“Campus Life” สัปดาห์นี้ พาไปพบกับ 5 นิสิตนักศึกษาผู้ชนะโครงการ Jaspal Group Scholarship Program 2024 ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น กับผลงานการประกวดออกแบบแฟชั่นภายใต้คอนเซปต์ The Power of Next โดยทั้ง 5 คน นอกจากจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาแล้ว ยังได้รับโอกาสเข้ารับการฝึกงานดีไซเนอร์ระดับมืออาชีพจากแบรนด์ดังในยัสปาล กรุ๊ปด้วย
สำหรับนิสิตนักศึกษาทั้ง 5 คน ได้แก่ “ณิชาภัทร แก้วธำรงค์” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, “ขวัญข้าว พันธุ์พิทยุตม์” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “ปิยบุตร วลีเกียรติกุล” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, “ชาติชาย ศรีเพิ่มพันธ์” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “มาย พฤกษากิจเจริญ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…เรามาฟังความรู้สึกของนิสิตนักศึกษาทั้ง 5 คน ที่ผ่านการคัดเลือกสุดหิน จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program 2024 กันเลย!
เริ่มจาก “ณิชาภัทร แก้วธำรงค์” บอกว่า โครงการ Jaspal Group Scholarship Program 2024 เป็นโครงการที่น่าสนใจ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาในสายงานแฟชั่นได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ จึงอยากหาประสบการณ์ที่เพิ่มเติมมากขึ้นจากในห้องเรียน และเป็นโอกาสที่ดีในการได้เข้ามาฝึกงานในองค์กรระดับใหญ่อย่างยัสปาล กรุ๊ป เพื่อที่ได้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรก ได้ลองลงมือทำจริงๆ โดยถ้าเราต้องเป็นดีไซเนอร์จริงๆ จะตีโจทย์คอลเลกชั่นออกมาอย่างไร จึงจะทำเสื้อผ้าออกมาขายจริงได้ เป็นสิ่งที่ท้าทายจนอยากที่จะเรียนรู้และลงมือทำ รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รับคัดเลือก โดยจะนำเงินทุนการศึกษาที่ได้รับไปพัฒนาผลงานศิลปนิพนธ์ (Thesis) และเก็บประสบการณ์จากการฝึกงานไปต่อยอดสายอาชีพในอนาคต
ต่อกันที่ “ขวัญข้าว พันธุ์พิทยุตม์” เผยว่า ได้ตีโจทย์ผลงานเข้าร่วมประกวดจากการศึกษาจากเทรนด์ของ WGSN (World Global Style Network) มาวิเคราะห์แนวทาง จึงออกมาเป็นผลงานที่ส่งเข้าประกวด โดยรู้สึกภูมิใจมากๆ ที่ได้รับการคัดเลือก และมองว่าการฝึกงานที่ยัสปาล กรุ๊ป จะทำให้ได้องค์ความรู้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของสายงานอุตสาหกรรมแฟชั่น และในอนาคตตั้งเป้าที่อยากจะทำงานในวงการนี้ พร้อมเปิดโอกาสให้กับตัวเองไม่ว่าจะเป็นงานดีไซเนอร์ งาน Marketing หรือ งาน Merchandise ก็ตาม
ส่วน “ปิยบุตร วลีเกียรติกุล” บอกว่า ภูมิใจที่ผลงานการออกแบบได้รับการคัดเลือก โดยได้ตีโจทย์ The Power of Next ออกมาในรูปแบบ Sustainability ที่อยากจะพัฒนาสินค้าแฟชั่นให้มีความยั่งยืนในอนาคต ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ จึงมองว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนแรก ทั้งการเลือกวัสดุที่มีการผสมในส่วนของใยธรรมชาติที่มอบสัมผัสการสวมใส่ที่สบายตัว และโพลีเอสเตอร์ที่มีความคงทน รวมไปถึงการดีไซน์ให้สามารถใส่ซ้ำได้ เพิ่มโอกาสในการใช้งานได้มากขึ้น และนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการได้เข้ามาฝึกงานเพราะจะได้เรียนรู้จากพี่ๆดีไซเนอร์มืออาชีพที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อเสริมทักษะ สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดียิ่งขึ้น เป็นประสบการณ์ที่ได้มากกว่าในห้องเรียนอย่างแน่นอน
ขณะที่ “ชาติชาย ศรีเพิ่มพันธ์” กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากพิสูจน์ตัวเองในด้านของประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ผลงาน และไม่เห็นโครงการลักษณะนี้ได้บ่อยๆ จึงได้ลองส่งผลงานเข้ามาประกวด อีกทั้งอยากได้รับประสบการณ์การทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งการวางระบบในการทำงานจริง การจัดสรรรูปแบบผลงาน ให้ออกมาเป็นคอลเลคชั่นที่สมบูรณ์แบบ ผลิตออกสู่ตลาดได้จริง
ปิดท้ายกันที่ “มาย พฤกษากิจเจริญ” เผยว่า อยากเพิ่มเติมความรู้ให้ครอบคลุมจากที่เรียนมา จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยได้ส่งผลงานการออกแบบผ่านดีไซน์ดอกกล้วยไม้ Aganisia Cyanea Orchid ที่เป็นดอกไม้ที่หายาก มีสีสันเฉพาะตัว เปรียบเสมือนเด็กรุ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้วยความสามารถของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน โดยพลังของรุ่นใหม่จะช่วยผลักดันให้องค์กรเดินหน้าต่อไปในยุคสมัยใหม่แห่งอนาคตได้ จึงคิดว่าการได้รับโอกาสในครั้งนี้ จะได้เพิ่มพูนความรู้ที่มีให้จากการฝึกงานที่ยัสปาล กรุ๊ป
โครงการ Jaspal Group Scholarship Program 2024 ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะทั้ง 5 คน ยังต้องโชว์ฝีมือในการออกแบบแฟชั่นโชว์นำเสนอผลงานรอบสุดท้าย ตัดเย็บคอลเลกชั่นเสื้อผ้าชุดจริง พร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์ตามไอเดียตัวเอง ตอบโจทย์ “The Power of Next” ในช่วงปลายปี 2567 ด้วย