องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศในเดือนนี้ ให้การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพ็อกซ์ เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”
นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง มีความน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ( ดีอาร์คองโก ) ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อโรคแพร่ระบาดข้ามพรมแดนไปยังอีกหลายประเทศ ที่ไม่เคยมีการยืนยันผู้ป่วยโรคดังกล่าวมาก่อนด้วย สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของดับเบิลยูเอชโอ สอดคล้องกับการที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกา ( แอฟริกา ซีดีซี ) ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง “เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาค” เนื่องจากมีการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่แอฟริกา ซีดีซี ใช้อำนาจดังกล่าว นับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติจากสมาชิก เมื่อสองปีที่แล้ว โดยสถิติของแอฟริกา ซีดีซี ยืนยันผู้ป่วยสะสมจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในภูมิภาคแล้ว 38,465 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 1,456 ราย นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 จนถึงวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่หากนับเฉพาะตั้งแต่ต้นปีนี้ แอฟริกา ซีดีซี ยืนยันเมื่อต้นเดือนส.ค.ว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมจากโรคฝีดาษลิงอยู่ที่อย่างน้อย 18,737 คน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวอยู่ที่อย่างน้อย 541 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2.89% โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ซึ่งพบในดีอาร์คองโก และมีเด็กรวมอยู่ด้วย
อนึ่ง การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในดีอาร์คองโกรอบนี้ คือกลุ่มเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “เคลด 1บี” ซึ่งกลายพันธุ์มาจากกลุ่มสายพันธุ์ที่ 1 หรือเคลด 1 ทำให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะยิ่งรุนแรง เนื่องจากเชื้อเคลด 1 ดั้งเดิม มีความรุนแรงมากพออยู่แล้ว และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% มากกว่ากลุ่มสายพันธุ์ที่ 2 หรือเคลด 2
แม้ฝีดาษลิงถือเป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นของทวีปแอฟริกา แต่การที่สถิติผู้ป่วยยืนยันในปีนี้ ทำลายจำนวนผู้ป่วยสะสมของทั้งปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 14,383 คน และประเทศเพื่อนบ้านของดีอาร์คองโกพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ค. 2565 ดับเบิลยูเอชโอประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการพบผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 90,000 คนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตแล้วราว 130 ราย จนถึงเดือนพ.ค. 2566 ซึ่งตอนนั้นเป็นการแพร่ระบาดของกลุ่มสายพันธุ์ เคลด 2
ด้านบริษัทบาวาเรียน นอร์ดิก ผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเดนมาร์ก เป็นผู้ผลิตวัคซีนที่มีชื่อทางการพาณิชย์ว่า “อิมวาเนกซ์” ( Imvanex ) หรือ “จีนนีโอส” ( JYNNEOS ) สำหรับโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ซึ่งดับเบิลยูเอชโอประเมินประสิทธิภาพต่อโรคฝีดาษลิงไว้ที่ 85% ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า มีศักยภาพผลิตวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 2 ล้านโดส ภายในปีนี้ และกำลังการผลิตสูงสุด 10 ล้านโดส ภายในปี 2568
ขณะเดียวกัน บาวาเรียน นอร์ดิก ประเมินจำนวนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ที่มีอยู่ในคลังของบริษัท ณ เวลานี้ ประมาณ 500,000 โดส ส่วนประเทศซึ่งสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการใช้แบบนอกข้อบ่งใช้ ( off-label ) หมายความว่า ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยทั้งดับเบิลยูเอชโอ และแอฟริกา ซีดีซี ถือเป็น “โอกาสครั้งที่สอง” ของประชาคมโลก ในการร่วมกันตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชากรโลกทุกคนอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนั้น “คือบทเรียนที่เป็นต้นทุน” ให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ และเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า “เมื่อไหร่”
การตอบสนองของทั่วโลกที่มีต่อการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน ต่อภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยกับกลุ่มประเทศยากจน ประเทศขนาดใหญ่กับประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากสถานการณ์หลายเรื่องสะท้อนความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียม จากการ “ต้องแย่งชิง” วัคซีน ชุดตรวจ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์ ส่วนบรรดาผู้ผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ยกเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมา “เพื่อเป็นข้ออ้าง” ในการแสวงหาชื่อเสียงและผลกำไรเท่านั้น
ส่วนการเจรจาจัดทำข้อตกลงระดับโลกครั้งสำคัญ เกี่ยวกับการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคต ผ่านการ ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชเอ ) ที่เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ปิดฉากตามกำหนดเวลา แต่ที่ประชุมไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันอย่างชัดเจนได้ เนื่องจาก “ความแปลกแยกที่ยังคงมีอยู่” ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยกว่า กับกลุ่มประเทศซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า
ข้อพิพาทซึ่งทั้งสองฝ่ายยังหาทางประนีประนอมร่วมกันไม่ได้ อาทิ การเข้าถึงเชื้อโรคที่ตรวจพบภายในประเทศหนึ่ง และการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งรวมถึงการกักตุนวัคซีนในกลุ่มประเทศร่ำรวย และประเด็นยุ่งยากซับซ้อนอีกนานัปการ เช่น การจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืน การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนของเชื้อโรค และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การเจรจาต้องยืดออกไป โดยที่ประชุมเห็นชอบยกมติไปหารือกันต่อในปีหน้า
อนึ่ง มีรายงานว่า สหรัฐและบางประเทศในทวีปยุโรป เตรียมบริจาควัคซีนของบาวาเรียน นอร์ดิก ให้แก่ดีอาร์คองโก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวบรรดาประเทศในแอฟริกาล้วนเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน ว่าทวีปแห่งนี้ต้องหาทางยืนหยัดด้วยตัวเอง จากภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขแบบนี้ให้ได้ ซึ่งหนึ่งในการดำเนินการเพื่อให้ไปสู่จุดนั้น คือการต้องมีโรงงานผลิตวัคซีนเป็นของตนเอง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES