โดยทดสอบการเตรียมความพร้อมปฏิบัติด้านการดับเพลิงและกู้ภัยอากาศยาน รวมถึงให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหลักได้มีโอกาสสร้างความคุ้นเคยในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของทางวิ่งเส้นที่ 3 และได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ สามารถนำไปปฏิบัติในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

รันเวย์เส้นที่ 3 มีความยาว 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร อยู่ด้านตะวันตกขนานกับรันเวย์ปัจจุบัน  (รันเวย์เส้นที่ 1)   ใช้งบก่อสร้างประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  มีกลุ่มกิจการร่วมค้าทีเอ็น ประกอบด้วย บริษัท ถนอมวงศ์บริการ จำกัด และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  รันเวย์เส้นที่ 3 จะใช้สำหรับบินร่อนลงเป็นหลัก  ส่วนรันเวย์เส้นปัจจุบันใช้สำหรับบินขึ้น  ส่วนทางขับขนาน(Parallel Taxiway) จะอยู่ขนานกับรันเวย์เส้นที่ 3มีทางขับออกด่วนเชื่อมต่อถึงกัน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท.  บอกว่า  การก่อสร้างทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) แล้วเสร็จ 100% อยู่ระหว่างเก็บความเรียบร้อยของงานระบบไฟฟ้าสนามบิน และทดสอบระบบต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์ที่สุด สำหรับการเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2567

ใจความสำคัญของรันเวย์เส้นที่ 3  จะทำให้ ทสภ. สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง(ชม.) เป็น 94 เที่ยวบินต่อ ชม. เครื่องบินไม่ต้องบินวนบนน่านฟ้าเพื่อรอลงจอดที่ ทสภ. เพราะรันเวย์เต็มเช่นที่ผ่านมา  และรองรับปริมาณจราจรทางอากาศกรณีปิดซ่อมรันเวย์เส้นที่ 1 และเส้นที่ 2 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน

โดยทยอยรองรับเที่ยวบินให้เต็มขีดความสามารถ โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณ 75 เที่ยวบินต่อ ชม. จากปัจจุบันรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อ ชม. มีรายได้เพิ่มขึ้น 4,718.24 ล้านบาท ปี 2569 จะมีเที่ยวบินประมาณ 85 เที่ยวบินต่อชม. มีรายได้ 8,561.54 ล้านบาทและปี 2570 จะมีเที่ยวบินเต็มขีดความสามารถที่ 94 เที่ยวบินต่อชม. และมีรายได้ 9,090.52 ล้านบาท

การเปิดใช้รันเวย์เส้นที่ 3 ยังสนับสนุนนโยบายนายกรัฐมนตรี  นายเศรษฐา ทวีสิน   ที่แสดงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAIL+AND, AVIATION HUB” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567  ประกาศศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) การบินของภูมิภาค   และประกาศให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี  (2568)และจะติดอันดับ 1 ใน 20 ให้ได้ภายใน 5 ปี (2572) จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 58 ของโลก

ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  มีปริมาณผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อไป  ทอท.วางเป้าหมายไว้ว่า  หลังเปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1)  เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566  จะเพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคนต่อปี 

นอกจากนี้ยังมีแผนระยะยาว  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้เป็น 150 ล้านคนต่อปีและรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชม. อาทิ  โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก (East-West Expansion) รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี, อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารได้อีก 60 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อ ชม. ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2)  เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับ และขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้มากขึ้น ปัจจุบัน ขนส่งสินค้า 1.2 ล้านตันต่อปี

ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)  บอกด้วยว่า    บวท. ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการจัดจราจรอากาศ ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรันเวย์เส้นที่ 3  อาทิ การติดตั้งเครื่องช่วยการเดินอากาศ (Instrument Landing System/Distance Measure Equipment : ILS/DME) และปรับปรุงฐานข้อมูลระบบบริหารจราจรทางอากาศ   ขณะที่สายการบินต่างๆ อาทิ การบินไทย แอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ส ได้เตรียมความพร้อมฝึกฝนการบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง(Flight Simulator) ในการบินร่อนขึ้น-ลงด้วย

สายการบินไทย จะเป็นสายการบินแรกที่จะเริ่มทำการบินขึ้นลงรันเวย์เส้นที่ 3 จากนั้นจะค่อยๆ ทยอยให้บริการรองรับเที่ยวบินมากขึ้น แต่จะไม่เพิ่มรวดเดียวให้ครบเต็มขีดความสามารถที่94 เที่ยวบินต่อชม. เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน และกฎระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ที่กำหนดว่าในการเปิดให้บริการรันเวย์ใหม่ ต้องค่อยๆ ดำเนินการ เพื่อความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอาจจะโดนธงแดงจาก ICAO ได้

นึกภาพให้เข้าใจง่ายๆการจราจรบนท้องฟ้าก็เหมือนรถติดบนท้องถนน  เมื่อรันเวย์เต็มความจุก็ต้องเพิ่มรันเวย์ใหม่  ลดความแออัดหนาแน่น.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต