แต่ในอีกมุมสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆนั่นคือ การใช้แบบนันทนาการ ซึ่งสะท้อนผ่านสถิติบำบัดผลพวงการใช้กัญชาในทางผิด(วัตถุประสงค์)

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขสถานการณ์ผ่าน“ทีมข่าวอาชญากรรม” โดยระบุ ตัวเลขประมาณการจำนวนประชากรอายุ 18-65 ปี ที่ใช้สารเสพติดในช่วงปี 64-66 มีแนวโน้มการใช้“สารเสพติด”เพิ่มมากขึ้น

เห็นได้จากการสำรวจครัวเรือน เพื่อประมาณการจำนวนผู้ใช้สารเสพติดทั่วประเทศ พบว่าในปี 65 มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นของผู้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ โดยมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการแก้ไขกฎหมาย นำพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เปิดกว้างให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการสำรวจทัศนคติและประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาและสารเสพติดใน 30 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่าปี 66 มีประชากรอายุ 18-65 ปี ใช้กัญชาแบบนันทนาการใน 1 ปีที่ผ่านมา 9,900,000 คน ทั้งในรูปแบบสูบ กิน ดื่ม ประกอบด้วย การใช้กินหรือดื่ม 8,100,000 คน และใช้แบบสูบ 2,800,000 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขในปี 66 จะลดลงมาจากปี 65 แต่ยังสูงกว่าปี 64 มาก และค่าประมาณการพบว่า มีเยาวชน อายุ 18-19 ปี กว่า“แสนคน”ในปี 66 ที่ใช้กัญชาแบบนันทนาการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

รศ.พญ.รัศมน ชี้ให้เห็นถึงจำนวนการประมาณการผู้ใช้สารเสพติด“ผิดกฎหมาย”ในช่วงปี 62-66 โดยเฉพาะผู้ใช้กัญชากลุ่มประชากรอายุระหว่าง 12-65 ปี (ข้อมูลจากเครือข่ายวิชาการ ป.ป.ส. และโครงการย่อยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด) ดังนี้

ปี 62 จำนวนประชากรกรอบการสำรวจ 50,292,429 คน จาก 27 จังหวัด เคยใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ(ในช่วงชีวิต) 1,703,299 คน , ในช่วง 1 ปี 668,157 คน , ในช่วง 30 วัน 503,021 คน

ปี 63 จำนวนประชากรกรอบการสำรวจ 47,007,000 คน จาก 20 จังหวัด เคยใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ(ในช่วงชีวิต) 2,847,651 คน , ในช่วง 1 ปี 1,155,332 คน , ในช่วง 30 วัน 920,742 คน

ปี 64 จำนวนประชากรกรอบการสำรวจ 44,589,353 คน จาก 20 จังหวัด เคยใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ(ในช่วงชีวิต) 3,370,386 คน , ในช่วง 1 ปี 2,228,343 คน , ในช่วง 30 วัน 1,770,702 คน

ปี 65 จำนวนประชากรกรอบการสำรวจ 44,546,992 คน จาก 20 จังหวัด เคยใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ(ในช่วงชีวิต) 12,918,662 คน , ในช่วง 1 ปี 11,105,989 คน , ในช่วง 30 วัน 9,067,822 คน

ปี 66 จำนวนประชากรกรอบการสำรวจ 44,508,049 คน จาก 30 จังหวัด เคยใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ(ในช่วงชีวิต) 12,192,366 คน , ในช่วง 1 ปี 9,847,741 คน , ในช่วง 30 วัน 7,582,955 คน

รศ.พญ.รัศมน เผยด้วยว่า ในจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดผลแทรกซ้อนจากการใช้สารเสพติด หรือโรคที่เกิดจากสารเสพติด ได้มีการศึกษาโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบจำนวนผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาด้วยสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ อันเนื่องมาจากโรคที่เกิดจากการใช้กัญชา ได้แก่

ผู้ป่วยในรหัสโรค F125 (กลุ่มอาการผิดปกติแบบโรคจิตจากกัญชา) F120 (กลุ่มอาการเป็นพิษเฉียบพลันจากกัญชา) F122 (กลุ่มอาการติดกัญชา) และ F121 (กลุ่มการใช้กัญชาแบบอันตราย) จำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี 65-66

ดังนั้น จะพบว่ามีมูลค่าต้นทุนเบื้องต้นทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สูญเสียจากการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 3,200-3,900 ล้านบาท ในปี 62-564 เพิ่มขึ้นเป็น 16,000-21,000 ล้านบาท ในปี 65-66 .

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]