เชื่อได้ว่าภายในเดือนก.ย.นี้ รัฐบาลของ “นายกฯอิ๊งค์–แพทองธาร ชินวัตร” จะเดินหน้าทำงาน เดินหน้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการได้ หลังจากแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ แม้เวลานี้บรรดาครม.ชุดใหม่จะยังไม่ลงตัวในบางพรรคบางตำแหน่งกันบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อทุกอย่างลงตัวและสมประโยชน์ ก็เดินหน้าต่อได้ แต่ที่สำคัญ…คุณสมบัติของครม.ต้องไม่เป็นปัญหาทางกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดการ “ซ้ำรอย” เหมือนอย่างกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่สามารถเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงเกือบ 1 ปีเท่านั้น
แม้เวลานี้!! รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่าใครที่รับชมรับฟัง หรือติดตามการโชว์วิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เข้าใจได้ว่าทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาล “อิ๊งค์ 1” คงไม่หนีห่างจากวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ เท่าใดนัก และในหลายเรื่องได้สร้างความชัดเจนให้กับสังคมไทยไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล การเดินหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นโยบายท่องเที่ยว และอีกมากมายสารพัด
แต่…ก่อนที่จะไปถึงนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล “อิ๊งค์ 1” ว่าจะกลั่นกรองออกมาอย่างไร? มาสำรวจกันก่อนว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาสานต่อ มาตัดสินใจ มาโชว์ให้เห็นในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจนั้นมีอะไรกันบ้าง
สางปมดิจิทัลวอลเล็ต
เริ่มจาก…กระทรวงใหญ่สุด อย่างกระทรวงการคลัง ไม่ว่าทีม รมต.คลัง จะเป็นหน้าใหม่หรือหน้าเก่า แต่ที่แน่ ๆ ต้องรอรับเผือกร้อนจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่วันนี้ได้กลายพันธุ์เป็นทั้งแจกเงินสด เงินดิจิทัล ให้คนหลายกลุ่มหลายขยัก โดยกลุ่มแรกที่ต้องเร่งเคลียร์จ่ายก่อน 1 หมื่นบาท ให้ทันภายในเดือนก.ย.นี้ คือ ชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน เพื่อให้สอดรับกับเงื่อนไขการใช้งบประมาณปี 67 วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งเคลียร์ คือกลุ่มบัตรคนจน 13.5 ล้านคน และผู้พิการที่ไม่ได้เป็นคนจนอีก 1 ล้านคน จะได้รับเงินด้วยวิธีอะไร เป็นเงินสดถอนไปใช้ได้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร หรือเป็นเพียงแค่วงเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายสินค้า และเงื่อนไขการนำไปใช้จ่าย จ่ายได้แบบไหน ซื้อสินค้าอะไร มีข้อจำกัดต้องซื้อภายในอำเภอแบบดิจิทัล วอลเล็ตหรือเปล่า ซึ่งหากใช้กลไกเดิมของบัตรคนจนที่มีอยู่ก็ถือว่าง่ายและจะช่วยให้เงินกระจายสู่ระบบได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานคู่ขนานกันไปกับการวางระบบหลังบ้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งการชำระเงิน เชื่อมข้อมูลกับธนาคารจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะมีอีกกว่า 30 ล้านคนรอใช้อยู่ โดยรัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะเดินหน้าต่อแน่ ๆ ไม่มีมวยล้มต้มคนดู
ต้องปิดหีบงบฯให้ลง
ต่อมา…เรื่องสำคัญไม่แพ้กันกับภาระการจัดเก็บรายได้ คือ…การปิดหีบงบรายรับรายจ่ายให้ลงตัว เพราะอย่างที่ทราบช่วง 9 เดือนของปีงบ 67 รัฐบาลเผชิญปัญหาจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 26,169 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากมาตรการปรับลดภาษีนํ้ามันดีเซล และนํ้ามันเบนซินช่วยประชาชน อีกทั้งยังเจอมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปมาก ดังนั้น ช่วงที่เหลือ คลังจะต้องหาทางเร่งเครื่องหนัก ปั๊มรายได้แบบเร่งด่วน ให้ได้ตามเป้าหมาย 2.78 ล้านล้านบาท ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณ กลายเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินประชาชน โดยเฉพาะหนี้ที่ทำท่าจะกลายเป็นหนี้เสียของแบงก์รัฐนับแสนล้านบาท บางส่วนยังถูกพักไว้ใต้พรม บางส่วนอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือ แต่บางส่วนที่เป็นหนี้ดี ก็เริ่มอ่อนแรงผ่อนไม่ไหว หรือค้างจ่ายไปแล้ว 1-2 เดือน ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี
ปัญหาเหล่านี้ เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ กระทรวงการคลังจะหาทางออกแก้ไขอย่างไร ท่ามกลางข้อจำกัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ไม่ลดดอกเบี้ย หรือโอนอ่อนผ่อนเกณฑ์ จนกลายเป็นความขัดแย้งของนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ซัดกันไปมาระหว่างคนของกระทรวงการคลัง กับคนของ แบงก์ชาติ ในช่วงที่ผ่านมา
แก้ปมถูกสินค้าจีนทุบ
ด้านกระทรวงพาณิชย์ ก็เป็นอีกกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีหน้าที่ต้องตระเตรียมหาร้านค้าเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด โดยปัจจุบันตั้งเป้าหมายไว้กว่า 2 ล้านราย ซึ่งถือเป็นยอดที่ท้าทายมาก เพราะเมื่อเทียบกับโครงการอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ของรัฐบาล เช่น คนละครึ่งก็มีร้านค้าร่วมกว่า 1 ล้านแห่งเท่านั้น แถมบางส่วนก็มีทยอยถอนตัวออกไปเพราะกลัวถูกรีดภาษีก็มี ดังนั้น เป็นการบ้านที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งทำความเข้าใจกับร้านค้าให้ดี เพราะหากได้ร้านค้าน้อยจะทำให้เงินไม่หมุนเวียนไปทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า และสินค้าจีน ที่ดาหน้าถล่มไทย เพราะเห็นยอดขาดดุลการค้า 5-6 ปีหลังมานี้ น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยไทยขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นทุกปี จากตัวเลขหลักแสนล้านบาท ล่าสุดปี 66 ทะลุไปเกิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว และกำลังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคธุรกิจไทย เริ่มตั้งแต่คนค้าขาย ที่สั่งซื้อสินค้าจากจีนมาขายต่อก็อยู่ไม่ได้ต้องเลิกขายไปเยอะ ขณะที่โรงงานไทยที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกับจีน ก็แข่งราคาไม่ได้ ต้องปิดโรงงานไป จนกระทบต่อการเลิกจ้างงานตามมาอีก
เรื่องนี้…จึงต้องวัดใจกันว่าจะแก้อย่างไร? เพราะหากทิ้งตัวไม่ทำอะไรเลย รับรองผู้ประกอบการไทยมีแต่ตายกับตายเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากพาณิชย์จะงัดไม้แข็ง เหมือนบางประเทศในภูมิภาคทั้งการตั้งกำแพงภาษี การแบนสินค้าจากจีนเข้ามาขายในไทย ก็ห่วงว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์มูลค่าการค้าหลายล้านล้านบาท ต้องไม่ลืมว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่สุดของไทย แต่ละปีสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากมาย โดยเฉพาะผลไม้ ทุเรียนนับแสนล้านบาท
หากไทยไปกีดกันสินค้าจีนแบบไม่เข้าท่า และถูกตอบโต้กลับเข้ามา จะทำให้คนค้าขายกับจีน หรือชาวสวนผลไม้ขายของไม่ได้กระทบเดือดร้อนไปอีก ไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยว ที่จีนยังเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย มากกว่า 3 ล้านคน หากรัฐบาลจีนไม่สนับสนุนให้เที่ยวไทยขึ้นมา ก็จะกระทบให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเดือดร้อนตามไปด้วย
เหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ไม่นับรวมดราม่าของถูก ของแพง ที่ต้องแก้กันเป็นรายวัน ซึ่งถือเป็นภาระหนักสำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพ่อค้าย่านสนามบินนํ้า ทีเดียว
รื้อโครงสร้างพลังงาน
หันมาที่กระทรวงพลังงาน ที่เวลานี้ผู้นำยังเป็นคนเดิมแน่ ๆ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมีงานสานต่ออีกเพียบ โดยเฉพาะนโยบายเรือธงของ “พีระพันธุ์” ที่ประกาศปรับโครงสร้างราคานํ้ามัน เป็นการพลิกโฉมที่จะรื้อ ลด ปลด สร้าง ราคาพลังงานแบบใหม่ เน้นหัวใจให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ตอนนี้อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 จากบันไดทั้งหมด 5 ขั้น อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายทั้งหมด 90 หน้า 180 มาตรา ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายตรวจสอบถี่ยิบอีกรอบ
ทั้งนี้ทั้งนั้น “พีระพันธุ์” มองว่า กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาพลังงานของไทยที่ประชาชน “บ่น” ว่าแพง ไม่ใช่แค่ราคานํ้ามันเท่านั้น ยังมีราคาพลังงานอื่น ๆ อีกด้วยที่ประชาชนยังมองว่าแพง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าเอ็นจีวี ค่าก๊าซหุงต้ม เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงพลังงานต้องแก้ปัญหา ท่ามกลางการแบกภาระหนี้กองทุนนํ้ามันเชื่อว่าล่าสุด วันที่ 18 ส.ค. เหลืออีกกว่า 1.09 แสนล้านบาท ไม่นับรวมหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องออกมาแอ่นอก แบกรับภาระค่าไฟแทนประชาชนไปก่อน โดยยังเหลืออีกเฉียดแสนล้านบาท
ชงแผนพลังงานชาติ
รวมทั้งยังมีการประกาศใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (พีดีพี 2024) ที่ใช้เวลามาหลายปีแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและจะนำมารวมกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิง รวมเป็นแผนพลังงานชาติ (เอ็นอีพี 2024) แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เพื่อเสนอครม.ชุดใหม่ในเดือนต.ค.นี้
นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายและขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือฮับแอลเอ็นจี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังศึกษา เพื่อให้ไทยเป็นฮับแอลเอ็นจีในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในส่วนของกระทรวงพลังงานจะดูในเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือปั๊มชาร์จ โดยตั้งเป้าหมายในปี 73 จะต้องมีปั๊มชาร์จแบบชาร์จเร็ว ในสัดส่วน 5% หรือประมาณ 2,000-4,000 สถานี รวมทั้งต้องเตรียมด้านปริมาณไฟฟ้าเพื่อรองรับรถอีวี เนื่องจากคาดว่าในอนาคต 5-6 ปีข้างหน้า ไทยจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ช่วงกลางคืน เนื่องจาก 80% ของรถอีวี จะชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้าน
เร่งแก้อุปสรรคลงทุน
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้รมว.แน่ ๆ เป็น “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคจะมานั่ง “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตฯคนเดิม ที่มีผลงานไม่น้อยทั้งฮับฮาลาล ที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติออกมาแล้ว รวมทั้งการพัฒนาโกโก้ของไทย ให้ดังไกลสู่ระดับสากล ที่คนใหม่ต้องมาขับเคลื่อนต่อไป แต่ที่สำคัญต้องเร่งลดขั้นตอนทลายทุกอุปสรรคในการให้ใบอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเฉพาะใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) แม้มีการแก้ปัญหามาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่สุดท้ายก็ถูกมองว่าไปไม่ถึงต้นตอ เช่น แบบฟอร์มการขอใบอนุญาตทั้งของอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลายครั้งยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน จนทำให้ต้องแก้ไปแก้มาหลายครั้ง เป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ
สกัดสินค้าห่วยทะลัก
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสนับสนุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ รวมถึงแนวทางการกำจัดซากขยะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ซากแผงโซลาร์เซล ซากแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ หรือต่อไปจะมีอุตสาหกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จนส่งผลต่อสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เริ่มทยอยปิดโรงงานเป็นจำนวนมาก หลังจากไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำได้ ไม่เพียงแต่ทำลายผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าของประชาชนอีกด้วย
ดีอีเล็กแต่เรื่องใหญ่มาก
หันมาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แม้หลายคนมองว่าเป็นกระทรวงเล็ก ๆ แต่ในยุคของโลกดิจิทัล กระทรวงดีอี ย่อมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากระทรวงอื่น ๆ แม้ยังไม่ลงตัวเรื่องเก้าอี้รมว. แต่ไม่ว่าใครจะเข้ามา ปัญหาใหญ่ที่ต้องสะสางให้ราบคาบ ให้หมดจด 100% คือปัญหาหลอกลวงออนไลน์ ในสารพัดรูปแบบ แม้มีการจัดตั้ง ศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์วัน สต็อป เซอร์วิส ในการแก้ปัญหาทั้งการรับแจ้งความ การอายัดบัญชี และการติดตามเงินของผู้เสียหายและตัวคนร้ายมาดำเนินคดี ก็ตาม แต่ใช่ว่าปัญหาจะหมด? ใครเข้ามารับตำแหน่งก็ต้องเร่งเดินหน้าเรื่องนี้เพราะไม่เช่นนั้นกระเทือนเก้าอี้แน่
เพราะหากดูสถิติการรับแจ้งความออนไลน์แล้ว ที่ผ่านมาทางตำรวจได้มีการรับแจ้งความสูงถึง 6 แสนเรื่อง ความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท และประเทศไทยก็มีสถิติอาชญากรรมออนไลน์สูงติดอันดับ 6 ของโลก จึงเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีคนใหม่จะไม่เร่งแก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องแก๊งคอลเซ็นตอร์ ขณะที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ได้ประกาศอัดยาแรง เตรียมออก กม. พิเศษ และแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งรมว.ใหม่ก็ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปอย่างไรบ้าง?
วัดฝีมือคุมอีคอมเมิร์ซ
เช่นเดียวกับเรื่องของแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซจากจีน คือ “เทมู” ที่รุกคืบเข้ามาทำตลาดในไทยทำเอาวงการอีคอมเมิร์ซปั่นป่วนจนกระทบต่อเอสเอ็มอีไทย ที่ต้องดูว่าด้วยกลยุทธ์ขายสินค้าถูกมาก ๆๆ เช่นนี้กฎหมายของไทยจะดูแลเรื่องนี้ได้อย่างไร?
รวมถึง “เผือกร้อน” กรณี บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ที่เป็นปัญหามานานหลังจากที่ได้ควบรวมกิจการ ระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตั้งแต่ 7 ม.ค. 64 เป็น เอ็นที มา 3 ปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องปรับโครงสร้างองค์กร ที่หลายหน่วยงานยังทำงานซ้ำซ้อน ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่มีหลายตำแหน่ง ที่สำคัญ!! คือ การหารายได้ ให้องค์กรมีกำไรจากการดำเนินงาน โดยเฉพาะปี 68 รายได้ของเอ็นทีส่วนหนึ่งจะลดลงถึง 40,000 ล้านบาท ทั้งรายได้จากสัญญาสัมปทาน จากผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือจะสิ้นสุดลง ประกอบกับคลื่นความถี่ที่เอ็นทีถือครองอยู่จะหมดอายุ ก็จำเป็นต้องส่งคืนให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งระยะเวลาใกล้เข้ามาแล้วอีกปีเดียว
สางปัญหาทัวร์ราคาถูก
ขณะที่เรื่องของการท่องเที่ยว ที่เป็นอีกเครื่องยนต์หลักสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้แนวโน้มสดใส ดึงต่างชาติมาเที่ยวได้ตามเป้าหมาย แต่ก็มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้!! อย่าง “ทัวร์ทุบตลาด” ที่ทำลายภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย เพราะผลกระทบหนักกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ทำให้ผู้ประกอบการบริษัททัวร์ของไทยเดือดร้อนในตอนนี้ ยิ่งปล่อยนานเข้าจะยิ่งเสียหายหนัก หากรัฐบาลปล่อยไว้แบบนี้ คาดว่าไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้ บริษัททัวร์ไทยจะอ่อนกำลังและตายไปในที่สุด โดยรูปแบบการทำทัวร์ของบริษัททัวร์ของจีนที่ใช้คนไทยเป็นนอมินี นำกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวจีนมาไทยด้วยการทำราคาแบบต่ำที่สุดขายตัดราคาแบบยอมเจ๊ง เพื่อให้บริษัททัวร์ไทยอยู่ไม่ได้และตายไปจากระบบ เพื่อได้ครองตลาดเองทั้งหมดในภายหลัง เมื่อพานักท่องเที่ยวจีนมาถึงไทยก็ข่มขู่ บีบบังคับให้ซื้อของ ชอปปิงคนละ 70,000-100,000 บาท แม้ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับทางการจีนอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ไม่เพียงเท่านี้!! ยังมีความท้าทายในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซันหรือนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับเป็นช่วงหน้าฝนทำให้เส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งได้รับผลกระทบจากนํ้าท่วม จึงทำให้คนชะลอเดินทางออกไปก่อน ดังนั้น!! โจทย์สำคัญจากนี้…คือ ต้องเร่งหามาตรการเพื่อปั้นรายได้และจำนวนของนักท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลของนายเศรษฐา วางไว้ที่ 37 ล้านคน สร้างรายได้ 35 ล้านล้านบาท
ทั้งหลายทั้งปวง!! เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาและสารพัดงานที่กำลังรอรัฐบาลอิ๊งค์ 1 นำพาบรรดา ครม.ชุดใหม่มาพิสูจน์ฝีมือเพื่อสะสางสารพัดปัญหาให้ลุล่วงและเดินหน้าพาเศรษฐกิจไปถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็นต่อไป.