“ทีมข่าวอาชญากรรม”เกาะติดกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวพ้นโทษ และการลดวันต้องโทษผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เข้าเงื่อนไขได้รับประโยชน์
ตัวอย่างคำนวณ“ลดวันต้องโทษ”เช็กประวัติ-อัตราโทษ-ลำดับชั้น-สิทธิลดตามพ.ร.ฎ. ก่อนเสนอศาลรับรองโทษจำคุกที่เหลือ…
การได้รับอภัยโทษเป็นการทั่วไป ในข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ 1 คน อาจไม่ได้ต้องโทษตามคำพิพากษาคดีเดียว ดังนั้น คดีที่ศาลตัดสินแล้วเท่านั้นถึงได้รับการพิจารณา ส่วนคดีระหว่างพิจารณาจะไม่ได้สิทธิ ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังนั้นต้องโทษตามคำพิพากษา 2 คดี ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 2 คดี ต้องได้รับสิทธิเหมือนกัน แต่เป็นขั้นตอนที่เรือนจำต้องทำทะเบียนประวัติตรวจสอบ(รท.102)
ยกตัวอย่าง นายเอ ต้องโทษจำคุก 4 คดี แปลว่าคดีของนายเอมีคำตัดสินของศาลแล้ว แต่ยังต้องไปตรวจสอบชั้นนักโทษ ระยะเวลาที่รับโทษมาแล้ว ทำให้ทั้ง 4 คดี อาจได้รับสิทธิประโยชน์“ไม่เท่ากัน” เช่น นักโทษ“ชั้นเยี่ยม” อาจได้รับสิทธิ 1 ใน 5 , นักโทษชั้น“ดีมาก” อาจได้รับ 1 ใน 6 เป็นต้น
ขณะที่นักโทษชั้น“ต้องปรับปรุง” และชั้น“ต้องปรับปรุงมาก”ไม่ได้รับสิทธิ เพราะปัจจุบันสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขังจะเริ่มที่“ชั้นกลาง”ขึ้นไป ประกอบกับรายละเอียดพ.ร.ฏ.แต่ละครั้งไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด
เมื่อตรวจสอบว่านายเออยู่ชั้นใด และรับโทษจำคุกมาแล้วเท่าใด สมมติเป็นนักโทษเด็ดขาด“ชั้นดี”ได้รับสิทธิลดโทษคดีนั้นๆ 1 ใน 7 เรือนจำต้องนำมาคำนวณ“ลดวันต้องโทษ”ที่เหลือว่าต้องจำคุกต่ออีกกี่ปี เพื่อทำเอกสารเสนอศาลให้ลงนามรับรองว่าเป็นผู้ได้รับอภัยโทษ
“ทีมข่าวอาชญากรรม”ตรวจสอบผู้ต้องขังชื่อดังที่ได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะบางคดี และคนที่ยังไม่เข้าเงื่อนไข ยกตัวอย่าง นายประสิทธิ เจียวก๊ก ผู้ต้องขังคดีฉ้อโกง 10 คดี ตามพ.ร.ฎ.ครั้งนี้ ได้ลดวันต้องโทษ 2 คดี อีก 8 คดี ไม่ตรงตามเกณฑ์อภัยโทษ
ส่วนนายอภิรักษ์ ชัชอานนท์ หรือ เสี่ยโป้ ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงิน คดีร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนฯ ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา เป็นต้น
หน่วยงานที่ต้องลงนามรับรองรับทราบการลดวันต้องโทษ และการปล่อยตัวพ้นโทษมี 3 หน่วยงาน คือ พนักงานอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาศาลจังหวัด กระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นใน 120 วัน จากนั้นเรือนจำจึงออก“ใบบริสุทธิ์” หรือ ใบสุทธิ (รท.25) สำหรับใช้แสดงตน ยืนยันเจ้าหน้าที่หากต้องเดินทางหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
ปล่อยอย่างรับผิดชอบ ประสานมาตรการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ เพื่อกลับคืนสังคมแบบไม่สร้างปัญหา…
โดยหลักการราชทัณฑ์ไม่ต้องการให้ผู้ต้องขังเสียสิทธิ เช่น เรือนจำ/ทัณฑสถานแห่งนั้นรู้ว่ามีผู้ต้องขังเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากการอภัยโทษจำนวนเท่าใดจะเสนอคณะกรรมการเป็นระยะ ลำดับแรกคือการตรวจสอบผู้ต้องขังที่เหลือโทษน้อย เช่น เหลือโทษจำคุก 2 ปี หรือ 1 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้ล้วนผ่านการรับโทษมาระยะหนึ่งแล้ว และมักได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ
อย่างไรก็ตาม ก่อนปล่อยกลับไปใช้ชีวิตในสังคม จะมีการประสานหน่วยงานพื้นที่ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตำรวจ นายอำเภอ เป็นต้น ให้รับทราบและเตรียมความพร้อมป้องกันเรื่องความปลอดภัย อาทิ การดักทำร้ายของโจทย์เก่า หรือคู่กรณี หรือญาติผู้เสีหาย และมีมาตรการเฝ้าระวังพฤติกรรมหลังพ้นโทษ
สำหรับกระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นใน 120 วัน นับแต่มีพ.ร.ฎ. เนื่องจากจะเป็นการเสียสิทธิ์ผู้ต้องขังหากมีการคุมขังเกินกำหนดโทษ ซึ่งจะทำให้กรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำ/ทัณฑสถาน ถูกฟ้องเพื่อขอการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการขาดอิสรภาพและรายได้ในระหว่างถูกคุมขังเกินกำหนดด้วย
ในทางปฏิบัติหลังมีพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ผู้บริหารเรือนจำ/ทัณฑสถาน จะมีขั้นตอนการเข้าไปแจ้งเรื่องให้ผู้ต้องขังทุกคนรับทราบ ในด้านหนึ่งถือเป็นความหวังให้ผู้ต้องขังที่รับโทษมาระยะหนึ่ง หรือเรียกว่าระยะปลอดภัย แม้เคยกระทำผิดเข้ามาอยู่ในเรือนจำ แต่ยังมีโอกาสได้รับการพระราชทานอภัยโทษ เฝ้ารอวันออกไปใช้ชีวิตภายนอก โดยระหว่างนั้นจำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ไม่ให้ผิดวินัยผู้ต้องขัง
สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อเลี้ยงการดำรงตนให้ผู้ต้องขังรู้ผิดชอบ-ชั่วดี และสำนึกในการกระทำความผิด เพื่อหากวันหนึ่งตนเองได้รับพระมหากรุณาธิคุณพ้นโทษออกไปแล้ว ก็จะไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน