การประท้วงครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำ เรียกร้องให้มีการยุติการใช้โควตาสงวนตำแหน่งงานทางราชการ ให้แก่บุตรหลาน และทายาทของผู้ที่มีสวนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ให้บังกลาเทศเป็นเอกราชจากปากีสถาน เมื่อปี 2514
แม้ศาลฎีกาเข้ามาไกล่เกลี่ยสถานการณ์ ด้วยการปรับลงโควตาดังกล่าวลงอย่างมาก แต่การยังไม่ยกเลิกระบบดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ซึ่งเหล่าผู้ประท้วงมองว่า “เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง” ส่งผลให้ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่าต่อเนื่อง และลุกลามขยายวงเป็นการแสดงอารยะขัดขืน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์รุนแรงที่ยืดเยื้อในเวลานั้น สะสมจนมีจำนวนมากกว่า 300 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย จากการประท้วงเมื่อวันที่ 4 ส.ค. เพียงวันเดียว ซึ่งรวมการเสียชีวิตของตำรวจด้วยอย่างน้อย 14 นาย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.วาเกอร์-อุซ-ซามัน ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมบังกลาเทศ ประกาศต่อสาธารณชน ว่าฮาสินาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกไปจากบังกลาเทศแล้ว และกองทัพจะจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” เพื่อรักษาความสงบและขับเคลื่อนประเทศต่อไป โดยจะอยู่ภายใต้การนำของนายมูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2549 วัย 84 ปี ซึ่งจะดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลชั่วคราว”
อนึ่ง กองทัพบังกลาเทศเคยจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลชั่วคราว เมื่อปี 2550 ซึ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวอยู่ในอำนาจนานประมาณ 2 ปี “เพื่อรักษาความสงบ” จากวิกฤติการเมืองในเวลานั้น และการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ทำให้ฮาสินาและพรรคสันนิบาตอวามี ขึ้นสู่อำนาจในเวลาต่อมา
ตลอดระยะเวลาที่บังกลาเทศอยู่ภายใต้การบริหารของฮาสินา เศรษฐกิจของประเทศกลับมาดีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยอานิสงส์ของนโยบายประชานิยมหลายด้าน ทำให้บังกลาเทศฟื้นตัวจากการเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก หลังได้รับเอกราชจากปากีสถาน เมื่อปี 2514 กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 6% นับตั้งแต่ปี 2552
ขณะที่สัดส่วนความยากจนของประชาชน จากที่เคยมากถึง 95% ของจำนวนประชากร 170 ล้านคน กลายเป็นตอนนี้แทบทุกครัวเรือนเข้าถึงกระแสไฟฟ้า และรายได้ต่อหัวประชากรแซงหน้าอินเดีย เมื่อปี 2564
นอกจากนี้ ฮาสินาได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ จากการที่เธอใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ปราบปรามกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงทางศาสนา หลังเกิดเหตุมือปืน 5 คน กราดยิงในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของชาวต่างชาติในกรุงธากา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 22 ราย เมื่อปี 2559
อย่างไรก็ตาม การที่ฮาสินาใช้นโยบายปราบปรามรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ จากการที่มีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านถูกประหารชีวิตแล้ว 5 ราย ภายในรอบทศวรรษล่าสุด โดยพนักงานสอบสวนกล่าวว่า บุคคลเหล่านี้มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างการต่อสู้ประกาศเอกราชจากปากีสถาน
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรกับกองกำลังด้านความมั่นคงของบังกลาเทศ เมื่อปี 2564 และมุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของบังกลาเทศ 7 คน ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตอย่างมาก ว่าทุกประเทศในเอเชียใต้พร้อมใจกันรักษาท่าทีอย่างมาก เกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองในบังกลาเทศ นัยว่าเป็นการแสดงจุดยืนของความพยายาม “ถ่วงอำนาจอย่างสมดุล” จากการที่ทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ ยังคงต้องมีความร่วมมือและความสัมพันธ์ กับฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ จีน และอินเดีย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่าทีของอินเดียน่าสนใจและน่าจับตามากที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ฮาสินาซึ่งในเวลานั้นยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เยือนอินเดีย 2 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ และฮาสินากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นเรื่องที่บังกลาเทศให้ความสำคัญอย่างมาก”
คำกล่าวของฮาสินาไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง ทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางยาว 4,096 กิโลเมตร นอกเหนือจากเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ อินเดียและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างมากด้วย ในมิติของสังคมและวัฒนธรรม มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับบังกลาเทศอยู่ที่ราว 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 566,312 ล้านบาท ) เมื่อปี 2566 โดยอินเดียเป็นประเทศคู่ค้าในเอเชียรายใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ
กระนั้น การที่บังกลาเทศมีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นในระยะหลัง ทำให้อินเดีย “ไม่สบายใจ” เช่นกัน นายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รมว.การต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่ารัฐบาลนิวเดลีมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในบังกลาเทศ “จนกว่าจะมีการฟื้นคืนความสงบได้อย่างชัดเจน”
เจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของอินเดียกล่าวด้วยว่า รัฐบาลนิวเดลี “ติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิด” กับรัฐบาลธากา และ “ตามความเข้าใจของอินเดีย” การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศของชีค ฮาสินา “เกิดขึ้นหลังการพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคง”
หลังจากนั้น อดีตผู้นำบังกลาเทศยื่นเรื่องขออนุญาตจากทางการอินเดีย ในการ “ขอพำนักชั่วคราว” ในอินเดีย ซึ่งตอนนี้เธอพำนักอยู่ที่กรุงนิวเดลี
ส่วนแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลนิวเดลีกล่าวว่า ฮาสินาต้องการเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมเรียกร้อง ให้สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เป็นหน่วยงานกลางในการสอบสวนเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในบังกลาเทศ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 300 ราย นับตั้งแต่เดือนก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ฮาสินาต้องระงับแผนการดังกล่าวไปโดยปริยาย.
แน่นอนว่า รัฐบาลนิวเดลีจับตาทุกความเคลื่อนไหวของบังกลาเทศนับจากนี้ “ด้วยความใกล้ชิด” อินเดียไม่น่าต้องการให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลหรือรัฐบาลชั่วคราวนานนัก และรัฐบาลนิวเดลีซึ่งมองว่า พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ ( บีเอ็นพี ) ที่ตอนนี้ยังถือว่าเป็นฝ่ายค้านของบังกลาเทศ กลับมามีอำนาจอีก ซึ่งอินเดียถือว่า พรรคบีเอ็นพี “เป็นกองกำลังอิสลามสุดโต่ง”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกฝ่ายในบังกลาเทศและประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างอินเดีย ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นสถานที่ลี้ภัยของฮาสินา ย่อมไม่มีทางเลือกมากนักในเวลานี้ นอกเสียจากว่า ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นคืนเสถียรภาพในบังกลาเทศ ให้กลับมาอีกครั้งเร็วที่สุด และให้มีความยั่งยืนมากที่สุดเท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP