สำหรับฮานิเยห์ เขาถือเป็นหน้าเป็นตาของกลุ่มฮามาสบนเวทีระหว่างประเทศ และถูกมองว่าเป็น “เสียงที่เป็นกลาง” ในกลุ่มฮามาส แต่ในทางตรงกันข้าม ซินวาร์กลับถูกมองว่าเป็น “คนหัวรุนแรง” ซึ่งเขาไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะตลอดช่วงสงครามในฉนวนกาซาที่ดำเนินมาแล้ว 10 เดือน และมีบทบาทโดยตรงในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล

อนึ่ง ซินวาร์ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต 4 ครั้ง ในข้อหาสังหารทหารอิสราเอล 2 นาย เมื่อเขาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำอิสราเอลในปี 2554 จากนั้นเขาก็กลายเป็นผู้บัญชาการอาวุโสของอัล-กัสซัม ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาส ก่อนรับตำแหน่งผู้นำกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เมื่อปี 2560

นายเจมส์ ดอร์ซีย์ ผู้สันทัดกรณีด้านตะวันออกกลาง กล่าวว่า การแต่งตั้งซินวาร์ “แสดงออกถึงการต่อต้าน” ซึ่งกลุ่มฮามาสแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะควบคุมฉนวนกาซาต่อไป แม้อิสราเอลมีเป้าหมายกำจัดพวกเขาก็ตาม สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่อาวุโสในกลุ่มฮามาสที่กล่าวว่า การแต่งตั้งซินวาร์คือการส่งสัญญาณไปยังเครือข่ายทั้งหมด “ให้เดินหน้าต่อต้านอิสราเอลต่อไป”

ขณะที่ นายฮิวจ์ โลวัตต์ ผู้สันทัดกรณีด้านตะวันออกกลาง จากคณะมนตรียุโรปด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (อีซีเอฟอาร์) กล่าวว่า การลอบสังหารฮานิเยห์ ส่งผลให้สมดุลอำนาจภายในกลุ่มฮามาส เอนเอียงไปทางซินวาร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านมากกว่า จนก่อให้เกิดคำถามว่า อิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน มีอิทธิพลเบื้องหลังมากแค่ไหน

ด้านนางทาฮานี มุสตาฟา นักวิเคราะห์จากอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศ ในด้านความขัดแย้ง แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การแต่งตั้งซินวาร์ เป็นการส่งข้อความโดยเจตนาจากกลุ่มฮามาสว่า หากอิสราเอลยืนกรานที่จะไม่ยอมอ่อนข้อ พวกเขาก็จะไม่ยอมอ่อนข้อ และไม่ประนีประนอมเช่นกัน

แม้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในกลุ่มฮามาสกล่าวว่า ซินวาร์รับช่วงต่อจากฮานิเยห์ ในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา ซึ่งเขาให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่ากระบวนการดังกล่าวจะดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายคนมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ซินวาร์มีแนวโน้ม “ต่อรองยากขึ้น” และ

“การลอบสังหารฮานิเยห์ ทำให้โครงสร้างทางการเมืองของกลุ่มฮามาสระส่ำระสายชั่วขณะ และเนื่องจากพวกเขาต้องรีบหาผู้นำฝ่ายการเมืองคนใหม่ มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มหัวรุนแรง” โลวัตต์ กล่าว “ฝ่ายกลางในกลุ่มฮามาสอยู่ในสถานะอ่อนแอมาสักระยะแล้ว ซึ่งการลอบสังหารฮานิเยห์ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพวกเขา”

ทั้งนี้ โลวัตต์ กล่าวเสริมว่า ภายใต้การควบคุมของซินวาร์ กลุ่มฮามาสจะยังคงให้ความสำคัญกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างระหว่างผู้นำฝ่ายทหาร กับผู้นำฝ่ายการเมือง เลือนรางยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกเขาขยับเข้าใกล้อิหร่านมากขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES