กลิ่นอาย “วันแม่” ปีนี้ยังอบอวลมิจาง และวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว…กรณี ’ปัญหาสุขภาพจิตใจของคนเป็นคุณแม่หลังคลอดลูก“ จากข้อมูลรายงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาโปรแกรมการช่วยเหลือแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดโดยอาสาสมัครสาธารณสุข : การวิจัยนำร่อง” โดย พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์, พญ.วีราณี เจริญวงศ์ศักดิ์ และคณะวิจัย ที่ประกอบด้วย จารุวรรณ ประดา, ทิพย์เมธี เมฆพันธุนารถ, ณฐฐาพร พันธ์โยธี ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งแม้งานวิจัยนี้จะมุ่ง
เน้นการนำไปใช้โดยอาสาสมัครสาธารณสุข แต่กับคนทั่ว ๆ ไปก็น่าสนใจมาก…

’คุณแม่หลังคลอดลูก“ อาจ ’จิตระส่ำ“
’คนรอบตัว“ นั้น ’ควรทำความเข้าใจ“
และก็ ’ประคับประคองใจแม่มือใหม่“

ทั้งนี้ ณ ที่นี้วันนี้จะสะท้อนต่อข้อมูลเพิ่มเติมต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว…กรณี ’ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)“ โดยในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… ผลจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่อการดูแลลูกนั้น มีผลศึกษา Meta-analysis ของ Lovejoy et al. (2000) ที่พบว่า… แม่ที่มีภาวะซึมเศร้าในช่วง 3 เดือนหลังการคลอดบุตร มักมีอารมณ์หงุดหงิด จะแสดงความอบอุ่นและเล่นกับลูกน้อยกว่าแม่ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงการสื่อสารด้วยสายตา ยิ้มตอบลูก สัมผัสลูกด้วยความรัก อ่านหนังสือ เล่านิทาน หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ก็จะน้อยกว่าแม่ที่ไม่มีภาวะนี้ อีกทั้งจะใช้คำพูดทางลบมากกว่าแม่ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และที่สำคัญ อาจมีความคิดจะทำร้ายลูก ได้มากกว่าแม่ที่ไม่มีภาวะดังกล่าวนี้

การคลอดลูกเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ที่คุณแม่ทุก ๆ คนจะต้องผ่านความยากลำบากในการเจ็บครรภ์ เบ่งคลอด อีกทั้งต้องพบความเหนื่อยล้าในช่วงหลังคลอด กับต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมายในหลาย ๆ ด้าน“…นี่เป็นสรุปความสำคัญอีกส่วนหนึ่งจากข้อมูลในรายงานวิจัย ที่ ’คนรอบตัวควรต้องทำความเข้าใจ“

กับการ “เปลี่ยนแปลงมากมาย” ในหลาย ๆ ด้านที่ว่านั้น ก็รวมถึง’การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน“ ซึ่งอัตราส่วน ฮอร์โมน Progesterone และ Estrogen จะลดต่ำทันทีที่การคลอดสิ้นสุดลง โดยการลดระดับลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนทั้ง 2 ในช่วงหลังคลอด จะมีผลต่อสารสื่อประสาท คือ Serotonin ซึ่งกับฮอร์โมน Estrogen นั้น…ถ้าหากลดต่ำ จะส่งผลให้ระดับ Serotonin ลดต่ำ ลงด้วย ก็ จะทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย นอนไม่หลับ และเป็นสาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบความสัมพันธ์ของการลดระดับของฮอร์โมนเหล่านี้กับการเกิด “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”

’ก็ต้องเข้าใจ“ กรณีฮอร์โมนเปลี่ยน
รวมถึง ’จิตใจและสังคมก็เปลี่ยน!!“

สำหรับ ’การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและสังคม“ นั้น ข้อมูลในรายงานวิจัยเกี่ยวกับแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ระบุไว้ว่าได้แก่… 1.ความเสี่ยงทางพันธุกรรม (Genetics), 2.ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง และ Neurotransmitter ต่าง ๆ, 3.ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วย, 4.การปรับตัวทางจิตใจเมื่อมีการเผชิญความเครียด เช่น การผ่านการคลอดที่เต็มไปด้วยบรรยากาศต่าง ๆ ทั้งความตื่นเต้น ตระหนก เจ็บปวด และยินดี, 5.ปัจจัยทางด้านสูติกรรม เช่น บางรายอาจรู้สึกผิดหวังจากการที่ไม่สามารถคลอดปกติได้ ต้องคลอดโดยการใช้สูติศาสตร์หัตถการ ซึ่งเมื่ออยู่ในระยะหลังคลอดก็อาจจะเป็นคนละบรรยากาศกับที่คาดไว้ล่วงหน้าขณะตั้งครรภ์, 6.การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย, 7.การปรับตัวเพื่อให้การดูแลลูก ปรับตัวต่อบทบาทใหม่ร่วมกับบุคคลที่แวดล้อม ภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจน ’ความคาดหวัง“ ของตนเองและสมาชิกในครอบครัว ที่จะแสดง ’บทบาทการเป็นแม่ที่ดี“

ทั้งนี้ คุณแม่หลังคลอดลูกนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการด้านจิตใจ แตกต่างกันไปตามระยะเวลา โดยมีการแบ่งระยะการปรับจิตใจไว้ดังนี้คือ… ระยะที่ 1 Taking-in phase ช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ที่ยัง ต้องมีการพึ่งพาอาศัยผู้อื่นให้ช่วยเหลือ เพื่อลดความไม่สบายต่าง ๆ จากการคลอดลูก, ระยะที่ 2 Taking-hold phase ช่วง 3-14 วันหลังคลอด ระยะนี้แม้ร่างกายจะแข็งแรงขึ้น เป็นระยะที่มีความพร้อมและสนใจสูงต่อการรับฟังคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการฝึกเลี้ยงดูลูก เริ่มเกิดความเชื่อมั่นในการเผชิญบทบาทการเป็นแม่ รู้สึกสุขใจที่ได้ดูแลลูก แต่ ความวิตกกังวลอาจค่อย ๆ สูงขึ้น ถ้ามีปัญหาในการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง,ระยะที่ 3 Letting-go phase ระยะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 หลังคลอด คุณแม่จะเริ่มรับบทบาทใหม่ได้ดีขึ้น ความวิตกกังวลเริ่มลดลง …แต่กระนั้นคนรอบตัวก็ยังต้องเข้าใจต่อไป…

หลังคลอดบุตรจะมีการพัฒนาไปสู่บทบาทใหม่ ทั้งเป็นผู้หญิง เป็นภรรยา และเป็นแม่ พร้อมกันไป ดังนั้นพฤติกรรมที่ตอบสนอง และภาวะจิตใจ จึงต้องขยายขอบเขตความสนใจ มีการปรับตัวจากตนเองไปยังลูก สามี และครอบครัว มีความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก“ …คนรอบตัวก็ต้องเข้าใจกันด้วย

จะเห่อลูกจะเห่อหลานก็ ’ต้องเข้าใจ“
’เข้าใจคนเป็นแม่“ แล้วก็ ’ต้องใส่ใจ“
ต้อง ’ช่วยสกัดซึมเศร้าหลังคลอด!!“.