การ “มีโอกาสได้ใกล้ชิดดารา” เป็นสิ่งที่น่าจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อย “อยากมีโอกาส” และในจำนวนไม่น้อยที่ว่านี้ก็น่าจะมีหลายคนที่คิด “อยากทำงานกองถ่าย“… ทั้งนี้ น่าจะมีหลายคนอยากทำงานกองถ่าย เพื่อจะทั้งได้ใกล้ชิดดารา และก็ได้ทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดกรณี “ทีมงานกองถ่ายเสียชีวิต” แล้วก็มีคนแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครชักแถวกันออกมาเผยถึง “ชีวิตคนทำงานเบื้องหลัง“และว่า…การ ต้องทำงานหนักเกินชั่วโมงทำงานซึ่งร่างกายอาจจะเกินรับไหว นี่ อาจเป็นต้นเหตุอันตรายต่อชีวิต? ก็เป็นได้? ซึ่งกับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร?? ก็ว่ากันไป…
วันนี้ ณ ที่นี้ชวนดูกันในภาพรวม ๆ
กับอาชีพ “ทีมงาน-แรงงานกองถ่าย“
ที่ “มุมวิชาการก็เคยมีการศึกษาวิจัย“
ทั้งนี้ ที่จริงเคยมีความพยายามรณรงค์ผลักดันให้มีมาตรการให้คนทำงานกลุ่มนี้มีรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกันการสูญเสีย ที่อาจเกิดจากการต้องอดหลับอดนอน-พักผ่อนไม่เพียงพอ และ “มุมวิชาการ” ก็เคยมีการศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้ เป็นข้อมูลจากรายงานศึกษาวิจัย “การสำรวจปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย“ โดย ณัฐนันท์ เทียมเมฆ, เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2565โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยคือเพื่อสำรวจปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เพื่อที่จะสะท้อน-ฉายภาพผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนทำงานกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
โดยสังเขปจากรายงานศึกษาวิจัยดังกล่าว มีการสะท้อนไว้ว่า… ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ประเด็นปัญหาของ “แรงงานในแวดวงภาพยนตร์“ ได้ถูกหยิบยกนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณี “ชั่วโมงทำงาน“ และ “ค่าแรงที่แรงงานกลุ่มนี้ได้รับ“ ที่เป็น “ความจริงที่เจ็บปวด??“ของการทำงานกองถ่าย
แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ บางส่วนยังไม่มีสวัสดิการ หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับซึ่งก็อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานะของการ “เป็นแรงงานนอกระบบ“ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเพียงพอ ผนวกกับนิยามอาชีพ “ฟรีแลนซ์” ที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นอิสระ” จนทำให้แรงงานกลุ่มนี้เองก็อาจจะละเลยสวัสดิการที่พึงจะได้รับ
ในรายงานศึกษาวิจัยฉบับนี้ได้ฉายภาพกรณี “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับ “แรงงานกองถ่าย” ซึ่งได้โฟกัสที่ “กองถ่ายภาพยนตร์” โดยมีการระบุไว้ว่า… การ “ละเลยสวัสดิการที่พึงจะได้รับจากค่านิยมที่คนทำงานเหล่านี้ต้องการความเป็นอิสระ“ ทำให้บ่อยครั้งที่คนกลุ่มนี้ “ต้องทำงานภายใต้ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน” บางครั้งอาจต้องทำงานมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน!! ซึ่งนอกจากจะ “ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต“ แล้ว ก็ยัง “เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ“ ในการทำงานด้วย
ทั้งนี้ “ปัญหาสำคัญ” ของแรงงานกลุ่มนี้ หลัก ๆ “แบ่งเป็น 4 ด้าน” คือ… 1.ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย ได้แก่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ที่พบเจอมากที่สุด จากการต้องทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 12-16 ชั่วโมง ทำงานแบบนี้ติดต่อกันหลายวัน ไม่มีเวลาได้พักผ่อนเต็มที่ ต้องอดหลับอดนอน จนเกิดความเหนื่อยล้าที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และ อาจนำไปสู่อันตรายจนถึงแก่ชีวิต ได้, อุบัติเหตุในการทำงาน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ฝ่ายอุปกรณ์ ฝ่ายเทคนิค งานช่าง จะเป็นส่วนที่ มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุระหว่างทำงานมากกว่าส่วนอื่น เช่น การพลัดตกจากที่สูง อันตรายจากอุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุบัติเหตุรถยนต์
ถัดมา… 2.ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ ได้แก่ ความไม่มั่นคงในอาชีพ ที่เป็นปัญหาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสับสนต่ออนาคต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่แรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถคาดเดาหรือไม่สามารถรับมือได้ ที่มัก มีความกังวลทางด้านรายได้ ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ ต้องอาศัยการพิจารณาแบบงานต่องาน ที่มีความไม่แน่นอน ตลอดจนมีกรณี ได้รับค่าตอบแทนล่าช้า จากขั้นตอนการวางบิล และกรณี ไม่เป็นไปตามที่ผู้ว่าจ้างตกลงไว้ เหล่านี้ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่เป็นฟรีแลนซ์ ต้องพบเจอความผกผันในอาชีพ โดยที่ไม่มีสวัสดิการทางสังคมมารองรับ
3.ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านความสัมพันธ์ทางสังคม แรงงานกลุ่มนี้บางส่วน ไม่มีตัวแทนในการต่อรอง โดยการทำงานในกองถ่ายเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติงานราบรื่น ซึ่งการทำงานกองถ่ายนั้นบุคลากรส่วนใหญ่มักชักชวนคนรู้จักหรือเพื่อนที่สนิทสนมกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อหวังส่งเสริมให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความสนิทสนมและความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม แต่จากการศึกษากลับพบว่า…ความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวกลับ ไม่ได้มีกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยหรือช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งการไม่มีตัวแทนต่อรองกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ
อีกปัญหา… 4.ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผลจาก ปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการที่ยุ่งเหยิงและกระจัดกระจายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจนเกิดความซ้ำซ้อน ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ผลที่ตามมาคือแรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นผู้เสียหาย-ได้รับผลกระทบตามลำพัง …เหล่านี้เป็น “ปัญหาคุณภาพชีวิตคนทำงานกองถ่าย”
“งานกองถ่าย“ ที่ “หลายคนอยากทำ“
ดูในภาพรวม “เป็นงานดีที่น่าสนใจ“
กระนั้น “ก็มีความจริงที่เจ็บปวด??“.