นวโน้มจาก ’ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ“ ของประชากรไทย ยังเป็น สถานการณ์สำคัญ ที่นักประชากร ศาสตร์ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ ต้องให้ความสำคัญ… เนื่องจากถ้าอัตราการเกิดใหม่ของคนไทยยังคงมีแนวโน้มลดลง ก็อาจ ส่งผลกระทบกับไทยในหลาย ๆ มิติจนทำให้มีข้อเสนอในการทบทวน แผนยุทธศาสตร์ ’นำเข้าประชากรต่างชาติ“ มาทดแทน หรือเติมในส่วนที่พร่องลงไป อย่างไรก็ตาม แต่การจะนำเข้าประชากรต่างชาติ “ทดแทนประชากรวัยแรงงานไทยที่ลดลง” นั้น ก็จำเป็นที่จะ ’ต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน“ซึ่งอาจจะพินิจจาก ’กรณีศึกษาในต่างประเทศ“ที่มีการทำเรื่องนี้…

อาจ ’นำมาใช้เป็นกรณีศึกษาของไทย“
เพื่อ ’กำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม“
ให้ ’ตอบโจทย์-ไม่เกิดปัญหาตามมา“

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์นำเข้าประชากร” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ จากชุดข้อมูลโดย .ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ได้หยิบยกกรณี ’ประเทศแคนาดา“ ที่ทำเรื่องนี้โดย “ตั้งหน่วยงานเฉพาะ” ขึ้นมารองรับเรื่องนี้ โดยนำมาสะท้อนไว้เพื่อเป็น ’กรณีศึกษาสำหรับไทย“ซึ่งชุดข้อมูลนี้มีการเผยแพร่อยู่ใน วารสารประชากรและการพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ปีที่ 44 ฉบับที่ 6 ส.ค.-ก.ย. 2567 โดยทาง ศ.ดร.อภิชาติ สะท้อนเรื่องนี้ไว้ดังนี้…

คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะลดลงต่อเนื่อง จะเหลือเพียงครึ่งประเทศในเวลาไม่ถึงสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 นี้ หรือภายในช่วงอายุขัยของคน 1 คน คือราว 70 ปี ด้วยเหตุนี้ ไทยจำเป็นต้องมองหาแนวทางดึงดูดประชากรที่มีคุณภาพเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาวและรับสัญชาติไทย เพื่อเป็นคนไทยทดแทนคนที่หายไป โดยแนวทางที่สำคัญและมีการใช้อยู่ในหลาย ๆ ประเทศ นั่นคือนโยบายMassive Immigration Policyที่มีเป้าหมายเพื่อ นำเข้าประชากรต่างชาติ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อสร้างประเทศและชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีหนึ่งในตัวอย่างของต่างประเทศ…

ที่ ’ประสบความสำเร็จ“ จากนโยบาย
คือ ’แคนาดา“…ที่ใช้นโยบายดังกล่าว

ทาง .ดร.อภิชาติ ได้สะท้อนไว้ถึงกรณี “แคนาดา” ที่ประสบความสำเร็จในการ ดึงดูดประชากรและแรงงานมีคุณภาพให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน โดยชี้ไว้ว่า… แคนาดาเป็นตัวอย่างความสำเร็จ เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ มีระบบการรับผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent residency) อีกทั้งยังจัดตั้งหน่วยงานชื่อ Immigration, Refugees and Citizenship Canada หรือ IRCC” โดยหน่วยงานนี้มีภารกิจหลักมุ่งเน้นที่การ พิจารณาทักษะความสามารถ และ ศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศ ของผู้ที่ได้สมัครเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรเป็นการเฉพาะในแคนาดา

ถ้าไทยจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อดูแลเรื่องนี้ ก็อาจใช้ชื่อว่ากระทรวงคนเข้าเมือง พลเมือง และประชากร เพื่อทำหน้าที่ในการดูแล รับสมัคร คัดเลือก และพิจารณาประชาการนำเข้าที่มีคุณภาพ เหมือนกับแคนาดา” …นี่เป็นข้อเสนอ

นอกจากนั้น นักวิชาการท่านเดิมยังเสนอแนะเพิ่มเติมกรณีที่ไทยอาจ “ตั้งหน่วยงานที่คล้ายของแคนาดา” ไว้ว่า… หน่วยงานนี้น่าจะต้อง เน้นภารกิจหลักอย่างน้อย 6 ประการ ได้แก่ 1.ตั้งเป้าจำนวน กับคุณสมบัติพลเมืองที่ต้องการ โดยเน้นการกำหนดคุณสมบัติที่ต้องการโดยการให้คะแนนตามคุณสมบัติ และเน้นดึงดูดกลุ่มเป้าหมายอย่างเจาะจง เช่น แรงงานที่มีทักษะสูง นักลงทุนที่มีศักยภาพ นักวิจัยและนวัตกรรม, 2.สร้างระบบพิจารณาและตัดสิน ที่มีกระบวนการรวดเร็ว

รวมถึง…ควรมีการสื่อสารที่ชัดเจน
จัดให้มีการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม

ถัดมา…3.ช่วยเหลือด้านการตั้งถิ่นฐานและการบูรณาการทางสังคม โดยประสานกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเสนอหลักสูตรและสนับสนุนบริการ สำหรับผู้พำนักถาวรคนใหม่ หรือประชากรที่นำเข้า, 4.เน้นการตลาดและการเผยแพร่เชิงรุกเพื่อสร้างแบรนด์ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง มีเอกลักษณ์ ตลอดจนให้ข้อเสนอที่น่าสนใจด้านต่าง ๆ และพยายามสร้างสรรค์แคมเปญประชาสัมพันธ์แบบเจาะจงไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คำปรึกษาการย้ายถิ่นฐาน, 5.ควรมีระบบศึกษาติดตามประชากรเป้าหมาย ที่ยุติธรรมและปลอดภัย และ 6.มีระบบการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป …นี่เป็นแนวทางที่นักวิชาการได้เสนอแนะไว้

และทาง .ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ก็ยังได้สะท้อนไว้ด้วยว่า… ปัจจัยที่ทำให้แคนาดาได้รับการยกย่องในการใช้แนวนโยบายนี้ ก็คือ… แคนาดามีการพัฒนาปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและได้ เน้นการผสมผสานทางสังคม โดยให้ความสำคัญกับการผสมผสานผู้อพยพเข้าสู่สังคมแคนาดา ทำให้ประสบความสำเร็จในการสร้างโอกาสและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ที่สำคัญยังสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดประชากรคุณภาพให้อยากเป็นประชากรรุ่นใหม่ ๆ ของแคนาดาด้วย ซึ่ง ’กลยุทธ์สู่ซัคเซส“ นั้น…

ไทย ’ก็น่าที่จะเรียนรู้ได้จากแคนาดา“
เพื่อให้ ’ประชากรที่นำเข้ามีคุณภาพ“
มา ’เพิ่มโอกาส…มิใช่ยิ่งเพิ่มปัญหา“.