สัตว์เลี้ยงในกลุ่มนี้เป็นสัตว์เลี้ยงที่เรามักจะเรียกรวม ๆ กันว่า สัตว์เลี้ยงเอ็กโซติก หรือเป็นสัตว์แปลกต่างถิ่นที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง
สัตว์เลี้ยงเอ็กโซติก หรือสัตว์แปลกต่างถิ่น มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันหลายชื่อ แล้วแต่ผู้พูดว่าจะสื่อความหมายถึงอะไร ดังนั้น สัตว์เลี้ยงชนิดนี้อาจจะเรียกชื่ออื่น ๆ ได้อีกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ สัตว์เลี้ยงวิเทศ สัตว์แปลก สัตว์แปลกต่างถิ่น สัตว์เอ็กโซติก หรือสัตว์ประหลาด ซึ่งจะสื่อความหมายเดียวกัน สัตว์เลี้ยงเอ็กโซติก หมายถึง สัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีความแปลก แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงสวยงามทั่วไป เป็นสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติมาก่อนทั้งในและต่างประเทศ แล้วมนุษย์นำมาเลี้ยง เพาะขยายพันธุ์จนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยง เป็นสัตว์ที่มีลักษณะที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ หลงใหล น่ารัก สงสาร ไม่อยากตามใคร อยากเท่ อวดรวย เสริมบารมี อนุรักษ์ หรือธุรกิจเพาะเลี้ยงต่าง ๆ นอกจากนั้นความหมายของสัตว์เลี้ยงเอ็กโซติกหรือสัตว์แปลกต่างถิ่น ยังรวมไปถึงลักษณะแปลกจากสรีระร่างกายที่พิการ เช่น เต่า 2 หัว ปลาลำตัวสั้น สัตว์ไร้ขน และ/หรือ ลักษณะที่มีความหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ อยู่ไม่ได้ในธรรมชาติ เช่น ลักษณะเผือก ลักษณะของสีลำตัว ลวดลายหรือโครงสร้างสัดส่วนที่มีลักษณะไม่เหมือนใคร หายาก เป็นต้น
สำหรับการจำแนกกลุ่มและประเภท เนื่องจากสัตว์เลี้ยงชนิดนี้มีจำนวนชนิดหรือสปีชีส์ (species) มากมายจนอาจจะทำให้เกิดความสับสนในการจดจำและแบ่งกลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการรู้จักสัตว์ชนิดนี้ จึงสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเป็นประเภทกว้าง ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือเป็นสัตว์ที่มีและไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งการจำแนกโดยละเอียดในแต่ละกลุ่มลึกลงไป เป็นดังนี้ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แบ่งเป็น ไม่มีขา จะเป็นพวกหนอน หนอนพยาธิต่าง ๆ ซึ่งสัตว์ในกลุ่มนี้ไม่นำมาเป็นสัตว์เลี้ยง, สัตว์ขาปล้อง (Arthropod Insects & Crustacea) มีขาเป็นปล้อง ๆ จะมีเปลือกแข็งหุ้มบริเวณลำตัวขนาดของลำตัวแบ่งเป็นส่วน ๆ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอกและส่วนท้อง ซึ่งสัตว์ขาปล้องบางจำพวกอาจจะมีส่วนหัวและส่วนอกที่เชื่อมต่อกันเป็นส่วนเดียวกันด้วยก็ได้ มีขา 6 ขา พวกแมลง มด ผีเสื้อ ตั๊กแตน ด้วงกว่าง ที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้แก่พวก ด้วงกว่าง กว่าง 5 เขา มีขา 8 ขาหรือมากกว่า พวกแมง เช่น แมงมุม แมงป่อง ได้แก่ แมงมุมทารันทูล่า หรือบึ้งที่เขาเรียกกันในประเทศไทย แมงป่องช้าง แมงมุมแม่หม้ายดำ แดง มีขามากมาย ได้แก่ กิ้งกือ (millipede) และตะขาบ (centipede) มีเปลือกหุ้มตัวลำตัวเป็นปล้อง (crustacean) โดยมีรยางค์ ยื่นออกมาเป็นคู่ คือ กุ้ง ปู ที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ กุ้งเครฟีช (crayfish) ปูเสฉวน (hermit crab), สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ สัตว์เลือดเย็นและเลือดอุ่น สัตว์เลือดเย็น เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ได้ในยามที่อุณหภูมิสภาพแวดล้อมขึ้น ๆ ลง ๆ อุณหภูมิร่างกายภายในตัวเขาก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามไปด้วย แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibian) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ กบฮอร์นฟอร์ก (horn frog) ซาลามานเดอร์ (salamander) นิวต์ (newt) กบต้นไม้ตาแดง (red eye tree frog) และกบพิษที่มีสีสันสวยงามฉูดฉาดบาดตา
สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยลงไปอีก ได้แก่ งู (snake) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ งูบอล ไฟตัน (ball python) งูคอร์นสเนก (corn snake) ทั้งหลาย เต่า (turtle) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ เต่าบก เต่าน้ำชนิดต่าง ๆ ซูลคาต้า (sulcata) ลีโอพาร์ด (leopard) คอมมอน สแนปปิ้ง (common snapping) อัลลิเกเตอร์ (alligator) เต่าญี่ปุ่น (red eared slider turtle) กิ้งก่า (lizard) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ กิ้งก่าคาเมเลี่ยน อีกัวน่า (iguana) จิ้งจก ตุ๊กแก เบี๊ยดดรากอน (beard dragon) เตกู (tegu) มอนิเตอร์หรือตัวเหี้ย (monitor) ปลา (Fish) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ปลาช่อนอเมซอน (arapaima) ปลาทะเล ปลากระเบน (stingray)
สัตว์เลือดอุ่น แบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่ สัตว์ปีก (Birds) สวยงาม ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ นกแก้วอเมซอน (amazon parrot) ซันคอนัว (suncornure) กระตั้ว (cockatail) เลิฟเบิร์ด (lovebird) หงส์หยก (budgerigar) คีรีบูน (canary) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammals) แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มย่อยชัดเจน คือ Non-human primate สัตว์เลี้ยงในตระกูลลิงขนาดเล็ก (ที่สุดในโลก) ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ลิงมาร์โมเซท (marmoset) คาปูชิน (capucin) ทามาริน (tamarin) Small mammals เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและบางชนิดมักจะถูกเข้าใจผิดว่าอยู่ในกลุ่มถัดไปหรือกลุ่มของสัตว์ฟันแทะ ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ กระแต (tree shrew) ชูการ์ไกลเดอร์ (sugar glider) เม่นแคระ (hedgehog) เฟนเนกซ์ ฟอกซ์ (fennec fox) แมวคาราคัล (caracal cat) หมูแคระเวียดนาม ม้าแคระ
สัตว์ฟันแทะ (rodents) เป็นสัตว์ที่มีฟันตัดหรือฟันหน้า 2 คู่ บนและล่างงอกยาวตลอดชีวิต จึงต้องมีการลับฟันอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ฟันงอกยาวเกินไป ที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ได้แก่ หนูไมซ์ (mice) แรท (rat) แฮมสเตอร์ (hamster) ตะเภา (guinea pig ; cavy) กระรอก (squirrel) กระถิก ชิบมั้ง (chipmunk) คาปีบาร่า (capybara) ชินชิลลา (chinchilla) เดกู (degu) เจอร์บิล (gerbil) เจอร์บัว (jerboa)
กระต่าย Lagomorph (Rabbit) ไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ เนื่องด้วยกายวิภาคของช่องปากมีความแตกต่างไปจากสัตว์ฟันแทะ เพียงแค่มีตุ่มฟันขนาดเล็กคู่หน้างอกซ้อนอยู่ข้างหลังฟันตัดคู่บนอีกทีหนึ่ง จึงทำให้กระต่ายจะมีฟันตัดคู่บน 2 คู่ คู่ล่าง 1 คู่ เลยต้องมาถูกจำแนกกลุ่มแยกออกมาเพียงลำพัง
จะเห็นได้ว่า สัตว์แปลกต่างถิ่นที่กล่าวถึงไปทั้งหมดในข้างต้นนั้นมีมากมายหลากหลายชนิดจนทำให้บางครั้งเราเข้าใจผิดและสับสนในการจำแนกว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มไหนบ้าง เพื่อน ๆ เขาที่มีความโดดเด่นมีชนิดใดบ้าง เมื่อเราทราบที่มาที่ไปดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เราเริ่มต้นในการศึกษาการเลี้ยงสัตว์แปลกต่างถิ่นเหล่านี้ได้อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา และจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น การเลี้ยงการดูแลที่ถูกต้อง และปัญหาชีวิตและสุขภาพของการเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นได้อย่างทันท่วงทีและช่วยเหลือให้เขาอยู่อย่างแข็งแรงปลอดภัยไปตลอดอายุขัยของเขา เมื่อเราเริ่มต้นทราบแล้วว่าอะไรเป็นอะไร สัตว์ชนิดไหนต้องการแบบไหน อะไรบ้าง หลังจากนั้น เราจึงต้องศึกษาลงรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเขาในการเลี้ยงไปศึกษาไป จะทำให้เรารู้สึกสนุกสนานไม่น่าเบื่อ มีเพื่อนต่างชนิดต่างเผ่าพันธุ์ไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา ท้าทายและต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อเราพร้อมที่จะเลี้ยงแล้ว ข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญที่สุดก่อนจะไปซื้อเขามาเลี้ยง เราต้องตระหนักไว้อยู่เสมอและบ่อยๆครั้งเอาไว้ว่า “สัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยง หาอาหารและน้ำกินเองไม่ได้ พวกเขาเหล่านั้นต้องพึ่งพาอาศัยเรา เจ้าของที่ตัดสินใจซื้อหาเขามาเลี้ยง” และนอกจากนั้น ก่อนซื้อถามตัวเองให้ถี่ ๆ บ่อย ๆ ว่า “มีเวลาว่างให้กับพวกเขาหรือไม่” การซื้อพวกเขามาจะเปรียบเสมือนความรับผิดชอบที่เราจะต้องเสียสละเวลาของเรามาดูแลพวกเขา และสุดท้ายคือ “ชอบจริง ๆ หรือโหนกระแส อวดโชว์?” “แล้วถ้าเบื่อหรือถูกกัดขึ้นมาจะทำอย่างไร” คิดให้ดีก่อนจะตัดสินใจซื้อมาเลี้ยง จะทำให้ทั้งเราและเขามีความสุขทั้งสองฝ่ายแบบไม่ต้องทรมาน หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการเริ่มเลี้ยงสัตว์แปลกต่างถิ่นเหล่านี้.