“…จะทำให้เด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบกลับสู่กระบวนการเรียนได้นั้น ผู้ใหญ่ก็ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กไว้ใจและเชื่อใจให้ได้ก่อน การศึกษาไร้รอยต่อจึงจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะการศึกษาไร้รอยต่อคือการศึกษาที่ไม่สะดุดเลย ออกเมื่อไหร่เรามีที่รองรับ พร้อมเมื่อไหร่ก็กลับเข้ามา…”…นี่เป็น “หัวใจ” ของ “การศึกษาไร้รอยต่อ” เพื่อจะ “ช่วยเด็กหลุดจากระบบ” ที่ทาง ศ.ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม สะท้อนไว้ในเวทีที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

มี “อุตรดิตถ์” เป็น “พื้นที่กรณีศึกษา”
กับ “กลไกช่วยเหลือเด็กดร็อปเอาต์”
ผ่านโมเดลชื่อ “โรงเรียน 4 ตารางวา”

สำหรับ “โรงเรียน 4 ตารางวา” นี้ ทาง “ครูติ๊กชัชวาลย์ บุตรทอง” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ในฐานะผู้ดูแลโมเดล บอกเล่าไว้ในเวที “พื้นที่ปลอดภัยกลไกโอบอุ้มคุ้มครองเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา จ.อุตรดิตถ์” ว่า… อุตรดิตถ์มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในเขตชุมชนเมือง และรอบ ๆ เขตเมือง ซึ่งหลาย ๆ คนเป็นเด็กในกระบวนการยุติธรรม ที่หลุดเข้าไปในวงจรยาเสพติด และการใช้ความรุนแรง อาทิ เป็นเด็กแก๊ง เด็กแว้น รวมถึงไม่ได้เรียนต่อจากปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน จนหลุดออกจากโรงเรียน…

ครูติ๊ก กล่าวว่า… ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เด็กถูกผลักออกนอกห้องเรียน” เนื่องจากระบบการศึกษาและหลักสูตรของโรงเรียนในระบบไม่ได้ออกแบบมาเพื่อโอบอุ้มรองรับเด็กทุกคน ที่มีสถานการณ์ชีวิตต่างกัน จนที่สุดเด็กก็หลุดจากห้องเรียน และแม้เด็ก ๆ กลุ่มนี้จะอยากกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก “ถูกมองเป็นตัวปัญหา!!” จากการที่เมื่อหลุดจากระบบแล้ว เด็กอาจหลุดเข้าสู่วงจรยาเสพติด จนเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม และเมื่อเด็กออกมา ถึงแม้จะต้องการกลับเข้าห้องเรียน แต่ก็เข้าไปไม่ได้เพราะ “โรงเรียนปิดประตูใส่!!” เด็ก ๆ เหล่านี้จึงต้องกลายเป็นเด็ก “ดร็อปเอาต์ (Dropout)” ไปโดยปริยาย …นี่เป็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ที่ทำให้ “ทางเดินชีวิตค่อย ๆ แคบลง”

อย่างไรก็ดี ครูติ๊ก และผู้ใหญ่หลายคนในพื้นที่ ต่างมีความเชื่อที่ว่า… “โอกาสการศึกษาควรเป็นของเด็กทุกคน” โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า… เด็กคนนั้นเคยเป็นใคร? มาจากที่ไหน? หรือเคยรู้จักเด็กคนนั้นในแบบไหน? ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆ อยากไขว่คว้าหาโอกาสทางการเรียนรู้ ก็ควรที่เด็ก ๆ จะต้องได้เรียน และที่สำคัญ ด้วยความเชื่อซึ่งมีต่อ “แนวคิด” ที่ว่า… การเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดไว้แค่การนั่งเรียนในโรงเรียน แต่ควรมีความหลากหลาย และควรที่จะออกแบบให้ยืดหยุ่นได้ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ มากำหนด จนทำให้เด็กหมดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็น “โรงเรียน 4 ตารางวา” ดังกล่าวขึ้นมา…

เป็น “กลไกให้โอกาสเด็กที่มีปัญหา”…
ให้ “ได้เรียนรู้ไม่สะดุด และไร้รอยต่อ”

ทาง ครูติ๊ก ในฐานะผู้ดูแล ได้อธิบายเพิ่มเติมให้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ฟังว่า… โมเดลนี้จะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ที่ กสศ. สนับสนุน โดยเป็น สถานศึกษาตามมาตรา 12 ของ พ...การศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 เพื่อจัดการศึกษาให้ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา เยาวชนนอกระบบการศึกษา และเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง นำรูปแบบ “การศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นทุกมิติ” มาใช้ ทำให้สามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและมีข้อจำกัดที่ต่างกันได้ดียิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อการเรียนรู้…

ขณะที่ “จุดเด่น” ของ “โรงเรียน 4 ตารางวา ที่เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งได้มีการนำมาปรับใช้เพื่อ “ส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ” ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ นั้นครูติ๊ก ได้แจกแจงว่า… จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ… “ความยืดหยุ่น” ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ในแง่รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ระยะเวลาการศึกษา รวมถึงการวัดและประเมินผลสำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ เทียบโอนความรู้กับประสบการณ์ของผู้เรียนเพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการศึกษาอยู่ในระบบให้กับเด็ก ๆ ให้สั้นลง ช่วยให้ผู้เรียนนั้นมีโอกาสสำเร็จการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

ครูติ๊กยังบอกอีกว่า… ปัญหาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ เป็นปัญหาใหญ่ โดยข้อมูลจาก iSEE ที่สำรวจรวบรวมโดย กสศ. พบว่า… ปี 2564 อุตรดิตถ์มีประชากรวัยเรียน 40,792 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาที่มีอายุ 12-17 ปี มากถึง 9,069 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมดในพื้นที่ ดังนั้น “คำถามสำคัญ” ก็คือ… “จะทำเช่นไรให้เด็กสามารถกลับสู่ระบบการเรียนรู้ได้??” ภายใต้ความท้าทายจากข้อจำกัด ศักยภาพ ความแตกต่างของเด็ก นี่จึงเป็น “แรงผลักดัน” ให้ครูติ๊กยื่นเสนอโครงการกับทาง กสศ. และได้รับการตอบรับ จนเกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้นี้ขึ้นมา…

ทั้งนี้ ยังมี “แรงบันดาลใจ” อีกส่วนที่ทำให้อยากช่วยเด็ก ๆ โดย ครูติ๊ก บอกว่า… หนึ่ง…เพราะเป็นคนในพื้นที่ สอง…เพราะเห็นปัญหา โดยบรรจุรับราชการครูที่ จ.อุตรดิตถ์ มาตั้งแต่ปี 2559 จึงอยากช่วยแก้ปัญหาให้เด็ก ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ใหญ่ใจดีอีกหลายคน ที่ “อยากเห็นเด็กกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการกลับเข้าเรียน” ไม่ว่าจะที่นี่ หรือที่ไหนก็ตาม อีกทั้ง…

ทำเรื่องนี้ “แรงขับเคลื่อนสำคัญ” คือ…
“ไม่ต้องการทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง!!”.