ปลายเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เรื่องเกี่ยวกับ “ทุนมังกรจีนในไทย” เกิดกระแส “ประเด็นร้อน” อีกครั้งไล่เลี่ยกัน 2 กรณี โดยกรณีแรกเป็นกระแสขึ้นเมื่อมีผู้พบการติดตั้ง “ป้ายโฆษณารับทำวีซ่า” เป็นภาษาจีน ที่เนื้อหาการโฆษณาเกิดข้อกังขาอื้ออึง?? ส่วนอีกกรณีเป็นกระแสหลังมีผู้โพสต์โซเชียลเป็นภาพ “ซูเปอร์มาร์เกตสินค้าจีน” ในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ซึ่งทั้ง 2 กรณีมีเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่?? และทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่อง “ทุนมังกรจีนบุกไทย” อีกครั้ง หลังเงียบไประยะหนึ่ง…

ถ้าไม่ผิด…ยุคการค้าเสรีนี่ก็ไม่แปลก
แต่…ยังไง “ไทยก็จะต้องมีการรับมือ”
ก็… “ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการไทย!!”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ร่วมคณะสื่อมวลชนไปกับ “ชมรมบัวหลวง SME” ภายใต้การสนับสนุนของ “ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” ไปเยี่ยมชมผู้ประกอบการที่ปัจจุบันสามารถ “Transformation” เพื่อสู้ในโลกการค้ายุคดิจิทัลได้ ซึ่งในโอกาสนี้ก็มีกิจกรรมเสวนาย่อย ๆ ให้ผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนมุมมอง-ประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้วย และกับประเด็น “เสียงสะท้อนต่ออนาคตเอสเอ็มอีไทย ภายใต้สถานการณ์ถูกสินค้าราคาต่ำจากจีนบุก” นี่ก็น่าสนใจ-น่าคิด…

ถ้าหาก “ไม่มีตาข่ายไว้รองรับ” ล่ะก็…
“เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงชักแถวพับฐาน!!”

เกี่ยวกับกรณี “อนาคตเอสเอ็มอีไทยน่าเป็นห่วง” ภายใต้สถานการณ์นี้ ทาง กำพล กุลวรานนท์ ประธานชมรมบัวหลวง SME ได้มีการเสนอไว้ว่า… รัฐบาลจำเป็นต้องรีบแก้ไขเร่งด่วน ก่อนที่เอสเอ็มอีไทยจะยิ่งไปไม่รอด!! ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า…รัฐบาลยังไม่ค่อยโฟกัสเท่าที่ควร ต่างจากการโปรโมตเรื่องเซอร์วิสการท่องเที่ยว ขณะที่ เอสเอ็มอีไทยกำลังเจอ “วิกฤติ” หลายด้าน โดยเฉพาะ “สินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศตีตลาดไทย” ที่เป็นผลจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าต่างประเทศมาถึงไทยได้เร็วมาก อีกทั้งสินค้าที่เข้ามายังราคาต่ำ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เนื่องจากไม่ต้องมีกฎระเบียบเรื่องมาตรฐาน ไม่ต้องมีต้นทุนเกี่ยวกับกฎระเบียบ เหมือนสินค้าไทย

นอกจากนี้ ประธานชมรมบัวหลวง SME ยังสะท้อนอีกว่า… “สินค้าจากต่างประเทศราคาต่ำ” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาตอนนี้ ก็เช่นสินค้ากลุ่ม เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง ของใช้ประจำวัน ที่สร้างผลกระทบรุนแรง ทำให้ “ผู้ผลิตสินค้าของไทยค่อย ๆ ทยอยปิดกิจการ” ไปส่วนหนึ่งแล้ว เพราะ “สู้สงครามราคาไม่ไหว!!” ซึ่งถ้าสังเกตย่านสำเพ็งและเยาวราชดูก็จะพบว่าปัจจุบันมีกิจการหลายแห่งปิดตัวไป เพราะสู้สินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศไม่ได้ สู้สงครามราคาไม่ไหว ซึ่งถ้ารัฐไม่เร่งแก้ปัญหานี้ ไม่เพียงผู้ประกอบการไทยจะพากันล้มหายตายจาก แต่ เม็ดเงินจะรั่วไหลออกไปนอกประเทศมาก อีกด้วย!!

ส่วน “ข้อเสนอ” นั้น ทางประธาน ชมรมบัวหลวง SME ระบุว่า… แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือรัฐบาลกับภาคเอกชน ส่วนที่สองคือกลุ่มเอสเอ็มอี โดย รัฐบาลกับเอกชนควรต้องจับมือกันให้แน่นขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะการค้า รวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วย ขณะที่ เอสเอ็มอีเองก็ต้องปรับตัว แลกเปลี่ยนข้อมูล แชร์ประสบการณ์กันและกัน เพื่อให้เพื่อนเอสเอ็มอีใช้เป็นกรณีศึกษา อย่างกิจกรรมที่จัดครั้งนี้ ที่เป็นการดูงานเอสเอ็มอีเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นี่ก็กรณีศึกษาที่ดีในด้านการนำนวัตกรรมกับเทคโนโลยีเอไอมาใช้ ส่งผลให้ ต้นทุนลดลง แต่ สินค้าคุณภาพดีขึ้น ดังนั้น ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ…

สินค้าไทย” ก็ยัง “พอจะสู้ในตลาดได้”

ทางด้าน สมพงษ์ วาทินชัย ผู้บริหารบริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ ผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นกรณีศึกษาการดูงานครั้งนี้ ระบุว่า… การมีสินค้าจากต่างประเทศตีตลาดในไทย ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบแล้วกว่า 60-70% โดยเฉพาะ สินค้าจากจีน” ที่มีจุดขายเรื่อง “ราคาต่ำ” จน “สินค้าไทยสู้หรือแข่งด้วยไม่ได้” เพราะสินค้าค้าจีนที่เข้ามาไม่มีเรื่องมาตรฐาน ไม่มีต้นทุนโรงงาน แถมไม่มีเรื่องภาษีนำเข้า จึงแย่งตลาดได้ไม่ยาก และไม่เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็กระทบ โดยสัดส่วนรายได้ตกลงไปถึง 30% ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้ก็คือการช่วยเหลือจากรัฐ

อยากให้รัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีมากกว่านี้ โดยเฉพาะทุนทำ R&D เพราะส่วนตัวเห็นว่ารัฐไม่ค่อยมองเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีไทยได้ ทั้งที่แต่ก่อนเคยมีมาตรการเรื่องนี้ดีมาก เช่น รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายการทำวิจัยให้ครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้ดูเหมือนการสนับสนุนด้านนี้จะน้อยลง” …ทางผู้ประกอบการรายนี้ระบุ

และนอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายเดิมยังชี้ “วิกฤติที่เอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญจากสินค้าต่างประเทศราคาต่ำบุกตลาด” ไว้ด้วยว่า… ไทยยัง ไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ ที่ทำให้เสียหายเยอะมาก ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการควบคุม ถามว่า เอสเอ็มอีไทยจะอยู่ยังไงไหว?? เพราะค่าแรงสูงกว่า ต้นทุนก็แพงกว่า ต้องผลิตให้ได้มาตรฐานที่มีเยอะแยะ!! ซึ่งตอนนี้ทางรอดก็คือ “สร้างคุณภาพให้ดีที่สุด” เพื่อเอาไว้ “สู้สินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศ” เพราะคงสู้สงครามราคาไม่ได้ ก็ต้องสู้ด้วยนวัตกรรม-มาตรฐานที่เหนือกว่า …นี่เป็นอีกส่วนจาก “เสียงน่าคิด??”

“สินค้าเทศเกรดต่ำ” บุก “เปิดศึกราคา”
“เอสเอ็มอีไทย” ทยอย “พ่ายศึกราคา”
“วิธีสู้” ยัง “มีแค่อัปเกรดสินค้าสู้??”.