โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจว่าหมู่โลหิตมี 4 หมู่ใหญ่ ๆ คือ 1. กลุ่ม AOB ประกอบด้วย หมู่ เอ (A) หมู่ บี (B) หมู่ เอบี (AB) หมู่ โอ (O) และ 2. หมู่อาร์เอช (Rh) แบ่งเป็น อาร์เอชบวก (Rh-Positive) และ อาร์เอชลบ (Rh-negative) ซึ่ง Rh- จัดเป็นโลหิตหมู่พิเศษเพราะหาได้ยากมากในคนไทย
ทั้งนี้ สิ่งที่ รศ.ดร.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผอ.ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย อยากสื่อสารในวันนี้คือ หมู่อาร์เอช โดย Rh+ จะพบในคนไทย 97% ส่วน Rh- พบได้น้อย ประมาณ 1,000 คน จะพบ 3 คน หรือ 0.3% การให้หรือรับเลือดก็ต้องเป็นหมู่เลือดเดียวกันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีหมู่โลหิตพิเศษอีกหนึ่งระบบ ที่เรียกว่าRh+ (Asian-type DELหมู่โลหิตอาร์เอชเดลชนิดเอเชี่ยน) ซึ่งพบได้ในคนเอเชียที่มีหมู่เลือดพิเศษ Rh- 15% หรือใน 100 คน จะพบ 15 คน แต่การตรวจหาหมู่เลือดนี้ค่อนข้างยาก และซับซ้อน
“หมู่โลหิตนี้จะมีแอนติเจน D บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง ในปริมาณน้อยมากจนการตรวจในห้องปฏิบัติการทั่วไปไม่สามารถตรวจพบได้ จึงทำให้ Rh+ (Asian-type DEL) นี้ถูกระบุเป็น Rh- มาโดยตลอด”
และล่าสุด ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ในผู้บริจาคโลหิต 2,394 ราย ตั้งแต่ 2561-2565 พบว่ามีหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) จำนวน 359 ราย เมื่อเป็นเช่นนี้ แปลว่า ในคนไทยที่ถูกระบุว่า มีหมู่เลือด Rh- หากมีการตรวจลงลึกแล้วก็มีโอกาสพบว่าแท้จริงแล้วท่านอาจจะมีหมู่เลือดพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ได้
ในส่วนของงานรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จะมีการตรวจด้วยวิธีใหม่ หากพบผลเลือดเป็น Rh+ (Asian-type DEL) ก็ขอว่าอย่าได้ตกใจ โดยจะดำเนินการดังนี้ 1. ผู้บริจาคโลหิตจะได้บัตรผู้บริจาคโลหิตใหม่ ระบุเป็น Rh+ (Asian-type DEL) ซึ่งจัดอยู่ในหมู่โลหิต Rh+ สามารถให้แก่ผู้ป่วยหมู่โลหิต Rh+ เท่านั้น
2. กรณีผู้บริจาคโลหิตมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดในการรักษา สามารถรับเลือดกลุ่ม Rh+ ได้อย่างปลอดภัย 3. ผู้บริจาคโลหิตยังสามารถเป็นผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตเฉพาะส่วน รวมทั้งการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ได้อย่างต่อเนื่อง
“การตรวจวิเคราะห์หมู่โลหิตด้วยวิธีใหม่นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคที่ต้องได้รับโลหิตเป็นประจำ ควรตรวจหาชนิดของหมู่โลหิตไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้รับโลหิตที่มีหมู่โลหิตตรงกับตนเองให้มากที่สุด”
ขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh-และผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ร่วมบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกยูนิต จะได้รับการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป.