“ผู้เล่น” ในสนามก็ไม่ใช่จะรู้หมด ยิ่งถ้าอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แล้ว บอกว่า “การกระทำที่มีการหาเสียงแก้ไข ม.112 ปล่อยกลุ่มทะลุวังขึ้นไปแปะสติ๊กเกอร์ยกเลิก ม.112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 จึงให้ยกเลิก” ก็เห็นว่า “ศาลน่าจะมีคำสั่งให้ยกเลิกพฤติกรรมได้” ไม่ถึงกับต้องยุบพรรค ..แต่สุดท้าย ที่วิเคราะห์กันมา ก็ผิดหมด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

สิ่งที่องค์คณะตุลาการให้เหตุผลคือ “การหาเสียงแก้ไข ม.112 เป็นการดึงสถาบันให้ลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง” ซึ่งเอาจริงเรื่อง ม.112 นี่มันก็มีข้อถกเถียงกันมาก โดยเฉพาะมันเป็นกฎหมายที่ใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้ ทำให้การบังคับใช้ยิ่งต้องละเอียดอ่อน หากมีการเสนอแก้ ก็ควรเป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยให้อภิปรายกันในสภา ..และในทางกลับกัน หากมีบางพรรคการเมืองหาเสียงโดยเอาเรื่องความจงรักภักดีมาอ้าง แล้วชี้หน้าขั้วตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดี พวกเหล่านี้จะมีบทลงโทษไหม ว่า “ก็ดึงสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง” อย่าอ้างความจงรักภักดี เพราะในการเมือง จะเข้ามาก็ต้องหวังอรรถประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว

ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ม.112 ล้มล้างการปกครอง |  เดลินิวส์

กระบวนการเสนอกฎหมายเข้าสภา เป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเห็นว่า ฝ่ายตุลาการไม่ควรระงับยับยั้ง หากเกิดความเสียหายจากการใช้กฎหมายก็เสนอร่างแก้ไข ..อีกทั้งการตัดสินยุบพรรคก็พูดกันมาตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย ว่า “เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชน” ซึ่งคนเขียนรัฐธรรมนูญชุดนี้คือกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็อยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนมากขึ้น จึงมีระบบการทำไพรมารี่โหวต สมาชิกพรรคมีส่วนเลือกผู้สมัคร สส.เขต และมีระบบจ่ายค่าสมาชิกพรรค เพื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของ การระดมทุนเข้าพรรคยังกำหนดวงเงินบริจาคเพื่อป้องกันการที่นายทุนทุ่มเงินบริจาคเพื่อควบคุมพรรค

สส.พรรคก้าวไกล 44 คน จะโดนถอดถอน –ตัดสิทธิ์หรือไม่ นาทีนี้ไม่อยากทำนายอะไร แต่ยังเชื่อว่า “เมื่อเขาทำหน้าที่นิติบัญญัติแบบเข้าตามตรอกออกตามประตู เสนอกฎหมายตามขั้นตอน ก็ไม่ควรจะต้องถูกศาลฎีกาตัดสิทธิ์ทางการเมือง” ซึ่งถึงเชื่อไป มุมมองเราๆ เองก็ยังต่างจากผู้ตัดสิน ก็ต้องรอผลอย่างเดียว ว่า “จะถึงตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีพหรือไม่” แบบที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าโดน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุไปหน่อย เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ครย.นัดชุมนุมใหญ่31ตุลา ล่าหมื่นรายชื่อยกเลิก112พร้อมบิ๊กเซอร์ไพร้ส์ |  เดลินิวส์

เรามาว่ากันด้วย ม.112 ความว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งเป็นโทษอาญาที่รุนแรง เพราะจำคุกถึง 15 ปี แล้วถ้าเกิดคนหนึ่งโดนหลายกรรมก็ทบกันไปถึงร้อยปี แต่ที่ระวางโทษรุนแรง เพราะทางวัฒนธรรมการเมืองไทย วางสถาบันฯ ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้ การล่วงละเมิดจะทำให้เกิดความไม่สบายใจในกลุ่มคนที่จงรักภักดี และนำไปสู่ความวุ่นวาย

พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ( และจะต่อไปด้วยพรรคประชาชน ) เห็นว่า การกำหนดโทษรุนแรงเกินไป ควรแยกข้อหาเป็น “หมิ่นประมาท” “ดูหมิ่น” “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” ที่มีอัตราโทษต่างกัน โดยพรรคก้าวไกลเสนอเป็น 1 ใน 300 นโยบายที่เสนอในการเลือกตั้งปี 2566 มีข้อเสนอคือ “ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยลดโทษให้เหลือเพียง ในกรณีหมิ่นพระมหากษัตริย์ ลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ก้าวไกล'หวังศาลรัฐธรรมนูญต่อเวลาส่งคำชี้แจงคดียุบพรรครอบ 2 อีก 30 วัน |  เดลินิวส์

ในกรณีหมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ลดโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยจะถูกลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคง และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา”

เมื่ออ่านตัวร่างที่แก้ไข ก็มีความรู้สึกหลากหลายอาทิ “การปรับย้ายโทษหมิ่นสถาบันออกจากหมวดความมั่นคง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา” มันทำได้ยาก เพราะอย่างที่บอกคือ วัฒนธรรมของรัฐไทยจะไม่ยอมในเรื่องนี้ เราถูกสร้างสมอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ ความเป็นศูนย์รวมจิตใจ  ความจงรักภักดีผ่านระบอบการศึกษาและสื่อมานาน คนไทยมีธาตุกตัญญู เราได้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาโครงการหลวงมากมาย ( ซึ่งเด็กรุ่นหลังๆ อาจไม่ค่อยทันได้เห็นพระราชกรณียกิจอย่างเช่น เรื่องแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าภาคเหนือโดยแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย )  สถาบันทำเพื่อแผ่นดินมาอย่างยาวนาน ..ความเป็นสถาบันหลักของชาตินี้เองทำให้การใช้มาตรฐานเหตุเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่ไม่สมควรนัก    

พิธา' แถลง 9 ข้อ ต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ชี้ ศาลรธน.ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี |  เดลินิวส์

ไม่สมควรเพราะจะมีพวกเกรียนแตกที่ “พูดจาสร้างความเสียหายให้สถาบันไปแล้ว” แต่ตะแบงว่า วิจารณ์โดยสุจริตและพูดความจริง ซึ่งหลายทีที่ “ความจริง” ที่ว่า ไปฟังใครมาไม่รู้หรือมโนเอง แล้วก็ไปหาเรื่องเผยแพร่ความอันไม่สมควรจนอาจคุมความเสียหายไม่ได้ ตรงนี้ผู้เสนอแก้กฎหมายต้องคิดหาวิธีป้องกันด้วย  

…อย่างไรก็ตาม คนที่เขาจงรักภักดีจริงๆ ก็จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาคืออีพวกใช้กฎหมายตัวนี้ล่าแม่มด ก็น่าจะมีการให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดูข้อกล่าวหาก่อน ถ้าไม่เข้าข่ายผิด 112 ก็ให้ฟ้องกลับคนฟ้องเอาเข้าตะรางซะบ้างจะได้หลาบจำ ถือว่าเป็น “กฎหมายป้องกันการล่าแม่มด” โดยเฉพาะพวก “คนดีย์” ทั้งหลายที่เฝ้าคอยจับผิดจับถูกว่าใครพาดพิงอะไรสถาบัน คนพวกนี้แหละที่ดึงสถาบันลงมาสร้างความมัวหมองของจริง

สิ่งที่ทำยากอีกอย่างสำหรับการแก้กฎหมายตามพรรคก้าวไกล คือ “คุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” กระบวนการพิจารณาจะยาวนานมาก เพราะต้องมีการตีความ และหากมีการเผยแพร่ซ้ำถึงข้อความ ให้สถาบันยิ่งมัวหมองยิ่งขึ้น กระบวนการอาจต้องทำทางลับ ระหว่างนั้นจะทำอย่างไรกับผู้ต้องคดี เพราะถ้าให้ประกันตัวออกมาก็มีโอกาสอ้างลี้ภัยทางการเมือง แล้วก็ทำพฤติกรรมแบบเดิมในต่างประเทศ เช่นตาแก่หัวขาวที่ปากดีทางเฟซบุ๊กอยู่ที่ฝรั่งเศส ( หลายคนเชื่อว่าแกไม่ได้โพสต์เอง อาจมีทีม เพราะวิธีการโพสต์หลุดจากความเป็นนักวิชาการไปมากโขแล้ว ) การตรวจสอบต้องดูทั้งเนื้อหาสารที่เสนอ และต้องสอบแนวความคิดของผู้แสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจมีคณะกรรมการกลั่นกรองคณะหนึ่ง ( เห็นพูดกันตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ทราบตั้งหรือยัง ) แล้วเสนอส่งอัยการ ไม่ต้องให้สำนักพระราชวังฟ้อง เพราะก็เข้าข่ายดึงสถาบันเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง

ถ้าพรรคประชาชนยืนยันจะแก้ ม.112 ก็ถือว่า เป็นสิทธิในทางนิติบัญญัติ แต่ต้องพิจารณาถึงจิตใจคนที่รักสถาบันด้วย และต้องคิดว่า “การวิจารณ์ได้มีผลดีผลเสียอย่างไร” แต่เสียดายที่การเปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็นเรื่องผลดีผลเสียนี้ กลายเป็นความสุ่มเสี่ยงไปเสีย พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดก็เห็นจะมีแค่ในกระบวนการนิติบัญญัติ อย่างไรเราก็ต้องไว้ใจ “ท่านผู้ทรงเกียรติ”ทั้งหลายถึงวุฒิภาวะในการพูดถึงสถาบัน ถือว่ามาเป็นผู้แทนได้แล้วก็ควรรู้อะไรถูกอะไรควร

มี “ผู้รู้” บางคน ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะสอย สส.พรรคก้าวไกล 44 คนก็คงเป็นเพราะเรื่องเนื้อหาที่จะแก้นั่นแหละ เพราะดูๆ จะเป็นการ “ลดความคุ้มครอง” สถาบัน นัยยะสำคัญคือการปรับออกจากหมวดความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่า “ไม่มีใครรู้นอกจากวันนั้นมาถึง” ว่า สส.พวกนี้ที่สุดแล้วจะโดนตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือไม่.. แต่กระบวนการ “สอย” สส.ของพรรคประชาชน ส่วนหนึ่งอาจเอามูลฐานความผิดเกี่ยวกับ ม.112 จัดการบางคนที่ติดคดีนี้ เช่น  น.ส.รักชนก ศรีนอก นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี คือถ้าติดตะรางเมื่อไรพ้นสภาพทันที  

และอาจมีการยื่นร้องให้พิจารณาจริยธรรม สส.กลุ่มที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาคดี ม.112 และ “ปล่อยให้หลบหนี” เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ซึ่งตอนนี้หายไปแล้ว …เรื่องก็ไปจบที่ศาลฎีกาเช่นกัน สส.กลุ่มนี้ อาทิ นายรังสิมันต์ โรม , นายทองแดง เบ็ญจะปัก , น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา , นายธีรัจชัย พันธุมาศ , น.ส.เบญจา แสงจันทร์  

“แสงสว่างปลายอุโมงค์” ก็ยังพอมีบ้าง เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ก็คงยากเพราะพรรคร่วมรัฐบาลเขาไม่เอาด้วยกับคดี ม.112 แนวๆ ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นคดีหมิ่นประมาทที่กระทบความรู้สึกของประชาชน ..หรือไม่ก็ต้องรอดูการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเพิ่มบทเฉพาะกาลที่ช่วยกลุ่ม สส.ที่ถูกตัดสิทธิ์หรือไม่

ที่สุดแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คำตอบเดิม มีแต่เวลาที่จะรู้.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่