“การที่ไม่มีใครช่วยเราเลี้ยงลูก นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลี้ยงลูกด้วยตัวเองไม่ได้”
คิดว่าวันๆหนึ่งในประเทศของเรามีประชาชนเข้าแจ้งความตามโรงพักต่างๆรวมแล้วกี่คดี หลายคนคงเดาว่าไม่หลักสิบก็เกือบหลักร้อยคดี แล้วจะเป็นไปได้มั้ยที่ภายใน 1 วันจะไม่มีการเข้ามาแจ้งความเลย เชื่อว่าอาจจะพอมีแต่คงน้อยโรงพักมาก แล้วถ้าจะบอกว่า สถิติตลอด 1 ปี มันมีพนักงานสอบสวนถึงกว่า 2.8 พันคน ที่ไม่มีคดีให้ทำเลยสักคดีล่ะจะเชื่อมั้ย
เรื่องนี้มันเริ่มมาจาก สํานักงานตรวจสอบภายใน (สตส.) มีบันทึกข้อความถึง ผบช.น. และ ภ.1-9 เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพในสายงานสืบสวนสอบสวน (งานสอบสวน)
เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพในสายงานสืบสวนสอบสวน (งานสอบสวน) โดยให้ยกเลิกคำสั่งที่สั่งการให้พนักงานสอบสวนไปช่วยราชการใน ตร. และนอก ตร. รวมทั้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดให้พนักงานสอบสวนทุกราย อยู่ปฏิบัฏิบัติหน้าที่ในงานสอบสวน และเข้าเวรสอบสวนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
และให้มีการรายงานสถิติการเข้าเวรสอบสวน และเลขคดีที่รับคำร้องทุกข์ในแต่ละเดือนของพนักงานสอบสวนทุกรายในสังกัด ต่อผู้บังคับบัญชาเป็นประจำทุกเดือนนั้น
เนื่องจาก สตส. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในหน่วยงานต่างๆ ของ ตร. ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบทางการเงิน การดำเนินงานตามแผนงาน งานโครงการงานด้านต่างๆ ตลอดจนตรวจสอบ และติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ มติครม. ระเบียบ ข้อบังคับ
หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานใน ตร. ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีที่มีการทุจริตหรือการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ผิดกฎหมาย หรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้นของหน่วยงานใน ตร.
รวมทั้งมีสิทธิและอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล เอกสารและหลักฐานต่างๆ ตลอดจนบุคลากรและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ซึ่งหนังสือ ตร.ดังกล่าวมอบหมายให้ สตส. สุ่มตรวจตามหน้าที่และอำนาจอีกส่วนหนึ่ง โดยหากพบข้อบกพร่องให้ดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจ แล้วรายงานให้ ตร.ทราบ
เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแผนการตรวจสอบภายในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในหน่วยงานต่างๆ ที่จะลดปัจจัยเสี่ยงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่ง สตส.จึงมีหนังสือประสานงานไปยัง ศทก. ขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในรอบปี 2566 ซึ่ง ศทก.มีหนังสือ ลงวันที่ 3 ก.ค.67 ส่งรายชื่อพนักงานสอบสวนแยกตามหน่วยงานที่ไม่มีสถิติการรับคดี และพนักงานสอบสวนที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดี ในรอบปี
จึงประสานมายัง น, ภ.1- 9 ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบว่า การไม่ปรากฏข้อมูลการรับคดีของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนและผู้ที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดีในรอบปี 2566 ในระบบ CRIMES ซึ่งอยู่ในสังกัดหน่วยงานของท่าน เกิดจากสาเหตุใด โดยให้กรอกเหตุผลของพนักงานสอบสวนทุกรายในสังกัด แล้วจัดส่งให้ สตส. ภายในวันที่ 30 ส.ค.67
โดยจากรายงานสรุปพนักงานสอบสวนที่ไม่มีสถิติรับคดี และพนักงานสอบสวนที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดี พ.ศ.2566 ปรากฏว่า จากตัวเลขพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น 5,422 คน ไม่รับคดีเลย 2,819 คน และรับน้อยกว่า 35 คดี 2,603 คน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อจริงๆ พนักงานสอบสวนถึง 2,819 คน ไม่มีคดีให้ทำเลยสักคดีตลอดทั้งปี ตกลงนี่ถ้าไม่ใช่พนักงานสอบสวนผีที่ไม่มีตัวตน พนักงานสอบสวนจำนวนนี้ก้ต้องห้อยพระเกจิที่เข้มขลังแบบสุดๆ ถึงได้แคล้วคลาดจากการรับแจ้งความทำคดีได้ทั้งปี คงต้องจับตาดูกันว่าคำสั่งนี้ของ สตส. จะทำให้เหล่าพนักงานสอบสวนที่มีแต่ชื่อแปะเอาไว้แต่ตัวไม่อยู่ กลับเข้ามาทำหน้าที่ตามตำแหน่งรับผิดชอบได้จริงๆหรือไม่.
ข่าวสารตำรวจ
ร่วมปราบปรามยาเสพติด
พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ จำรูญ ผกก4ทล.ขอนแก่น.มอบหมายให้พ.ต.ท.ศิวกริช ศิษย์บุญรัตน์ รอง ผกก4ทล.ขอนแก่น.ร่วมประชุมปราบปรามยาเสพติดที่ บก.ทล โดยมี พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง, พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รองผู้บังคับการกองปราบปราม ปฏิบัติราชการกองบังคับการตำรวจทางหลวง ,พ.ต.ท.ธัช โพธิสุวรรณ รองผู้กำกับการ 1 ให้การต้อนรับ Mr.Nick Wills หัวหน้าสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (DEA) ประจำประเทศไทย และ Mr.Marc Laing เจ้าหน้าที่พิเศษ DEA ประจำประเทศไทย เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดและยกระดับความร่วมมือระหว่างกองบังคับการตำรวจทางหลวงและสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาในด้านการสืบสวน การข่าว องค์ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการฝึกอบรมทางยุทธวิธีให้กับตำรวจทางหลวงในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยมี รอง ผกก.ทล.ขอนแก่น ร่วมประชุมรับนโยบาย เพื่อนำกลับไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อความปลอดภัยต่อไป
วางศิลาฤกษ์
พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง จ.ระยอง ร่วมจุดเทียนชัยวางศิลาฤกษ์สร้างอาคารอบต.มาบยางพรแห่งใหม่ ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการ อบต.มาบยางพร ซ.มาบยางพร 23 ม.6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
แก้ปัญหายาเสพติด
พ.ต.อ.รักชาติ เรืองเจริญ ผกก.สภ.ชุมแพ จว.ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.ชุมแพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.หนองคะเน ผู้นำหมู่บ้านและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ การติดตามกลุ่มเป้าหมาย และผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เพื่อเข้าร่วมกระบวนการคัดกรองบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามแผนการปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่ชุมชนโนนสำราญ , โคกสูง , โนนแหลมทอง , มีชัย , หนองโดน และชุมชนหนองผือ รวม 6 ชุมชน โดยใช้ชุมชนโนนแหลมทองเป็นศูนย์กลาง ณ ศาลาประชาคมโนนแหลมทอง ต.หนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
แจกข้าวสารและไข่ไก่
พ.ต.ท.จำลอง จันพละ สวป.สภ.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.อุทิศ นิมิตพงศ์พร สว.อก.พร้อมข้าราชการตำรวจจิตอาสา สภ.คลองกิ่ว ร่วมแจกข้าวสารและไข่ไก่ ให้กับประชาชน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมี “หลวงพ่อทัง” พระครูพิมลกิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดกุณฑีธาร (หัวกุญแจ) รองเจ้าคณะอำเภอบ้านบึง เป็นประธานดำเนินงานและประธานพิธี โดยมี นายเพิ่มสิน คณิตวานนท์ ประธาน กต.ตร.สภ.คลองกิ่ว เป็นผู้ประสานงาน โอกาสนี้ “หลวงพ่อทัง” ได้เมตตามอบข้าวสารและไข่ไก่ ให้กับ สภ.คลองกิ่ว อีกด้วย
ประกาศเกียรติคุณ
พ.ต.อ.เจษฎา พานิชวงศ์ ผกก.(กลุ่มงานสอบสวน) ภ.จว.สุพรรณบุรี ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ผู้ที่มีผลงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่น ในปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม สมแล้วกับคำร่ำลือของประชาชนชาวสุพรรณบุรี ที่บอกว่า ผกก.นายนี้ ตัวจริงเสียงจริงในการปราบปรามยานรก แบบนี้ต้องยกนิ้วโป้งขอซูฮกจากใจไปเลย.
*******************************
คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป