วันจันทร์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่กรมชลประทาน ย่านสามเสน เพื่อประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำและรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำของประเทศจากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝน ณ วันที่ 5 ส.ค. 67 อยู่ที่ 56% มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4%

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” ต่อเนื่องไปถึงปี 68 ส่งผลให้ครึ่งปีหลังมีฝนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และหนักมากบางพื้นที่ เช่น นครนายก ปราจีนบุรี มีฝนตกหนักรอบๆ “เขาใหญ่ทับลาน” ทำให้น้ำล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่หลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี นาข้าวใกล้เก็บเกี่ยวจมน้ำหลายพันไร่

ข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 7 ส.ค.67 เขื่อนขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกันที่ 40,924 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% ของความจุทั้งหมดที่ 70,928 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูลเมื่อ 29 ก.ค. 54 มีน้ำในเขื่อน 64% หรือ 44,427 ล้าน ลบ.ม.)

โดยเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เมื่อวันที่ 7 ..67 มีปริมาณน้ำ 41% เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำ 53% เขื่อนแควน้อยฯ จ.พิษณุโลก มีน้ำ 34% เขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี มีน้ำ 26% เขื่อนขุนด่านฯ จ.นครนายก มีน้ำ 62% เขื่อนนฤบดินทรจินดา(ห้วยโสมง) .ปราจีนบุรี มีน้ำ 61%

แม้ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนตอนนี้ จะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่พื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

แต่ “พยัคฆ์น้อย” มีเรื่องฝากเตือนพร้อมข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลนายเศรษฐา คือ 1.อย่าเพิ่งไว้วางใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพราะยังเหลือฤดูฝนอีก 3 เดือน (..-..) อาจมีไต้ฝุ่นลูกใหญ่ ๆ เข้ามา

2.มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า-เข้มงวดกวดขัน-รัดกุม ในการพร่องน้ำของเขื่อนต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบของประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน

3.เตรียมงบกลาง งบจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไว้ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพืชผลการเกษตรเสียหาย เผลอ ๆ อาจจะต้องจ่ายงบช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ก่อนการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต

4.ถอดบทเรียน 9 ปีที่ผ่านมา ใช้งบจำนวนมาก แต่ไม่มีโครงการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ถึงขนาดหว่านงบเป็นพันล้านบาทให้องค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึก (อผศ.) ไปขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำ ทั้งที่ อผศ.ไม่มีเครื่องจักรกลหนักแม้แต่ตัวเดียว หลายพื้นที่จึงยังประสบปัญหาซ้ำซาก

5.อย่าปล่อยให้กรมชลประทานรมว.เกษตรฯ” ลุยถั่วแก้ปัญหาเรื่องน้ำเพียงลำพัง! แต่ควรบูรณาการเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ มาช่วยกันทำงานในรูปแบบ “คณะกรรมการ” เพื่อพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาปัดฝุ่น!

เอาบริษัทผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เข้ามาช่วยทำงานในลักษณะของการประมูลแข่งขันกัน

ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โครงการไหนยังสามารถทำได้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ ควรหยิบขึ้นมาทำ นอกเหนือไปจากการขุดลอกคูคลอง-แหล่งน้ำ-ขุดบ่อบาดาล วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ!!.

……………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…