ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งลงนามโดยกลุ่มการเมืองปาเลสไตน์ 14 กลุ่ม มีเป้าหมายเพื่อหาจุดร่วมสำหรับสถาบันทางการเมืองของปาเลสไตน์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาลปาเลสไตน์ของพรรคฟาตาห์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ และกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา

แม้นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า พวกเขายังคงพยายามประเมินความสำคัญของข้อตกลงริเริ่มจากจีน แต่นักวิเคราะห์คนหนึ่งชี้ว่า แผนการนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น “กระดาษแผ่นหนึ่ง” เนื่องจากกลุ่มต่าง ๆ ของปาเลสไตน์ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของความล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง

อันที่จริง แนวคิดของรัฐบาลเทคโนแครตหลังสงคราม สำหรับฉนวนกาซา ถูกเสนอมาตั้งแต่ช่วงเดือนแรก ๆ ของความขัดแย้ง หลังเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว

“การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างพรรคฟาตาห์กับกลุ่มฮามาส เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งการเจรจาครั้งล่าสุดในจีน แทบจะไม่มีผลสำเร็จอะไรเลย” นายจูสต์ ฮิลเตอร์มานน์ ผู้อำนวยการตะวันออกกลาง ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) กล่าว

ฮิลเตอร์มานน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การคัดค้านอย่างแน่วแน่ของอิสราเอล ต่อบทบาทในอนาคตของกลุ่มฮามาส ถือเป็นประเด็นร้ายแรงที่สุด ในบรรดาอุปสรรคของข้อตกลงในอุดมคติ ซึ่งเป็นการให้กลุ่มฮามาสเข้าร่วมองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) เพื่อแลกกับการอนุญาตให้รัฐบาลปาเลสไตน์ กลับไปยังฉนวนกาซา ตลอดจนกำกับดูแลความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการฟื้นฟูบูรณะ

ขณะที่ นายมไคมาร์ อาบูซาดา นักวิเคราะห์การเมืองในฉนวนกาซา วิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความคลุมเครือ” ของถ้อยคำในข้อตกลง โดยสำหรับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ข้อตกลงในกรุงปักกิ่งเป็นเพียงกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีแนวคิดของการปฏิรูปพีแอลโอ แต่มันก็ไม่มีการระบุถึงวิธีการรวมกลุ่มฮามาสแต่อย่างใด

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางคนยังตั้งคำถามถึงความจริงใจของความปรารถนาที่จะทำงานร่วมกัน พร้อมกับแสดงความสงสัยว่า ข้อตกลงไม่ใช่สำหรับชาวปาเลสไตน์ แต่มีไว้เพื่อเอาใจเพื่อนชาวจีนเท่านั้น เนื่องจากจีนพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากภูมิภาคนี้ และนั่นหมายความว่า จีนมีส่วนได้ส่วนเสียกับเสถียรภาพในตะวันออกกลางด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น นายเควนติน คูฟเรอร์ นักวิจัยนโยบายต่างประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยไซเอนเซส โพ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลปักกิ่ง คือการส่งเสริมแนวทางแก้ปัญหาทางการเมือง ที่ทำให้การสนับสนุนอิสราเอลของรัฐบาลวอชิงตัน มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

“แนวคิดข้างต้นคือ การทำตัวเป็นมหาอำนาจที่น่าเคารพ มีความรับผิดชอบ และทำให้สหรัฐเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งแม้มันจะเต็มไปด้วยวาทศิลป์ และเป็นการแสดงออกทางการทูต แต่ในระยะกลาง และระยะยาว ผมค่อนข้างสงสัยว่า มันจะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้หรือไม่” คูฟเรอร์ กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP