แต่จะมีสักกี่คนที่เอะใจว่าเราควรป้องกันการติดโรค ที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือไม่ แล้วโรคที่ระบาดและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตของประเทศไทยก็หนีคงไม่พ้นโรคพิษสุนัขบ้า

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดต่อสู่คนที่อันตรายถึงชีวิต ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หาย แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง (แม้จะไม่ได้ผลเต็ม 100% ก็ตาม แต่ก็ลดความเสี่ยงได้เยอะมาก) สุนัขและแมวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากถูกสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ก็ยังต้องฉีดยาซ้ำ เพียงแต่จำนวนครั้งที่ต้องฉีดจะน้อยกว่ากรณีที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

หากสุนัขที่กัดเป็นสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ ความวิตกเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าอาจจะไม่มากเท่าไหร่ เพราะเจ้าของสัตว์มักจะพาไปฉีดวัคซีน หากฉีดวัคซีนคุณภาพดี โดยสัตวแพทย์ที่น่าเชื่อถือ และแน่ใจว่าวัคซีนดังกล่าวได้รับการขนส่งรวมทั้งเก็บรักษาอย่างดี จนแน่ใจแล้วว่ายาไม่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ เมื่อมีแผลถลอกไม่ลึกมากมายจากสัตว์เลี้ยงของตัวเองก็ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แค่ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ถูสบู่หลายครั้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ อาทิ ทิงเจอร์ไอโอดีน เบตาดีน ก็พอแล้ว หากบาดแผลที่เป็นหลุมลึก ปากแผลแคบควรจะไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันบาดทะยัก

แล้วถ้าเกิดเราโดนสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่ไม่ทราบที่มากัด สิ่งที่หลายคนกังวลกันก็คือ สุนัขหรือแมวตัวนั้นจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือเปล่า สุนัขตัวนั้นจะมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ แผลเป็นรอยข่วนแค่ถลอกไม่ลึก จะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ไหม ผศ.นสพ.ดร.ทิลดิสร์ แนะนำหลักการง่าย ๆ 4 ข้อคือ “ล้างแผล-ใส่ยา-กักหมา-หาหมอ”

เมื่อมาตีความอย่างละเอียดคือ 1. การล้างแผล ต้องล้างให้สะอาดทันที ด้วยน้ำสะอาด และสบู่หลาย ๆ ครั้ง จากนั้นล้างซ้ำด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ 2. ใส่ยาฆ่าเชื้อในกลุ่มไอโอดีน เช่น ทิงเจอร์ หรือโพรวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) 3. กักหมา สังเกตอาการและกักบริเวณสัตว์ที่กัดเราไว้ประมาณ 10-14 วัน ต้องมีอาหารและน้ำให้กินตามปกติด้วยนะครับ เพราะถ้าสัตว์ที่กัดเรานั้นตาย จะได้มั่นใจว่าสัตว์ไม่ได้ตายเพราะอดอาหาร หรือถูกทำร้ายจนตาย ถ้าสัตว์ตายในช่วงที่กักบริเวณไว้ ให้เอาซากไปส่งตรวจโดยด่วน ขั้นตอนคือใส่ถุงพลาสติกชั้นหนึ่ง แล้วเอาถุงนั้นแช่น้ำแข็งอีกชั้นหนึ่ง (ต้องระวังไม่ให้มือเราเปื้อนน้ำลายสัตว์ด้วย) และนำไปสถานบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กรมปศุสัตว์ โรงพยาบาลศิริราช สถานชันสูตรโรคสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น 4. หาหมอรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รวมถึงได้รับยาตามอาการ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น จะมีการฉีด 2 แบบ คือ การฉีดวัคซีนชนิดก่อนได้รับเชื้อ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน (Pre-exposure) มักจะเป็นการฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะต้องปฏิบัติการหรือคลุกคลีกับสัตว์บ่อย ๆ เช่น สัตวแพทย์ นิสิตสัตวแพทย์ และบุคลากรทางการสัตวแพทย์ รวมถึงช่างตัดขน และผู้ดูแลฟาร์มสุนัข/แมวด้วย ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดหลังได้รับเชื้อ (Post-exposure) เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเป็นชุดหลังการได้รับเชื้อ หรือคาดว่าจะได้รับเชื้อไปแล้ว ในกรณีผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน คุณหมอจะต้องนัดมาฉีดกระตุ้นวัคซีนหลายครั้ง โปรแกรมวัคซีนในคนที่ใช้กัน (หลังถูกกัด) นั้น โดยปกติแล้ว ใน 1 คอร์สจะ
มี 5 เข็ม โดยฉีดวันที่ 0 (วันที่ถูกกัด), วันที่ 3, วันที่ 7, วันที่ 14 และวันที่ 28 (ของการโดนกัด) อาจฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal) หรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ตามแต่แพทย์เห็นสมควร แต่ถ้าเคยได้รับการฉีดวัคซีน (ชนิดก่อนได้รับเชื้อ) มาแล้ว จำนวนครั้งที่ฉีดก็จะลดลงไป เหลือ 1-2 เข็มตามระยะเวลา-ความห่างที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว

ส่วนการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้โดยพาสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่อายุ 3 เดือน และฉีดกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปี (ปีละครั้ง) พึงระลึกเสมอว่า ลูกสุนัขก็มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ และการฉีดวัคซีนก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เท่านั้น อย่าปล่อยให้เด็กเล็กเล่นกับสุนัขหรือแมวที่ไม่คุ้นเคยตามลำพัง รวมถึงควบคุมไม่ให้แกล้งหรือรบกวนสัตว์ เพราะมีความเสี่ยงต่อการโดนงับสูง ไม่คลุกคลีกับสัตว์นอกบ้าน เลี่ยงการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่