ยังคงมีกรณีศึกษาน่าสนใจของ “เอสเอ็มอีไทยยุคใหม่” ที่เก็บตกจากเวที 7 Innovation Awards 2024 มาฝากกันในวันนี้ โดยเจ้าของกรณีศึกษาทั้ง 2 กรณีนี้ กรณีแรกเป็น “ธุรกิจน้ำมันหัวหอม” และอีกกรณีเป็น “สินค้าปลาแปรรูป”

สำหรับกรณีแรกเป็น “ผลิตภัณฑ์น้ำมันหัวหอม” ชื่อแบรนด์ “Oz-P” โดยเจ้าของแบรนด์ คือ ภญ.ชญานิษฐ์ ชูแข เล่าว่า แนวคิดสินค้าเกิดจากมองเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำหัวหอมมาทุบหรือบุให้แตก แล้วนำมาสูดดมหรือผสมน้ำอาบเพื่อบรรเทาอาการหวัดและคัดจมูก ที่มีขั้นตอนและต้องใช้วิธีการทำยุ่งยาก และมีความเลอะเทอะ จึงปิ๊งไอเดียจนสนใจที่จะศึกษาสมุนไพรไทยอย่างหัวหอม เพื่อสร้างสรรค์เป็น “นวัตกรรมแก้หวัดในเด็กเล็ก” เนื่องจากด้วยความที่เป็นเภสัชกรร้านขายยามาก่อน จึงเห็นผู้ปกครองมาหาซื้อยาบรรเทาอาการคัดจมูกให้ลูก แต่การใช้ยาลดน้ำมูกในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจเกิดผลข้างเคียง จึงหานวัตกรรมอื่นมาช่วยแก้ปัญหานี้ แล้วก็พบว่าหัวหอมมีสารเควอซิตินสูง โดยสารนี้มีคุณสมบัติช่วยลดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและอาการภูมิแพ้ จึงนำเทคนิคสกัดเควอซิตินโดยคลื่นความร้อนไมโครเวฟมาสกัดสารออกจากหัวหอม 3 ชนิด คือ หอมแดง หอมแขก หอมใหญ่ แล้วผสมกับน้ำมันหอมระเหย เช่น เปปเปอร์มินต์ ลาเวนเดอร์ โรสแมร์รี่ เพื่อลดน้ำมูกและช่วยให้หายใจสะดวก พร้อมดับกลิ่นฉุนของหัวหอม โดยแบรนด์ได้รับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรทั้งภาคเหนือและอีสาน เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่าย 2 ขนาดคือ 5 และ 30 มิลลิลิตร ในร้านขายยา และเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายไว้กว่า 10 ล้านบาท จากช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์ รวมถึงเตรียมส่งออกไปตะวันออกกลางด้วย

ภญ.ชญานิษฐ์ ชูแข
อติวิชญ์ สุขทอง

ขณะที่อีกกรณีคือ แบรนด์ “ซันฟินิช” ของ อติวิชญ์ สุขทอง ที่เป็นเอสเอ็มอีท้องถิ่นของ จ.พัทลุง “ปลาแผ่นข้าวสังข์หยด” ที่มีจุดเด่นในการอัปเกรดภูมิปัญญาพื้นบ้านการแปรรรูปปลา ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ยกระดับให้สินค้าเพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยผู้ประกอบการรายนี้เล่าว่า การแปรรูปสินค้าขนมส่วนใหญ่มักต้องใช้แป้งมันและการทอด ทำให้คนรักสุขภาพอาจไม่ปลื้มสินค้าที่ผ่านการแปรรูปด้วยวิธีนี้ จึงคิดหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ และเพื่อยกระดับให้สินค้าขึ้นชื่อของท้องถิ่น โดยวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการแปรรูป คือปลาทรายแดง ที่นำมาผ่านเทคโนโลยีเพื่อทำการเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนจากเนื้อปลาให้ยึดจับกันเองได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้แป้งมัน กับเลือกใช้วิธีควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และอบแห้งด้วยตู้อบพาราโบลาโดมแทนการทอด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับโปรตีนจากเนื้อปลา อร่อย และได้รับคุณค่าโภชนาการเต็มที่โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการคนเดิมระบุ และนี่เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับภูมิปัญญาเพื่อ “อัปเกรดสินค้าท้องถิ่น” จนเกิดเป็น “สินค้านวัตกรรม” ได้อย่างน่าสนใจ ที่เอสเอ็มอีที่ทำสินค้าจากภูมิปัญญาศึกษาปรับใช้ได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]