บรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ทั้งสามประเทศ รวมถึงอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ต่างเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบโลกใหม่ เพื่อลดบทบาทของสหรัฐ และพันธมิตรชาติตะวันตก ซึ่งนอกเหนือจากความปรารถนาร่วมกันข้างต้นแล้ว พวกเขายังมีแนวคิดบางประการที่เชื่อมโยงวิสัยทัศน์ในอนาคตไว้ด้วยกัน

“เราต้องร่วมกันสนับสนุนโลกหลายขั้วที่เท่าเทียม และเป็นระเบียบ” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ก็อธิบายเกี่ยวกับโลกหลายขั้วในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

อนึ่ง ปูตินมักจะกล่าวถึงปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ในลักษณะที่ไม่ใช่ “สงครามยึดครอง” แต่เป็นการต่อสู้กับอำนาจของอเมริกาในยุโรป ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ขยายฐานอำนาจไปทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งที่สหรัฐมีอิทธิพลมาอย่างยาวนาน

ด้านนายฌอง-มาร์ก บาลองซี นักวิเคราะห์การเมืองชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ประเทศเหล่านี้มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการผลักดันให้ยุคสมัยของชาติตะวันตกสิ้นสุดลง แต่วิธีการบรรลุเป้าหมายข้างต้นยังคงไม่ชัดเจน และสิ่งนี้ทำให้เกิดสถานการณ์หลายแบบ เนื่องจากผู้นำหลายคนมักมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน

“ประเทศสมาชิกของเอสซีโอ และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “บริกส์” หลายประเทศ ระบุว่า พวกเขาต้องการสร้างโลกหลายขั้ว และกำลังดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว แต่ผมสงสัยว่า ประเทศเหล่านี้รู้แน่ชัดหรือไม่ว่า พวกเขาต้องการระเบียบแบบใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบสถาบันแบบใด ในอีก 20 ปีข้างหน้า” นายสตีเฟน เวิร์ตไฮม์ จากสถาบันคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าว

ขณะที่ นายเซอร์เก คารากานอฟ นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซีย กล่าวว่า การพัฒนาสถาบันเพิ่มเติม เช่น บริกส์ และซีเอสโอ สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนของประชากรส่วนใหญ่ในโลก ถือเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และการกระชับความสัมพันธ์ในด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามสูตรที่เรียบง่ายเช่นนี้ มักจะละเลยปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น อิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความกังวลให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจน้อยกว่า ซึ่งในขณะเดียวกัน ชาติตะวันตกก็หันไปหาอินเดียมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องกันความใจกล้าท้าชนของรัฐบาลปักกิ่ง

สำหรับหลายประเทศ การมีขั้วอำนาจหลายขั้ว ทำให้มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก ซึ่งประเทศที่มีอิทธิพลน้อยกว่า ต้องการรักษาอำนาจอธิปไตยของตนไว้ ควบคู่กับการได้รับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ จากประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้สันทัดกรณีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แม้จีน, อินเดีย และรัสเซีย อาจไม่พอใจกับอิทธิพลของสหรัฐในบางแง่มุม แต่มันไม่ได้หมายความว่า ทั้งสามประเทศจะมีวิสัยทัศน์เหมือนกันทุกประการ ส่งผลให้โลกหลายขั้วในทางปฏิบัตินั้น เต็มไปด้วย “สิ่งที่ไม่รู้จัก”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP