เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมาที่ผ่านมาโรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดแถลงข่าว “สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า” ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22

** ต่างชาติหนุนไทยคงกฏหมายบุหรี่ไฟฟ้า

ดร.จักดิช เคอร์ ผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคด้านการควบคุมยาสูบ (Dr.Jagdish Kaur, Regional Advisor (Tobacco-Free Initiative) องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรงและอันตรายต่อสุขภาพ ไอบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยและมีสารเคมีอันตราย ซึ่งอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าทำการตลาดกับคนรุ่นใหม่ พัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้มีรสชาติมากกว่า 1,000 กลิ่น เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชน ทุกประเทศควรดำเนินการอย่างเข้มงวดในการลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยการบังคับใช้กฎหมาย/ระเบียบต่างๆ และพัฒนานโยบายที่เหมาะสม ดังนั้น WHO จึงสนับสนุนประเทศไทยคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า

** พบขายบุหรี่ไฟฟ้าแจ้ง สายด่วนสคบ.1166

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้การตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทั้งหมดจึงเร่งขยายเครือข่ายครูและผู้ปกครองทั่วประเทศ เพื่อช่วยสร้างความรู้ และดูแลลูกหลานของเรา อีกทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายสาธารณสุขพร้อมช่วยกันตัดเส้นทางการกระจายบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกเครือข่ายมีแผนขับเคลื่อนในพื้นที่ของตนเพื่อปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งในฐานะผู้แทนจากภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ขอประกาศปฏิญญา สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า ว่า 1. ขอเรียกร้องให้รัฐสภา ‘คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ มากกว่าผลกำไรและภาษี 2. ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ จริงจัง เคร่งครัด และไม่เรียกรับผลประโยชน์ 3. จะเฝ้าระวัง เปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเยาวชน และกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านองค์กร บุคคล สื่อ ให้สังคมรับรู้ 4. จะร่วมมือกันส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนได้มาร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า พบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โทร. 1166 สายด่วนสคบ. และ 1599 สายด่วนตำรวจ

** “บุหรี่ไฟฟ้า” ประตูสู่การสูบบุหรี่มวน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบ สสส. จึงต้องเร่งสานพลังทุกภาคส่วน เสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีชุดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า คู่ขนานไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และการรณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ทุกชนิด เพราะการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวมีผลต่อเด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรม ส่งผลให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ จากข้อมูลการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ 6,045 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco control ปี 2567 ระบุว่า เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่มวนและเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย สะท้อนถึงความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบของไทยอย่างยั่งยืน

** สถิติจับกุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าใหวัยรุ่นสูงต่อเนื่อง

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากรายงานของกรมการปกครอง มีการจับกุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่วัยรุ่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่ามีกลุ่มวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สถานการณ์นี้ไม่สามารถมองเป็นเรื่องเล็กได้ เพราะเกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอน และพัฒนาการที่ดีของเยาวชน ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีนโยบายในการปราบปรามปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนาคตของเยาวชนไทย โดยมีแนวทางการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ดังนี้ 1. เน้นย้ำสถานศึกษาในสังกัด ให้ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 2. ประสานสถานีตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางแผนร่วมออกตรวจบริเวณหน้าประตูโรงเรียน รวมทั้งในและนอกสถานศึกษาทุกวัน และให้สถานศึกษาต้องเป็นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3. ให้สถานศึกษาบูรณาการให้องค์ความรู้ รู้เท่ากันพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 4. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวบรวมรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษา

** มติสมัชชาสุขภาพ ปกป้องเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้า

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า และแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ โดยมีการรับรอง “มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ดังนี้ 1. สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องและทันเหตุการณ์ 2. เฝ้าระวังและกำหนดมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการ เพื่อกำกับการนำเสนอเนื้อหาสาระและการผลิตสื่อภาพยนตร์หรือสื่อวีดิทัศน์ 3. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย 4. สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม และภาควิชาการ กับกลไกในระดับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. เป็นแบบอย่างที่ดีไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงปกป้องไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 6. คงนโยบายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันการแทรกแซงนโยบายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา เห็นชอบ เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ