ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงการที่สหรัฐเตรียมนำระบบขีปนาวุธร่อนพิสัยทำการระยะไกล ไปติดตั้งที่เยอรมนีในปี 2569 ตามนโยบายด้านความมั่นคงยุโรปขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ว่า “เป็นการเตรียมการเป็นระยะ” สำหรับการเตรียมติดตั้งขีปนาวุธที่ล้ำสมัยกว่านั้นแบบระยะยาวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เอ็มเอส-6 โทมาฮอว์ก และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

ปูตินกล่าวต่อไปว่า ระยะเวลาการเดินทางของขีปนาวุธเหล่านี้ ซึ่งบางแบบสามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ อยู่ที่ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น หากมีการยิงมาทางรัสเซีย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นเจตนายั่วยุและกระตุ้นความรุนแรง ไม่ต่างอะไรกับที่สหรัฐนำระบบอาวุธไทฟูน ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กได้ ไปติดตั้งที่ฟิลิปปินส์และจีน และการที่นาโตนำระบบขีปนาวุธแบบทิ้งตัว “เพอร์ชิง ทู” ไปติดตั้งในยุโรปตะวันตก เมื่อปี 2522

ทหารฟิลิปปินส์และทหารสหรัฐฝึกซ้อมการใช้ปืนใหญ่สนาม ฮาวอิตเซอร์ ขนาด 105 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมรบประจำปี “บาลิกาตัน” หรือ “เคียงบ่าเคียงไหล่” ที่จังหวัดนูเอวาเอซีฮา บนเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567

ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า รัฐบาลมอสโก “พร้อมตอบโต้แบบเดียวกัน” ด้วยการติดตั้งระบบขีปนาวุธบนพื้นที่แห่งใดก็ตาม เพื่อให้มีระยะพิสัยทำการไกลถึงตะวันตก

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวว่ารัสเซียควรกลับมาผลิตขีปนาวุธซึ่งเคยต้องระงับผลิตไป ตามเงื่อนไขของข้อตกลงควบคุมการผลิตและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ระดับทวิภาคี ที่ลงนามร่วมกับสหรัฐในสมัยสงครามเย็น

อนึ่ง รัฐบาลวอชิงตันเมื่อปี 2561 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ( ไอเอ็นเอฟ ) ที่ลงนามร่วมกับรัฐบาลมอสโกเมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามเย็นและปลายยุคสหภาพโซเวียต โดยให้เหตุผลว่า รัสเซียละเมิดข้อตกลงก่อน จากการเดินหน้าพัฒนาโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนนำวิถีจากพื้นสู่พื้น “เอสเอสซี-8” หรือ “9 เอ็ม 729” ต่อจากนั้นไม่นาน รัสเซียประกาศถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟ ส่งผลให้ข้อตกลงมีอันยุติอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ส.ค. 2562

ขณะเดียวกัน ปูตินวิจารณ์การที่ตะวันตกยังคงไม่หยุดสร้างภาพลักษณ์ และการรับรู้ให้กับชาวโลกว่า “รัสเซียคือศัตรู” มีแต่จะเป็นอันตรายย้อนศรกลับไปยังอีกฝ่ายเท่านั้น ปูตินเน้นย้ำว่า รัสเซียไม่เคยมี “ความใฝ่ฝันเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม” และไม่เคยมีแผนเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตี กับดินแดนของประเทศสมาชิกนาโต

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เดินผ่านแถวทหารเกียรติยศ ระหว่างร่วมพิธีไว้อาลัย ที่สุสานทหารนิรนาม ใกล้กับทำเนียบเครมลิน ในกรุงมอสโก ในวาระครบรอบปีที่ 83 กองทัพนาซีรุกรานสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม หากรัสเซียเป็นฝ่ายถูกคุกคามหรือถูกโจมตีก่อน รัฐบาลมอสโกไม่ลังเลที่จะตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตามหลักการด้านนโยบายของประเทศ และกล่าวว่า จนถึงตอนนี้ สหรัฐเป็นประเทศแห่งเดียวบนโลก ซึ่งใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในสงคราม กล่าวคือ การโจมตีเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ในช่วงปลายสงครามโลก เมื่อปี 2488

นอกจากนี้ ปูตินซึ่งสั่งให้กองทัพรัสเซียซ้อมรบนิวเคลียร์เชิงยุทธิวิธี ตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กล่าวด้วยว่า การที่บรรดากลุ่มประเทศตะวันตกเปิดหน้าสนับสนุน ให้กองทัพยูเครนใช้อาวุธซึ่งได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก ในการโจมตีเป้าหมายที่อยู่ในรัสเซีย “เป็นการยั่วยุอย่างร้ายแรง” และเป็นเจตนากระตุ้นความรุนแรงด้วย เนื่องจากอาวุธเหล่านั้นมีความซับซ้อน และยังคงจำเป็นต้องมีการควบคุมโดยบุคลากรของตะวันตก

ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า เมื่ออีกฝ่ายมองว่า การจัดส่งอาวุธลักษณะนี้เข้าสู่สมรภูมิ “เป็นความชอบธรรม” ดังนั้น รัฐบาลมอสโกมีสิทธิที่จะตอบสนองในระดับเดียวกัน ด้วยการติดตั้งอาวุธบนดินแดน ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานโจมตี “สถานที่เปราะบาง” ของประเทศซึ่งต้องการโจมตีแบบเดียวกันกับรัสเซีย

อีกด้านหนึ่ง จีนประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ระงับการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับสหรัฐ จากการที่รัฐบาลวอชิงตันยังคงขายอาวุธให้ไต้หวัน รัฐบาลปักกิ่งให้เหตุผล ว่าแม้การซื้อและขายอาวุธระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน และการพบหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย “ยังคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด” แต่ “ถือเป็นการบ่อนทำลายบรรยากาศทางการเมืองในภูมิภาคอย่างร้ายแรง ทว่ายังคง “แง้มโอกาส” ว่าจีนยังคงพร้อมรักษาช่องทางการติดต่อกับสหรัฐ ในเรื่องของการควบคุมอาวุธระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการมีความไว้วางใจ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ขณะที่สหรัฐตอบกลับท่าทีของจีน “เป็นการเดินตามรัสเซีย” ด้วยการที่รัฐบาลปักกิ่งอ้างเหตุผลว่า “การเจรจาเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธไม่สามารถเดินหน้าได้ หากมีปัจจัยอื่นที่ถือเป็น “ความท้าทาย” ให้กับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี” ซึ่งสหรัฐมองว่า การตัดสินใจของจีน “บ่อนทำลายเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์” และจะเป็นการกระตุ้นกลไกการแข่งขันด้านอาวุธ

เจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจติดอาวุธประชาชนจีนฝึกซ้อมการยิงจรวด ที่เมืองหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนต.ค. 2566 กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่รายงาน ว่าด้วย “พัฒนาการทางทหารและความมั่นคงของจีน” คาดการณ์จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีน “มากกว่า 500 ลูก” เมื่อเดือน พ.ค. 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ช่วยเสริมสร้างให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ( พีแอลเอ ) มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองเพิ่มเป็น 1,000 หัว ภายในปี 2573 และ “หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางใด” จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีนจะเพิ่มเป็น 1,500 ลูก ภายในปี 2578 “ซึ่งเร็วกว่าที่สหรัฐคาดการณ์ไว้มาก”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า รัสเซียและจีน กำลังงัดข้อกับสหรัฐ ผ่านการใช้นโยบาย “การทูตนิวเคลียร์” แม้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าท่าทีที่มีการแสดงต่อสาธารณชนของทั้งสามประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาซึ่งกำลังดำเนินอยู่มากน้อยเพียงใด แต่การขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในระดับสูง และเชื่อมโยงในหลายมิติ

อีกทั้งหากแต่ละฝ่าย “ไม่มีจุดยืนที่หนักแน่นและมั่นคงเพียงพอ” ในการใช้นโยบายของตน ควบคู่ไปกับชั้นเชิงของการต่อรอง และการประนีประนอม บรรดามหาอำนาจนิวเคลียร์กำลังทำให้ทั้งโลกต้องอยู่บนความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ไปด้วยโดยปริยาย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES