขอดที่ขา” พกติดตัวมาด้วย แต่ไม่เคยเกิดปัญหาต้องเดือดเนื้อร้อนใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวแต่อย่างใด จนเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ได้เกิดอาการ “ปวดขา-เท้าบวม” ซึ่งเป็นอยู่ราวเดือนเดียวก็ทำให้เจ้าตัวคือ “มิสเตอร์โอกาโมโตะ” นักธุรกิจรายนี้ “ไม่อาจสวมรองเท้าไปทำงานได้” สุดท้ายก็ต้องไปพึ่งพาหาหมอที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” และได้รับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” นำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับท่านผู้อ่านที่อาจเจอปัญหาเส้นเลือดขอดเข้ากับตัวเอง หรือมิฉะนั้นก็อาจมีญาติสนิทมิตรสหายต้องทนกับภาวะแบบเดียวกัน โดยยังไม่เจอฤทธิ์รุนแรงเหมือนดังผู้ป่วยต่างชาติรายนี้… จะได้มีแนวทางจัดการโดยไปให้คุณหมอบำบัดรักษาให้พ้นอันตรายจากโรคนี้ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่จนแก้ไขได้ยากขึ้น ซึ่ง “หมอจอแก้ว” จัดคิวให้ “โอกาโมโตะซัง” ลำดับความให้ทราบเบื้องต้น ณ บัดนี้ก่อนนะครับ…
“…เส้นเลือดดำที่ขาปูดเป็นก้อนบวมขึ้นมาและมีอาการชาตามมาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่เคยมีอาการปวดบวมและชาที่ขาแบบนี้มาก่อน คือจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ แต่นอกจากจะทำให้ปวดจนเดินไม่ไหวแล้ว ขาก็บวมจนใส่รองเท้าไม่ได้อีก ทำให้ผมต้องใส่รองเท้าแตะไปทำงานเพราะใส่รองเท้าสวมไม่ได้ครับ และเวลาที่ปวดขาก็เดินขึ้นบันไดลำบากอีกด้วย หลังจากปรึกษาคุณหมอแล้วได้รับคำแนะนำว่าวิธีรักษาที่เร็วที่สุดคือเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งแม้จะกังวลกับการผ่าตัดแต่ก็ต้องทำใจเลือกเพราะอยากรักษาให้หายไว ๆ ประกอบกับคุณหมอก็บอกว่าไม่เป็นไร…ขอให้ไว้ใจหมอครับ หลังจากผ่าตัดได้ราว 1 สัปดาห์ เส้นเลือดดำที่ปูดขึ้นมาเป็นก้อนกับอาการบวมที่ขาก็หายไป ส่วนอาการปวดและชาที่เหลือก็ค่อย ๆ ลดลงตามที่คุณหมอบอก คือต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งช่วงที่ได้เข้ามารักษาอยู่ที่นี่ผมก็ได้เห็นว่าเป็นโรงพยาบาลที่ดีมาก คุณหมอและพยาบาลทุกคนใจดี มีการทำงานแบบมืออาชีพด้วยครับ ตอนผมมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคมก็เป็นวันเกิดผมพอดีและพอพนักงานที่เคาน์เตอร์รับบัตรที่ผมยื่นให้แล้วก็พูดขึ้นมาเลยว่าวันนี้เป็นวันเกิดนี่ ผมก็เลยขอถ่ายรูปกับทุกคนตอนนั้นด้วยเลยครับ… สำหรับเรื่องเส้นเลือดขอดนั้นถ้าปล่อยไว้จะเป็นช่องทางให้มีโรคอื่นตามมาอีก ผมคิดว่านอกจากไปปรึกษาแพทย์แล้ว ควรรีบรักษาด้วยเลยดีกว่า ไม่ว่าจะรักษาด้วยยาหรือเข้ารับการผ่าตัดก็ไม่ควรปล่อยไว้ครับ…”
เป็นอันว่า “โอกาโมโตะซัง” ก็ได้ฉลองวันเกิดอย่างสบายใจหายห่วงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณี “เส้นเลือดดำขอด” หลังจากเข้ารับการผ่าตัดรักษาที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ด้วยความเรียบร้อย
เกิดอะไรขึ้น??…กับ ‘หลอดเลือดดำที่ขาผู้ป่วย’
มาติดตาม “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” กันต่อเพื่อให้ได้ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยภาวะอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งคุณหมอผู้ตรวจ-รักษาก็คือ “นพ.วัฒนกิจ มุทิรางกูร” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” โดยได้อธิบายว่า…
“…ผู้ป่วยชายชาวต่างชาติรายนี้มาด้วยอาการปวดขามาประมาณ 1 เดือน ตามประวัติระบุว่ามีเรื่องขาบวมกับมีเรื่องหลอดเลือดขอด หรือที่รู้จักกันว่าเส้นเลือดขอดนั่นเองครับ ผู้ป่วยมาปรึกษาเพราะสงสัยว่าเขาจะติดเชื้อหรือมีหลอดเลือดดำอุดตันอย่างไรหรือไม่ แต่ผมตรวจดูแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นตัวของหลอดเลือดขอด จึงตรวจอัลตราซาวด์ ก็เลยเอาไปทำอัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยต่อไป ซึ่งจริง ๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่าตัวหลอดเลือดดำมีหน้าที่นำเลือดจากขากลับไปคืนสู่หัวใจ เวลาหลอดเลือดดำขอดจะส่งผลให้เลือดคั่งที่ขามากและทำให้มีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาบวม หรือรุนแรงสุดก็อาจทำให้เป็นแผล ซึ่งโดยปกติแล้วการรักษาตัวหลอดเลือดขอดนั้นเราจะมีข้อบ่งชี้ในการรักษาก็คือถ้ามันมีหลอดเลือดขอดเฉย ๆ โดยไม่มีอาการ ก็อาจไม่ต้องทำอะไร ก็คือรักษาแบบประคับประคอง หรืออาจจะใช้วิธีให้ใส่ถุงน่องโดยเฉพาะของหลอดเลือดขอด แต่ถ้าเกิดอาการอย่างเช่น ปวด บวม ผิวเปลี่ยนสี หรือมีแผล อย่างนี้ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดครับ โดยที่การวินิจฉัยหลัก ๆ จะใช้วิธีทำอัลตราซาวด์แบบที่เรียกว่า Doppler Ultrasound เพื่อค้นหาจุดที่มีปัญหาของตัวหลอดเลือด ซึ่งพบว่าปัญหาอยู่ที่หลอดเลือดดำชั้นตื้น จากกรณีที่ลิ้นของหลอดเลือดดำไม่ทำงาน เลือดดำจึงไหลย้อนกลับลงไปสู่ขา เพราะฉะนั้นการรักษาก็คือต้องคุยกับคนไข้ว่าจะใช้วิธีทำการผ่าตัด ซึ่งโดยปกติมี 2 วิธีหลัก ๆ คือผ่าตัดเอาออก กับอีกวิธีคือ Endovenous Treatment ซึ่งมีให้เลือกใช้ได้ 2 แบบ คือแบบใช้ความร้อน กับแบบใช้กาว โดยคนไข้เลือกใช้แบบความร้อนซึ่งการผ่าตัดเป็นแบบแผลเล็ก เราจึงสามารถใช้แค่เหมือนกับยาชา โดยคุณหมอดมยาได้ให้ยาระงับความรู้สึกด้วย ข้อดีคือจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าครับ หลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยสามารถลุกเดินเลยและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจต้องใส่ถุงน่องโดยเฉพาะหรือพันขาเอาไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ครับ ส่วนที่สงสัยว่ามีโอกาสเกิดอีกได้หรือไม่นั้น ก็คือมี แต่ค่อนข้างน้อยมากครับ และจุดที่มีโอกาสเกิดอีกก็มักเป็นที่ตำแหน่งอื่น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมว่าเกิดจากตำแหน่งใดครับ…”
คุณหมอให้รายละเอียด…‘เทคโนโลยี’ ที่นำมา ‘ใช้รักษา’
จากนั้น “คุณหมอวัฒนกิจ” ในฐานะ “แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด” ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้อธิบายให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการผ่าตัด” ด้วยวิธีดังกล่าว โดยระบุว่า…
“…ระหว่างทำการผ่าตัดเราจะใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วย โดยมีอุปกรณ์เหมือนเข็มมาใช้ในการเจาะหลอดเลือดดำตรงที่มีปัญหา แล้วก็ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า RFA ซึ่งย่อมาจาก Radiofrequency Ablation มาใส่เข้าไปตรงบริเวณหลอดเลือดดำที่มีปัญหาแล้วก็ดูจากอัลตราซาวด์เพื่อหาจุดที่จำเป็นต้องทำโดยต้องกะระยะให้เหมาะสม หลังจากนั้นจะเริ่มฉีดพวกสารน้ำไปรอบ ๆ บริเวณหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันปัญหาการบาดเจ็บของพวกระบบประสาทข้างเคียง หรือกล้ามเนื้อข้างเคียงอะไรพวกนี้ ก่อนที่จะทำการละลายหลอดเลือดครับ หลังจากทำผ่าตัดเสร็จไปแล้ว 2 สัปดาห์อาการบวมที่ขาได้ยุบลง แต่คนไข้ยังมีอาการปวดอยู่เล็กน้อย ผมจึงได้ทำอัลตราซาวด์ซ้ำดูว่ายังมีหลอดเลือดตรงไหนที่ยังมีปัญหาอยู่ ก็ได้พบว่าหลอดเลือดที่บริเวณใต้เข่ายังมีปัญหาอยู่ ก็เลยทำการฉีดยารักษาเพิ่ม ซึ่งช่วยให้อาการดีขึ้นครับ…”
หวังว่าเนื้อหาสาระที่นำมาฝากใน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” วันพุธนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านที่มีปัญหา “เส้นเลือดขอด” หรือมีผู้ใกล้ชิดสนิทสนมต้องถูกรบกวนจากปัญหาเดียวกันกับผู้ป่วยต่างชาติรายนี้ จะได้สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการรักษาให้พ้นทุกข์ทรมานและกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยไวในที่สุดนะครับ.
หมอจอแก้ว