หอศิลป์ออนไลน์ดังกล่าว เป็นแนวหน้าของหน่วยข่าวกรองรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซับซ้อนสำหรับสายลับ ที่ได้รับการฝึกฝนให้ปลอมตัวเป็นชาวอาร์เจนตินา, ชาวบราซิล และชาวต่างชาติอื่น ๆ โดยสำนักข่าวกรองต่างประเทศรัสเซีย (เอสวีอาร์) และแฝงตัวอยู่ทั่วทวีปยุโรป

อนึ่ง รัสเซีย และสหภาพโซเวียตในอดีต มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับการลงทุนอย่างหนักในกลุ่มที่เรียกว่า “ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” หรือสายลับที่แฝงตัวอยู่ในประเทศเป้าหมายเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งแตกต่างจาก “สายลับถูกกฎหมาย” ที่ปฏิบัติการภายใต้การปกปิดทางการทูตในสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย เนื่องจากสายลับผิดกฎหมายเหล่านี้ ไม่มีสิทธิได้รับการคุ้มกันจากถูกดำเนินคดี, ไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนกับรัสเซีย และสืบหาตัวได้ยากมาก

เจ้าของหอศิลป์ออนไลน์ในสโลวีเนีย ซึ่งมีชื่อจริงว่า นางอันนา ดุลต์เซวา ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ในการปลอมตัวเป็นชาวอาร์เจนตินาที่มีชื่อว่า น.ส.มาเรีย โรซา เมเยอร์ มูนอส แม้แต่บุตรสองคนของเธอ ก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย จนกระทั่งพวกเขาเดินทางไปยังกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างรัสเซียและสหรัฐ

ดุลต์เซวา และนายอาเต็ม ดุลต์เซฟ สามีของเธอ ถูกจับกุมในเดือน ธ.ค. 2565 เมื่อทางการสโลวีเนีย บุกค้นบ้านของพวกเขาในเขตเชอร์นูช ที่ชานกรุงลูบลิยานา หลังได้รับแจ้งเบาะแสจากหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ และคอยติดตามคู่รักคู่นี้มานานหลายเดือน ซึ่งทั้งสองคนถูกจับคาหนังคาเขา ขณะสื่อสารกับรัฐบาลมอสโก โดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่หลีกเลี่ยงการติดต่อทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ เพื่อนบ้านของดุลต์เซวา ต่างกล่าวว่า ครอบครัวของเธอเก็บตัวเงียบ และแทบไม่มีแขกมาเยี่ยมเยียน แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่เคยก่อปัญหาแต่อย่างใด ส่งผลให้ผู้อาศัยใกล้เคียงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และคิดว่าเป็นครอบครัวทั่วไป

นายฟอยโก โฟล์ก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสโลวีเนีย ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงและหน่วยข่าวกรอง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนยังคงพยายามปะติดปะต่อข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสืบหาว่าทั้งคู่ทำอะไรอยู่กันแน่ ก่อนถูกจับกุมในปี 2565 แต่คาดว่าพวกเขาถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากจริง ๆ เนื่องจากมีการค้นพบเงินสดจำนวนมากในบ้าน ทำให้เกิดการคาดเดาว่า พวกเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการมอบความสนับสนุนทางการเงิน ให้กับปฏิบัติการของรัสเซีย ทั่วทั้งยุโรป

อีกด้านหนึ่ง นายเดเมียน โคเซก ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะของสโลวีเนีย และเจ้าของหอศิลป์กับแกลเลอรีออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าวว่า เขาไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับธุรกิจของดุลต์เซวาเลย จนกระทั่งมีข่าวการจับกุมเธอและสามี

อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า การเลือกงานศิลปะมาใช้เพื่อปกปิดหน้าที่สายลับของพวกเขา นับว่าสมเหตุสมผล เนื่องจากธุรกิจศิลปะในสโลวีเนีย ทำเงินน้อยมาก นั่นจึงทำให้ไม่มีใครในรัฐบาลให้การใส่ใจ ทั้งที่ชาวรัสเซียเหล่านี้ไม่ได้สนใจศิลปะ แต่พวกเขาแค่ต้องการธุรกิจสักอย่างเพื่อแฝงตัวเท่านั้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES