การจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น จะต้องแก้ที่ราก เช่นสร้างโอกาสให้ผู้คน โดยเฉพาะวัยรุ่น เด็ก…“ …นี่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจากการระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล… ซึ่งการระบุดังกล่าวนี้เป็นการระบุถึง “แนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน” สำหรับกรณีปัญหา ’ฆ่าในครอบครัว!!“ซึ่งระยะหลัง ๆ ’ปรากฏขึ้นบ่อยมากในสังคมไทย“ อีกแล้ว!!…

มีทั้งครอบครัวปัจจุบัน-ครอบครัวเดิม
ต้นเหตุก็มีทั้งสิ่งเสพติด-เศรษฐกิจ-หึง
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆ ก็ไม่ควรเกิด

ทั้งนี้ ที่ว่าระยะหลัง ๆ กรณีปัญหา ’ฆ่าในครอบครัว“ ได้ปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมไทยอีก ก็มีตั้งแต่ตายคนเดียวไปจนถึงตายยกครอบครัว และหลายกรณีผู้ที่ลงมือฆ่าก็ฆ่าตัวตายตามไปด้วย ซึ่งรายละเอียดแต่ละเคสนั้น ณ ที่นี้ขอละไว้ไม่แจกแจง อย่างไรก็ตาม กับกรณี “ฆ่าในครอบครัว” กรณี ปัญหาร้ายแรงที่เกิดในครอบครัว โดยคนในครอบครัวหรืออดีตคนในครอบครัวนั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอหยิบยกมาสะท้อนต่อสังคมไทยไว้อีกในแบบภาพรวม ด้วยมุ่งหวังให้เกิดการตื่นตัวแก้ไขป้องกันปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้นอีก ซึ่งปัญหานี้นับวันจะเป็น ’ภัยใกล้ตัวในครอบครัว“ที่’รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ“

โดยหลาย ๆ กรณี “เพราะสิ่งเสพติด”
และ “เพราะปัญหาสุขภาพจิต” ก็ด้วย
ขณะที่ ’รากปัญหาก็ต้องโฟกัสให้ชัด“

กรณีปัญหา “ฆ่าในครอบครัว” นอกจาก “ปัจจัยกระตุ้น” อย่างปัญหาสิ่งเสพติด ปัญหาสุขภาพจิตปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวแล้ว กับประเด็น “ปัจจัยบ่มเพาะตั้งแต่ราก” นี่ ณ ที่นี้จะพลิกปูมชี้ชวนให้โฟกัสและตระหนักกันจริงจังมากขึ้น โดย ’สภาพสังคม คนในสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก“ ปัจจัยนี้ก็ ’เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับปัญหาฆ่าในครอบครัว“ซึ่งทาง รศ.นพ.สุริยเดว ได้เคยสะท้อนเกี่ยวกับปัจจัยดังกล่าวนี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยสังเขปนั้นมีดังนี้…

ฆ่าในครอบครัว“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่ในไทย มีเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในไทย “ปัจจัยที่สังคมไทยต้องพินิจมาก ๆ” คือเรื่อง “การละทิ้งความจริงและวิถีธรรมชาติ” ประกอบกับการดำเนินชีวิตของผู้คนยุคนี้ด้วยความเร่งรีบ ซึ่ง “วิถีชีวิตที่เร่งรีบ” นั้น “ทำให้ขาดสมาธิไม่มีเวลาตั้งสติจนนอตหลุดได้ง่าย!!”

และ… ที่ต้องพินิจกันให้มาก ๆ ยิ่งขึ้นอีก“ ก็คือ ’สังคมปัจจุบันกลายเป็นสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม“ ที่ผู้คนต่างก็ “ดำรงชีวิตกันแบบปากกัดตีนถีบ” ในการหาเม็ดเงินเข้ามาซัพพอร์ต ซึ่งนี่ก็ทำให้เป็นไปได้ง่าย ๆ ที่จะส่งผลให้…

เกิด ’ปัญหาครอบครัวพยาธิสภาพ“…
หรือทำให้เกิด’ปัญหาครอบครัวป่วย“

ทั้งนี้ ในครอบครัวที่ดูเป็นปกติดีก็มิใช่ไม่เสี่ยง “ครอบครัวป่วย” ซึ่งครอบครัวที่ป่วยนั้น ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ระบุไว้ว่า… ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นครอบครัวที่ยากจน หย่าร้าง หรือสมาชิกมีการศึกษาไม่สูง เพราะกับครอบครัวทั่วไปที่โครงสร้างเพี้ยนไป หรือที่มีชื่อเรียกว่าเป็น ’ครอบครัวแหว่งกลาง“ เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก หรือลูก ๆ ต้องเรียนรู้ผ่านการแข่งขัน-การชิงดีชิงเด่นกัน เหล่านี้ก็สามารถจะเป็น ’ปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว“ ได้

โฟกัสที่ปัญหา ’ฆ่าในครอบครัว“ปัญหานี้…กับ “เด็กวัยรุ่น” ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่เป็นผู้ก่อเหตุด้วย ซึ่งผู้สันทัดกรณีด้านปัญหาครอบครัวเคยระบุไว้อีกว่า… ลักษณะของวัยรุ่น อารมณ์จะไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าอย่างอื่น คือ… อารมณ์จะอยู่เหนือความคิด ซึ่ง… หากเกิดความคิดที่ขาดจิตสำนึก และยิ่งหากว่าประกอบด้วยต้นทุนชีวิตเดิมอยู่ในครอบครัวที่ป่วย ด้วยแล้วล่ะก็… สามารถจะ “เกิดความรุนแรงขึ้น” ได้ง่าย ๆ…ทำให้ มีแนวโน้มจะ “เกิดเรื่องร้ายแรงในครอบครัว” ได้ง่าย ๆ

นอกจากนั้น ผู้สันทัดกรณีปัญหาครอบครัวท่านเดิมยังเคยสะท้อนและขยายความจุดนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… จากองค์ประกอบอย่าง อารมณ์ที่ขาดสติขาดจิตสำนึกย่อมมีผลต่อการเกิดความรุนแรง ทั้งสังคมนอกครอบครัว และ แม้แต่ในครอบครัว!! โดยที่สิ่งร้าย ๆ นี้ยัง สามารถจะ “ถ่ายทอดเป็นรสนิยมความรุนแรงผ่านทางยีนได้” อีกด้วย

ดังนั้น สังคมไทยต้องพินิจและตระหนักปัจจัยต่าง ๆ เพื่อสกัดเหตุรุนแรง-ร้ายแรง ที่ยุคนี้แม้แต่ในครอบครัวก็เกิดได้ง่าย ๆ อีกทั้งเพื่อที่จะเป็นการ ’แก้ไขป้องกัน“ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีปัญหา ’ฆ่าในครอบครัว“นอกจากคนเป็นผู้ใหญ่ต้องตระหนักถึงปัจจัยและตั้งสติกันให้มาก ๆ แล้ว…ก็ ’ต้องสร้างภูมิให้เด็ก ๆ ด้วย“เพราะการจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น…

จะต้องแก้ที่ราก เช่นสร้างโอกาสให้ผู้คน โดยเฉพาะวัยรุ่น เด็ก ให้ได้อยู่ร่วมกับสังคมที่ดี รวมถึงใส่ใจอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบครอบครัวมีการร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ก็จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงช่วยทำให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าชีวิต สร้างความเอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในจิตใจ” …ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ระบุไว้

’เอื้ออาทร“ สิ่งนี้ ’จางจากสังคมไทย“
’แม้แต่ในครอบครัว“ ก็ ’มีน้อยลง“…
และนี่ก็ ’ยึดโยงฆ่าในครอบครัว!!“.