เชื่อว่าหลายคนอยากเห็นผู้เล่นทางการเมืองใหม่ๆ เผื่อจะได้กติกาใหม่ๆ และผู้เล่นกล้าเผชิญกับความท้าทายเก่าที่ผู้เล่นเก่าไม่กล้าเผชิญ อย่างเช่น การดับเครื่องชนนายทุน การสร้างรัฐสวัสดิการ ( ตรงนี้ก็ต้องบอกว่า ถ้าจะให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการได้ เราต้องคุยกันหนักๆ แบบหนักมากเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกในการจ่ายภาษี เพราะอัตราภาษีเงินได้ในประเทศไทยไม่เพียงพอหรอกที่จะเอารัฐสวัสดิการเท่าสแกดิเนเวีย )

การเมืองจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ? ถ้าพูดกันด้วยอุดมคติคือ สองมือของประชาชนเข้าคูหาสร้างความเปลี่ยนแปลง จะเลือกพรรคขั้วอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม แต่ไอ้ที่ไม่อุดมคติที่ซ่อนอยู่ก็มี ก็ตัวอย่างเช่น การจับมือให้ได้เสียงข้างมากแล้วตั้งรัฐบาล โดยไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้ง ..คนที่เขารับได้กับระบบนี้ก็ว่ามันผิดตรงไหน แต่ในแวดวงการเมืองไทย เขามองว่า “มันสกปรก เพราะมันมีภาพเหมือนว่า มีดีลช่วยใครกลับบ้าน” และหลายๆ คนคงชินกับการที่ “พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง จะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล” แบบว่า..ถ้ายอมรับว่า “ใครรวมเสียงได้ก็จัดตั้งรัฐบาลได้” แบบนี้ก็ต้องยอมรับตอนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไปรวมเสียงนายเนวิน ชิดชอบและพรรคภูมิใจไทยมาได้ด้วยสิ ..แต่ตอนนั้นก็เห็นประท้วงกันว่า “ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย” ดังนั้นต้องยุบสภา และเกิดเหตุสลายเสื้อแดงตามมา

ในเดือนสิงหาคม อุณหภูมิทางการเมืองจะเดือดจากกรณียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเที่ยวนี้เขารู้สึกว่า “เสียงประชาชนสนับสนุนเขามากพอ” ถึงขนาดทำพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกได้ ทำให้คดียุบพรรคเที่ยวนี้ พรรคก้าวไกลประกาศศักดาแบบไม่ขอความเห็นใจ โดยโพสต์คลิปวีดิโอและข้อความว่า “คดียุบพรรคที่ก้าวไกลกำลังเผชิญอยู่ ย่อมไม่ต่างกับสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือพรรคการเมืองต่างๆ เจอมาในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การยุบพรรคอาจจะยุบได้แค่องค์กรนิติบุคคล แต่ไม่สามารถหยุดชุดอุดมการณ์เช่นนี้ได้ และเราจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าวันที่ 7 ส.ค.นี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จากอนาคตใหม่ สู่ก้าวไกล สู่อนาคต” ทำนองอยากทำอะไรก็ทำ แต่ทำลายอุดมการณ์ไม่ได้

ซึ่งถ้าดูจากประเด็นที่พรรคก้าวไกลใช้สู้ หลักๆ คือเรื่องกระบวนการของ กกต.ไม่ถูกต้องชอบธรรม พรรคก้าวไกลถูกตัดสินให้ยุติการหาเสียงที่อาจขัดต่อมาตรา 49 “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้” จากกรณีที่กลุ่มทะลุวังเอาสติ๊กเกอร์เนื้อหาอ่อนไหวไปให้หัวหน้าพรรคแปะบนเวทีหาเสียง และการยื่นขอแก้ไข ม.112 ทีนี้ กกต. ก็เอาคำวินิจฉัยนั้นมาใช้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยทางพรรคอ้างว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ให้พรรคได้ชี้แจงโต้แย้งคดี

ประกอบกับข้อต่อสู้ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า การยื่นแก้ไขกฎหมายเป็นไปตามกระบวนการการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการยุบพรรคว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขวิกฤตการเมือง ซึ่งอ่านๆ ดูแล้วก็คิดถึงพวกเรียกหา“ตุลาการภิวัฒน์”เมื่อก่อน คิดว่า วันนี้ก็คงจะทำความเข้าใจกันได้แล้วว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแก้ ไม่ใช่ให้ใครเหาะเหินเกินลงกามาจัดการ เพราะเดี๋ยวจะ.ฉิบหายกันอีก คิดจะจัดการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องระวังศึก“ตายสิบเกิดแสน” ยุคสมัยนี้แล้ว ความก้าวหน้าทางการสื่อสาร ทำให้คนเข้าถึงแพลตฟอร์ม เข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย การแสดงฉันทามติอะไรเผลอๆ ไม่ต้องลงถนน แต่สร้างกระแสบนโลกอินเทอร์เนตให้เป็น ถึงเวลาเข้าคูหาตัดสินกันเลย

( และพูดก็พูดเถอะ เรื่องนี้เป็นที่อึดอัดใจมาก กับกรณีใช้ ม.112 เพื่อประหัตถ์ประหารทางการเมือง คนใช้ชอบอ้างว่า รักสถาบัน แต่ไม่เคยคิดเลยว่า นั่นคือการดึงสถาบันมากลายเป็นคู่ขัดแย้ง..ถ้าสันดานคนไล่ฟ้องคนอื่นด้วยมาตรานี้แก้ไม่ได้ จะให้แก้กฎหมายก็ยาก ก็กรุณาช่วยตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนฟ้อง ป้องกันการกลั่นแกล้งรังแก ทำงานให้ชัดเจนขึ้นมาสักทีเหอะ เรื่องตั้งคณะกรรมการนี่พูดกันมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แล้ว ข่าวว่า นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้าขณะนั้นเป็นผู้เสนอ และเหมือนนายกฯ จะลงนามแล้ว แต่กลายเป็นว่า “คณะกรรมการที่ว่า” มีใครบ้างยังไม่รู้ อย่าว่าแต่เริ่มงานเลย )

กระนั้นก็เถอะ ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า “ก้าวไกลรอดแน่” ต้องรอดูมติศาลวันดังกล่าว แต่อย่างที่บอกคือ ระวังศึกตายสิบเกิดแสนจะมีจริง เพราะพรรคใช้กลยุทธ์“ผู้ถูกกระทำ”เดินเกมชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำสำนวน ความพยายามกลั่นแกล้งยุบพรรคมาตั้งแต่อนาคตใหม่จากคดีกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ( คำพิพากษามาแนวๆ ว่าพรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้ เพื่อป้องกันการครอบงำพรรค ) ซึ่งคิดว่า“กระแสสังคม”ก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเหมือนกัน..ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์คณะจากทั้งฝ่ายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ดังนั้น ในมิติของรัฐศาสตร์ก็ต้องพิจารณาด้วยถึงผลกระทบที่ตามมา อย่างที่ ศ.ดร.สุรพลว่า “การยุบพรรคไม่ช่วยพัฒนาประชาธิปไตย )

ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบ จะเกิดอะไรขึ้น ? คิดว่า “งูเห่าคงมีบ้าง” เป็นงูเห่าประเภท สส.นกแล คือ พรรคอาจเห็นว่าผลงานไม่เข้าเป้า และอาจส่งสมัยเดียว และคนนั้นก็รู้ตัว หรืองูเห่าประเภทรับกล้วยก็อาจมี ในทางการเมืองหรือทางโลกย์ใดๆ เงินใช้ผีโม่แป้งได้ ..แต่หลายคนที่อยากเล่นการเมืองต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สส.เขต ก็จะอยู่กับกลุ่มก้าวไกลต่อ “ไม่อยากให้ประชาชนสั่งสอน” แบบงูเห่ายุคที่ผ่านมา พอย้ายพรรคคะแนนตกฮวบเหลือหลักร้อย แสดงให้เห็นถึงการ“เอาพรรคมากกว่าคน” ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่เป็น สส.ก็ต้องดูอีกว่าจะถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ แต่ข่าวว่า “เขามีตัวตายตัวแทนแล้ว” คนที่ถูกตัดสิทธิ์ก็เดินสายทำการเมืองแบบเสรีอย่าง น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไปจนถึงเดินสายทำงานด้านอื่นๆ เช่น น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย ก็ไปทางสายการศึกษา

กรรมการบริหารพรรคที่เป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ ถ้าเป็นกรรมการบริหารชุดปัจจุบันก็มีไม่กี่คน แต่ถ้าจะตัดสิทธิ์คนยื่นแก้ ม.112 ด้วย อาจหายไปร่วม 30 กว่าคน สส.เขตก็ต้องเลือกตั้งใหม่ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ปล่อยให้ว่าง ซึ่งตอนนั้นมีโอกาสจะถูกตีกระแสว่า “พรรคถูกเล่นงานทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ทำให้ถ้าเลือกตั้งซ่อมโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ ใครอย่าส่งคนไปแข่งเลยจะขายหน้าเสียเปล่าๆ … เพราะเขาทำกระบวนการสื่อสารในเชิงเป็นขั้วการเมืองใหม่ สร้างความหวังแบบใหม่ ไม่วนเวียนอยู่กับกลุ่มการเมืองเดิมหน้าเก่าๆ  ( ดูอย่าง สส.ระดับดาวสภาในรัฐบาลบิ๊กตู่ อย่างนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ไม่ลงเลือกตั้ง เปิดทางให้ สส.ใหม่ก็เป็นภาพที่ดี  ) เพิ่มความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรมานาน ..สมาชิกพรรคที่พร้อมเป็นตัวตายตัวแทนก็เยอะ

ส่วนพวกเล่นการเมืองแบบจิกกัด ดิสเครดิต ถ้าพรรคก้าวไกลไม่โดนยุบ กรรมการบริหารไม่โดนตัดสิทธิ์ ก็อาจรอซ้ำตอนที่ สส.ของพรรคที่มีคดีความถูกศาลตัดสินโทษถึงที่สุดจำคุก แล้วต้องเข้าคุก ทำให้ต้องขาดสภาพ สส. ซึ่งก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังสู้คดีอยู่ เช่น น.ส.รักชนก ศรีนอก นายปิยรัฐ จงเทพ ..

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ก็แย้มๆ ทำนองว่า “ทางไปต่อน่ะมี แต่ยังไม่พูดตอนนี้รอลุ้นศาล” อารมณ์ประมาณว่ากระแสในขณะนี้ทำให้พรรคมีกำลังใจ ทั้งเรื่องสมาชิก กองเชียร์ธรรมชาติเข้มแข็งขึ้น  …“ฝ่ายตรงข้าม”ก็ถูกลดความน่าเชื่อถือไปหลายเรื่อง เช่นเรื่องตระบัดสัตย์ตั้งรัฐบาล กลับบ้านมานอนโรงพยาบาล 6 เดือน เงินดิจิทัลยึกยักวอลเลต แถมยังจะตีกันเรื่องกัญชา เรื่องอยากแย่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก… ก็หนักขนาดคนกันเองอย่างนายวรชัย เหมะ แกนนำเสื้อแดง ออกมาเตือนนายกฯ ให้ตามงานบ้าง แสดงว่าคนในพรรคหรือกองเชียร์ก็คงมีจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยสบายใจแล้วเมื่อเห็นว่า “ผลงานเป็นรูปธรรมที่ทำให้ประชาชนชื่นชมได้ยังไม่ชัดเจน”

พรรคก้าวไกลดูจะมีแต้มต่อในสายตาของประชาชนมากกว่า ถ้าถูกยุบ เล่นกระแสเป็น ชูเรื่องความน้ำเน่าในการเมืองไทย และถึงเวลาสร้างความเปลี่ยนแปลง  ยิ่งดึงคะแนนนิยมมากขึ้น เผลอๆ เล่นไปถึงว่า “ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องเลือกเราเป็นแลนด์สไลด์พรรคเดียว” ซึ่งตัวแปรหนึ่งที่ต้องสนใจคือเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องงี่เง่าก็ยุบได้ ถ้าเราคิดว่า พรรคการเมืองเกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้ด้วยฉันทามติของประชาชน พรรคจะตายก็ต้องตายด้วยมือประชาชนไม่เลือก องค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชน  ไม่มีสภาพเป็นซูเปอร์องค์กรที่แตะไม่ได้เกินไป ในส่วนวุฒิสภา ถ้าไม่เห็นว่าจำเป็นก็เอาออก หรือจะให้มีก็อย่าเอาแบบเลือกด้วยวิธีพิสดารพันลึกแบบนี้อีก

อีกคดีหนึ่งที่เป็นที่จับตาว่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือ การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ถูกยื่นถอดถอนเพราะตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีทั้งที่ขาดคุณสมบัติ คือเคยต้องโทษจำคุก …เรื่องนี้ก็ลือกันไปทั่วว่า “ไม่รู้ใครวางยาเอา” …ลือว่า “มีใบฝาก”ให้แต่งตั้งนายพิชิตเพื่อหวังล้างมลทินก็เรื่อง อีกลือก็ว่า “สว.สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) นั่นแหละที่ยื่นถอดถอน” เพราะมีข่าวเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ค่อยโอเคกับพรรคเพื่อไทยเท่าไรนัก.. ก็พูดกันไปเรื่อย ความจริงเป็นอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่มันควรจะเปิดเผยได้ แบบว่าไม่มีผู้ได้รับผลกระทบแล้ว มันก็คงจะออกมาเอง

ถ้านายเศรษฐาถูกถอดถอน..แน่นอนก็ต้องตั้งนายกฯ ใหม่ โหวตในสภาโดยไม่ต้องใช้เสียง สว.เพราะพ้นเวลาบทเฉพาะกาลแล้ว ซึ่งตัวเลือกตอนนี้จากแคนดิเดตเก่าที่มี คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร , นายชัยเกษม นิติสิริ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค , นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ , นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ .. ในส่วนของ น.ส.แพทองธารนั้น เหมือนมีสัญญาณจากเจ้าตัวว่า “ยังไม่พร้อม” แต่วันนี้“พ่อแม้ว”อยู่ใกล้ตัวแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าสถานการณ์จำเป็นอาจต้องขึ้นเป็นนายกฯ เอง เพื่อผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จเป็นรูปธรรม แก้ต่างสิ่งที่เพื่อไทยถูกโจมตีอยู่ในขณะนี้ ว่า ไหนว่าจะทำให้คนไทย “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ..ถ้าเอานายชัยเกษมมา ก็ต่อเมื่อต้องการเล่นวาระด้านการแก้ไขกฎหมาย ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ตอนนี้กู้หน้าเรื่องเศรษฐกิจดูจะสำคัญกว่า

ก็ไม่รู้ว่า ถ้าหวยไปออกนายอนุทิน จะมีการ“ล้างแค้น” รมว.สาธารณสุขที่จะเอากัญชากลับเป็นยาเสพติดให้ได้หรือไม่ ซึ่งท่าทีของนายกฯ เสี่ยนิดก่อนหน้านี้ก็บอกให้ออกกฎหมายควบคุม เสี่ยหนูก็พร้อม บอกพรรคไหนจะส่งร่างประกบภูมิใจไทยก็ได้ แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขยังยืนยันว่า ต้องเอากลับไปเป็นยาเสพติดก่อน เพราะกระบวนการร่าง พ.ร.บ., ออกกฎกระทรวงมันนาน เกรงว่าจะเกิดผลกระทบ ก็เป็นคลื่นใต้น้ำที่ภูมิใจไทยงัดรัฐบาลอยู่

ทั้งสองคดีถ้าออกมาในทางเป็นโทษ การเมือง ส.ค.วุ่นวายหนักแน่ โดยเฉพาะหากต้องแย่งเก้าอี้นายกฯกันใหม่ เพราะมันเป็นอะไรที่อาศัยเล่ห์เหลี่ยม การต่อรองทางการเมืองสูงกว่า และต้องทำด่วนกว่า และน่าสนใจมากด้วยว่า เผลอๆ จะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นหรือเปล่า ?  ในส่วนของพรรคก้าวไกลถ้าถูกยุบ มันจะมีการรณรงค์ระยะยาวเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญด้วย และรณรงค์เลือก“พรรคก้าวไกลเดิม”ในการเลือกตั้งหน้า

ถ้าให้ดี สองคดีควรจะจบที่วินิจฉัยว่าไม่มีความผิดทั้งหมด ไม่ให้การเมืองปั่นป่วน.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่