เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ให้อย่างน่าทึ่ง กับ “ข้าวเปิ๊บ” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง” อาหารพื้นถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่อยากจะกินก๋วยเตี๋ยวจากบ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลนี้มาเสนอ เพราะนอกจากมีเอกลักษณ์และความอร่อยที่ไม่เหมือนใครแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถทำขายเป็นอาชีพได้สบาย…

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่อง “ข้าวเปิ๊บ” คือ ป้าจอม-จอม แก้วคต เหรัญญิกกลุ่มทอผ้าและโฮมสเตย์ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิก 206 คน เดิมนั้นชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกร เสร็จจากทำไร่ทำนาก็ว่าง จึงมีการรวมตัวกันทำอาชีพเสริมจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า เพื่อให้ผ้าที่ทางกลุ่มทอมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงนำผ้ามาหมักกับโคลน กรรมวิธีการย้อมผ้าแบบโบราณที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ออกขายซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะเปิดโฮมสเตย์ขึ้น

เปิดโฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนบ้านนาต้นจั่นจริง ๆ จึงได้ทำเมนูเด็ด ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นโบราณ คือข้าวเปิ๊บ ให้แขกที่มาพักได้ลองชิมดู และมีการปรุงโชว์สด ๆ ให้ดู พร้อมบอกเล่าความเป็นมาของเมนูชนิดนี้ และที่มาของชื่อเมนู คือการพับแป้งไปมาเรียกว่าเปิ๊บ หากนักท่องเที่ยวหรือแขกคนไหนสนใจอยากลองทำดู ทางกลุ่มฯ ก็จัดให้ทำ ซึ่งกระแสตอบรับแรงมาก เพราะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณที่คนกำลังเสาะหา จึงมีการติดต่อให้ไปออกงาน จนปัจจุบันมีการไปออกงานต่าง ๆ ทั้งบูทงานโอทอป, งานการท่องเที่ยว และงานประจำจังหวัด”

อุปกรณ์ ที่ใช้ในการทำขายก็มี…หม้อดินหรือหม้อแขกอะลูมิเนียม มีฝาครอบไม้ไผ่สาน (หม้อที่ใช้ทำข้าวเกรียบปากหม้อ), ผ้าขาวบางหรือผ้าขาวเทโร, เชือก, ทัพพีกลม, เตาแก๊ส, ไม้พายสำหรับปาด, มีด, เขียง, หม้อสเตนเลส, กะละมัง, ตะแกรง, ถาด, ทัพพี เครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ หยิบยืมเอาจากในครัวได้

วัตถุดิบ ที่ใช้ในการทำ…แป้งข้าวเจ้า, ไข่ไก่สด, ผักสดต่าง ๆ เช่น กะหลํ่าปลี, ผักบุ้ง, ถั่วงอก, วุ้นเส้น, ต้นหอม, ผักชี, เนื้อหมูสับ, กระเทียมเจียว, แคบหมูไร้มัน, เกลือ และนํ้าสะอาด

สูตรนํ้าซุปกระดูกหมู เริ่มจากล้างกระดูกหมูเอียเล้งและคาตั๊งมารวม 4 กิโลกรัม ให้สะอาด ใส่ลงในหม้อที่บรรจุนํ้า 40 ถ้วย, หัวไชเท้าล้างสะอาด 6 หัว ปอกเปลือกหั่นเป็นแว่นหนาประมาณ 2 นิ้ว ใส่ลงในหม้อนํ้า ตามด้วยรากผักชีทุบ15 ราก, กระเทียมทุบ 1 กำมือ, พริกไทยเม็ดบุพอแตก 3 ช้อนโต๊ะ ยกขึ้นตั้งไฟกลาง พอนํ้าเริ่มเดือดลดไฟอ่อนลง ช้อนฟองทิ้ง ปรุงรสชาติด้วยเกลือแกง 5 ช้อนโต๊ะ, ซีอิ๊วขาว 6 ช้อนโต๊ะ, นํ้าตาลกรวด 1/2 ถ้วย ต้มเคี่ยวไปเรื่อย ๆ ด้วยไฟอ่อนจนนํ้าซุปส่งกลิ่นหอม ชิมรสชาติกลมกล่อมกำลังดีก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นตั้งไฟอ่อน ๆ อุ่นเตรียมไว้

ขั้นตอนการทำ “ข้าวเปิ๊บ”

เริ่มจากทำแป้งข้าวเปิ๊บก่อน นำผสมแป้งข้าวเจ้ากับนํ้า คนละลายให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งพักไว้ ต่อไปก็เตรียมส่วนผสมอื่น ๆ ให้พร้อม เช่น ผักสดล้างสะอาด หั่นตามขนาดที่ต้องการ, วุ้นเส้นแช่นํ้าแล้วตัดให้สั้น ๆ, หมูสับมาปั้นเป็นก้อน ๆ ขนาดเท่าไข่เป็ดลงต้มในหม้อให้สุก ตักขึ้นมาแล้วยีก้อนหมูสับเตรียมไว้ แคบหมูตัดให้เป็นชิ้น ๆ ขนาด 3 ซม. เตรียมไว้ หั่นผักโรย (ต้นหอม-ผักชี) เตรียมไว้

เตรียมหม้อนึ่งให้พร้อม (ประมาณ 3-4 เตา) ใส่นํ้าให้เลยครึ่งหม้อ เอาผ้าขาวมาขึงปากหม้อ รัดเชือกให้แน่น ดึงให้ตึง เจาะรูที่ผ้าด้านหนึ่งเพื่อให้ไอนํ้าระบายออก ยกขึ้นตั้งไฟ พอนํ้าเดือดจัด ให้หรี่ไฟลง ทำไข่ดาวนึ่งก่อน โดยนำไข่ 2-3 ฟอง มาตอกวางลงบนผ้าขาวบางขึงปิดฝา รอไข่สุก ตักขึ้นเตรียมไว้

ตัวข้าวเปิ๊บ ตักแป้งมาละเลงบนผ้าขาวบางอีกหม้อ (ให้ทั่วเสมอกัน) ปิดฝารอแป้งสุก ใส่วุ้นเส้น ตามด้วยผักบุ้งหั่นท่อน, ผักกะหลํ่าปลีซอยและถั่วงอกลงบนแผ่นแป้ง ปิดฝาสักครู่ พอผักสุก ใช้ไม้พายปาดแป้งพับไปพับมาปิดผักให้มิด (ทำเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อ) เสร็จแล้วตักใส่ชามพักไว้

เวลาจัดเสิร์ฟ เอาไข่ดาวนึ่งโปะลงบนตัวข้าวเปิ๊บ ใส่ตามด้วยหมูสับ แคบหมูไร้มัน กระเทียมเจียว โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีหั่น ตักนํ้าซุปกระดูกหมูใส่ตบท้าย เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวเปิ๊บร้อน ๆ รับประทานแล้ว (หากต้องการกินข้าวเปิ๊บแบบแห้ง ก็ไม่ต้องใส่นํ้าซุป) ส่วนเครื่องปรุงรสชาติก็เหมือนกับชุดก๋วยเตี๋ยวทั่วไป มี นํ้าตาล นํ้าปลา พริกนํ้าส้ม และพริกป่น

ราคาขายข้าวเปิ๊บ ชามละ 40 บาท!!

ข้าวเปิ๊บ” อาหารพื้นถิ่นบ้าน ๆ ที่ทำง่าย หากทำขายก็สร้างมูลค่าได้อย่างน่าทึ่ง ใครสนใจก็ลองฝึกลองทำกันดู ข้าวเปิ๊บเจ้านี้ออกร้านขายตามงานโอทอป, งานท่องเที่ยวไทย และงานประจำจังหวัด ทั้งนี้ ใครมีโอกาสไปเที่ยวที่สุโขทัย อย่าลืมแวะเวียนไปที่กลุ่มทอผ้าและโฮมสเตย์ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อชมผลิตภัณฑ์ผ้าหมักโคลนและชิมข้าวเปิ๊บ อาหารพื้นถิ่นโบราณ

ขายอาหารที่ “ชูภูมิปัญญาชาวบ้าน” ดึงลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ…

คู่มือลงทุน…ข้าวเปิ๊บ
ทุนอุปกรณ์ ปะมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคา
รายได้ ราคา 40 บาท / ชาม
แรงงาน ตั้งแต่ 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดนํ้า, ชุมชน, ตลาดนัด
จุดน่าสนใจ อาหารพื้นถิ่นทำเงินสร้างอาชีพ

………………..
เชาวลี ชุมขำ

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่