สตาร์เมอร์เริ่มทำหน้าที่ผู้นำสหราชอาณาจักรอย่างราบรื่น หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในเวทีระดับโลกหลายครั้ง ทว่าความวุ่นวายช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับทำลายความหวังของช่วงเวลาฮันนีมูนอันยาวนาน สำหรับรัฐบาลลอนดอนชุดใหม่

เมืองในสหราชอาณาจักรมากกว่า 12 แห่ง เผชิญกับความวุ่นวายอย่างกว้างขวาง หลังเกิดเหตุคนร้ายใช้มีดเป็นอาวุธ จู่โจมห้องเรียนสอนเต้นแห่งหนึ่ง ในเมืองเซาท์พอร์ต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ส่งผลให้มีเด็กผู้หญิงเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งผู้ก่อเหตุที่เป็นชายวัย 17 ปี ถูกตำรวจจับกุมในเวลาต่อมา

สตาร์เมอร์ และอีกหลายคน กล่าวโทษ “กลุ่มอันธพาลฝ่ายขวาจัด” ที่ใช้เหตุการณ์การฆาตกรรมหมู่ด้วยอาวุธมีด เพื่อปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพ และความหวาดกลัวอิสลาม รวมถึงยุยงให้เกิดความรุนแรงในประเทศ ซึ่งทำให้ร้านค้าหลายแห่งถูกปล้น และมีตำรวจหลายสิบนายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันบนท้องถนน

Sky News

“สตาร์เมอร์ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงานอัยการสูงสุดของสหราชอาณาจักร มีความเหมาะสมในการจัดการกับวิกฤติเช่นนี้ เนื่องจากเขามีประสบการณ์จากการตอบสนองเหตุจลาจลในกรุงลอนดอน เมื่อปี 2554 ซึ่งกฎหมายและระเบียบ ถือเป็นจุดแข็งของเขา” นายสตีเวน ฟีลดิง ศาสตราจารย์ด้านการเมือง จากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม กล่าว

อย่างไรก็ตาม คะแนนความนิยมของสตาร์เมอร์กลับลดฮวบ เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และในขณะเดียวกัน เขาก็กำลังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ และการจ้องจับผิดจากคู่แข่งทางการเมือง เกี่ยวกับการจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งบางคนกล่าวอ้างว่า รัฐบาลพรรคแรงงานของสตาร์เมอร์ “ตอบสนองล่าช้า”

ด้านนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคปฏิรูปสหราชอาณาจักร (ยูเครีฟอร์ม) ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น กระนั้น เขาชี้ว่าต้นตอของความวุ่นวายมาจากการร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับผู้อพยพ มากกว่าการก่อความรุนแรงของฝ่ายขวาจัด พร้อมกับเตือนว่า สถานการณ์ในปัจจุบันอาจลุกลามจนเลวร้ายกว่านี้ได้

แม้ฟาราจกล่าวหาว่า สตาร์เมอร์ไม่มีวิธีจัดการกับความล้มเหลวของกฎหมายและระเบียบเลย แต่หลายคน รวมถึงฟีลดิง มองว่าฟาราจ หาข้อแก้ตัวให้กับผู้คนที่ออกมาประท้วงตามท้องถนน

ทั้งนี้ “เดอะ การ์เดียน” หนังสือพิมพ์รายวันฝ่ายซ้ายของสหราชอาณาจักร ตั้งข้อสังเกตว่า สตาร์เมอร์มองว่าเขาจำเป็นต้องประณามอย่างอย่างเปิดเผย ว่าฝ่ายขวาจัดเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า การสร้างความกลัว ความเสียหาย และความวุ่นวาย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่ในไม่ช้า สตาร์เมอร์ต้องเผชิญกับถ้อยคำต่อต้านผู้อพยพ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่ามันจะมาจากกลุ่มผู้ประท้วง หรือนักการเมืองก็ตาม

ขณะที่ “เดอะ ไทม์ส” หนังสือพิมพ์รายวันฝ่ายกลางขวาในสหราชอาณาจักร เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่บรรดาผู้นำของประเทศ ต้องแสดงความรักชาติในเชิงบวก และมองโลกในแง่ดี เพื่อตอบโต้มุมมองเลวร้ายยิ่งกว่าที่ฝ่ายขวาจัดให้การสนับสนุน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP