สถานการณ์ “ประชากร” นับวันยิ่งมี “ประเด็นท้าทายใหม่ ๆ“ ซึ่งกับไทยนอกจากมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำจนได้ยินคำว่า “นำเข้าประชากร” ที่ไทยอาจต้องทำแล้ว…กับคำว่า “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น (Sandwich Generation)“ นี่ก็น่าคิด??… ทั้งนี้ “ศัพท์ประชากร ศาสตร์” คำว่า “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” ปรากฏชัดขึ้นหลัง “ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ“ โดยที่ประชากรวัยทำงานลดลง สวนทางกับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชากรกลุ่มที่ต้อง “ดูแลครอบครัวแบบอยู่ตรงกลาง“ คือทั้งดูแลพ่อแม่สูงอายุ พร้อมกับดูแลลูก ๆ “มีมากขึ้น–แบกรับหน้าที่หนักขึ้น“…
ตกอยู่ในสภาพ “ประชากรตรงกลาง“
จึงถูกเรียกว่า “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น“
เกิดขึ้นทั่วโลก และ “รวมถึงในไทย“
และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูประเด็นประชากร หรือ “ศัพท์ประชากรศาสตร์” คำนี้… ซึ่งกับคำอธิบายนั้นก็มีข้อมูลใน รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2567 ที่จัดทำเผยแพร่โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุถึง “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น (Sandwich Generation)” ไว้ว่า…เป็นอีก สถานการณ์สำคัญทางสังคม ที่เกิดขึ้น ที่ควรมีแนวทางสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยลดภาระที่เกิดกับ “ครัวเรือนแซนด์วิช“ โดยในรายงานดังกล่าวยังมีการระบุไว้ว่า… ศัพท์นี้มักจะมีการนำมาใช้เรียก “ประชากรครัวเรือน” ที่ต้อง “อยู่ตรงกลางของครอบครัว“
มีหน้าที่ “รับผิดชอบคนหลายรุ่น“…
ที่อาศัยอยู่ภายในครอบครัวร่วมกัน
ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้อธิบายขยายความถึงประชากรตรงกลางในครัวเรือนกลุ่มนี้ หรือ “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” โดยแจกแจงไว้ว่า… จากผลการศึกษา กลุ่มประชากร “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” สหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า… มีประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องดูแลผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป พร้อมกับต้องดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ ประชากรกลุ่มนี้มีแนวโน้มประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของประชากรทั่วไป รวมไปถึงประชากรกลุ่มนี้ยัง มีแนวโน้มเกิดปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าประชากรทั่วไปที่ดูแลแค่ผู้สูงอายุ หรือเด็กอย่างเดียว…นี่เป็นผลการศึกษาถึง “ผลกระทบที่เกิดขึ้น“กับประชากรกลุ่มนี้ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่อื่นก็คงไม่ต่าง
ขณะที่ กลุ่มประชากร “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” ไทย นั้น ในรายงานดังกล่าวระบุว่า… ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในประชากรกลุ่มนี้ของไทยมากนัก แต่หากพิจารณาจากบริบทสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว ในฐานะสถาบันหลักของสังคม ที่มีแนวคิดและธรรมเนียมปฏิบัติที่ ต้องดูแลคนหลากหลายรุ่นในครอบครัว ก็อาจจะเป็นไปได้หรือมีแนวโน้มว่า…
ไทยน่าจะมีแซนด์วิชเจเนอเรชั่นมาก!!
ในรายงานยังอธิบายเกี่ยวกับ “ลักษณะครัวเรือนไทย” ไว้ว่าประกอบด้วย 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่… ลักษณะที่หนึ่งเป็น
“ครัวเรือนคนเดียว” ลักษณะที่สองเป็น “ครัวเรือนเดี่ยว” หรือครัวเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 2 รุ่น และลักษณะที่สามคือ
“ครัวเรือนขยาย” ที่มีสมาชิกในครอบครัว 3 รุ่นขึ้นไป โดยครัวเรือนไทยที่เป็นลักษณะ “ครัวเรือนขยาย“ ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวเป็นคน 3 เจเนอเรชั่นขึ้นไป ลักษณะนี้อาจมีความใกล้เคียง “ครัวเรือนแซนด์วิช“มากที่สุด
ทั้งนี้ จาก ผลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็เคยมีการคาดประมาณไว้ว่า… ประเทศไทยน่าจะมี “ครัวเรือนแซนด์วิช“ อยู่ราว 3.4 ล้านครัวเรือน!!ซึ่งถือเป็นตัวเลขจำนวนที่ไม่น้อย และสิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ หากไทยมีแนวโน้มครัวเรือนแซนด์วิชเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง…จะก่อเกิดผลเช่นไรบ้าง? ซึ่งโฟกัสสิ่งที่ “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น“ จะได้รับผลกระทบ ก็มีการประเมินไว้ว่า… น่าจะประกอบไปด้วยผลกระทบต่าง ๆ ดังนี้…
“ผลกระทบจากความเปราะบางทางการเงิน“ ครัวเรือนแซนด์วิชที่มีแซนด์วิชเจเนอเรชั่น จะ ประสบปัญหาภาวะทางการเงินสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป จากการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลทั้งผู้สูงอายุ ประชากรวัยเด็ก ที่ต่างก็เป็นผู้พึ่งพิง และ “ผลกระทบทางสุขภาพ“ ที่มีปัจจัยจากปัญหาความ เครียด จนกระทบสุขภาพ อีกทั้ง แซนด์วิชเจเนอเรชั่นมีแนวโน้มสูงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ ความดันโลหิต โรคหัวใจ ไขมันในเส้นเลือด และมะเร็ง เพราะไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง …นี่เป็น “สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ“ ของ “ประชากรตรงกลาง“ ในครัวเรือนแซนด์วิช
อย่างไรก็ดี ในรายงานภาวะสังคมไทย โดย สศช. ได้มีการแนะ “แนวทางลดปัญหา” ให้กลุ่ม “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” ใน “ครัวเรือนแซนด์วิช” มีการเสนอแนะทั้งครัวเรือน และภาครัฐ ไว้ดังนี้คือ… “เพิ่มทักษะทางการเงินก่อนวัยเกษียณ” ทั้งความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน, “ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ” เพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลรับผิดชอบของแซนด์วิชเจเนอเรชั่น, “สนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ใช้บริการผู้ช่วยดูแล” รวมถึง “สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้” เพื่อการดูแลสมาชิกในครัวเรือน และ “ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ” โดยภาครัฐ ซึ่งจะกระตุ้นให้ธุรกิจด้านนี้ขยายตัวด้วย
ก็เอาใจช่วย “ครัวเรือนแซนด์วิชไทย“
ส่งกำลังใจให้ “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น“
ขอให้ “ไม่เป็นระเบิดสังคมลูกใหม่!!“.