ตั้งโต๊ะแถลงข่าวใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการมหากาพย์ แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งคงมีข้อมูลออกไปพอสมควรสำหรับวิธีลงทะเบียนของผู้มีมือถือสมาร์ตโฟนที่จะเริ่มวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.นี้ แต่สำหรับรายละเอียดอย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินจะเริ่มเมื่อไรก็ยังต้องรอความชัดเจนอยู่ เพราะกระทรวงการคลังแจงว่า แถลงข่าวรอบนี้จะเป็นแค่ออร์เดิร์ฟจานแรก หลังจากนี้จะทยอยแถลงข่าวเรื่อย ๆ อีก 3-4 รอบก่อนเริ่มใช้จริงในเดือน ธ.ค.นี้

พายุหมุนเศรษฐกิจ4ลูก

อย่างไรก็ดี ในถ้อยแถลงข่าวครั้งนี้…มีประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือมุมทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่าของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่เตรียมใช้หลายแสนล้านบาท ซึ่ง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศว่าการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตจะเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยปลุกเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจถึง 4 ลูกทีเดียว
เริ่มตั้งแต่พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

สะพัด1ล้านล.จริงหรือ?

ดังนั้น จึงน่าวิเคราะห์ว่า เงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลเตรียมไว้ใช้ 450,000-500,000 ล้านบาท สำหรับผู้ลงทะเบียน 40-50 ล้านคน จะเป็นยาแรงปลุกเศรษฐกิจ สร้างเงินใหม่ลงทุกหย่อมหญ้าได้จริงหรือไม่? เพราะเทียบกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 2 รอบ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ช่วยกระตุกให้จีดีพีประเทศโตขึ้นอีก 1.2-1.6% และสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคัก

คำตอบแน่นอน คงยังไม่มีใครรู้ชัด เต็มที่ก็ได้แค่การคาดเดาไปต่าง ๆ นานา แต่ที่แน่ ๆ โครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ มีตัวแปรอยู่ 3-4 เรื่องหลัก ๆ ด้วย ในมุมของประชาชนมาลงทะเบียน คงไม่น่าห่วงอยู่แล้ว เพราะแม้หลายคนจะเคยด่าไว้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศแจก ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็พร้อมกางกระเป๋ารอรับ ซึ่งแม้จะเข้ามาไม่เต็ม 50.7 ล้านคน แต่ประเมินแล้วน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านคน ดังนั้น ในตัวเม็ดเงินที่เตรียมเข้าสู่ระบบจะมีไม่ต่ำกว่า 400,000-500,000 ล้านบาทแน่นอน

กลัวภาษีร้านร่วมน้อย

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือตัวร้านค้ารายเล็ก ๆ จะเข้าร่วมโครงการมากน้อยแค่ไหน? ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะดึงร้านค้าเข้าร่วมกว่า 2 ล้านราย จากสมาคมค้าปลีก 40,000-50,000 ร้าน ร้านธงฟ้า 150,000 ร้าน ร้านอาหาร 5,000 ร้าน กรมการปกครอง 400,000 ร้าน นิติบุคคล 900,000 ร้าน และสมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกอีก 400,000 ราย แต่เอาเข้าจริงจะมีร้านเข้าร่วมกันเท่าไร เพราะหากเข้าร่วมน้อย ประกอบกับที่รัฐบาลวางเงื่อนไขว่าจะต้องใช้จ่ายเฉพาะภายในอำเภอ อาจทำให้เงินดิจิทัลไม่สามารถใช้จ่ายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ร้านเข้าน้อยจนชาวบ้านไม่รู้นำเงินไปใช้ซื้ออะไร เพราะแถวบ้านไม่ค่อยมีร้านเข้าร่วม ทำให้ใช้จ่ายได้น้อยกว่าที่ควรเป็น หรือกระจุกตัวเฉพาะร้านค้าไม่กี่แห่ง จนเงินไม่เกิดกระจายอย่างที่คาดหวัง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือ ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด เกิดความเข้าใจถึงข้อดีของการเข้าร่วม ขณะเดียวกัน ก็ต้องเคลียร์ให้ชัดถึงประเด็นภาษีว่าเข้าร่วมแล้วจะถูกรีดภาษีเพิ่มหรือไม่ เพราะเป็นความกลัวที่ฝังใจของร้านค้าเล็ก ๆ หาบเร่ แผงลอยแทบทุกคน ว่าเข้าร่วมแล้ว อาจถูกกรมสรรพากรตามมาเก็บภาษีย้อนหลังเป็นหมื่นเป็นแสนบาทเหมือนข่าวก่อนหน้า ต่างจากเดิมไม่เคยต้องเสียภาษีเลย

แม่ค้าขาดเงินหมุนเวียน

อีกด้านคือข้อจำกัดของโครงการ ที่กำหนดให้ร้านค้าขนาดเล็กที่รับเงินจากประชาชนแล้ว ไม่สามารถถอนออกมาเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องนำเงินดิจิทัล ไปใช้ซื้อของจากร้านขนาดใหญ่ต่อ ตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคให้ร้านค้าเล็ก ๆ ไม่อยากเข้าร่วมได้ เพราะตามหลักของคนค้าขาย แน่นอนต้นทุนสินค้าไม่ได้อยู่ที่วัตถุดิบอย่างเดียว แต่จะมีต้นทุนอื่น ๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่าง ขายข้าวกะเพรา 1 จาน ราคา 50 บาท ต้นทุนค่าข้าวสาร น้ำมันพืช เนื้อหมู ผัก ตรงนี้ถ้าขายแล้ว อาจสามารถใช้เงินดิจิทัลไปซื้อของมาเป็นทุนเพื่อขายในวันต่อไปได้

แต่อย่าลืมว่าในข้าวกะเพราจานนั้น ยังมีต้นทุนอื่น ๆ อีก เช่น ค่าเช่าที่ ค่าแรง ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ใช้เงินดิจิทัลซื้อไม่ได้ ตรงนี้ แม่ค้า พ่อค้ารายย่อยที่ปกติทำธุรกิจแบบเงินหมุนวันชนวัน จะหาเงินสดไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเหมือนกับขายของได้ 50 บาท แต่ได้เงินไม่เต็มจำนวน ต้องควักเงินสดไปจ่ายค่าเช่า ค่ารถ ค่าไฟเอง ซึ่งยังไม่นับรวมกำไรที่ต้องเหลือ เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำอีก เช่น ส่งเงินให้ลูกไปเรียน จ่ายค่าเจ็บป่วยรักษาพยาบาล ตรงนี้รัฐบาลจะแก้ปัญหาเงินหมุนของร้านค้ารายเล็ก ๆ ได้อย่างไร ถ้าหากแก้ไขไม่ได้ แม่ค้ารายย่อยก็คงไม่เข้าร่วม อาจเหลือแค่ร้านค้าขนาดกลาง หรือร้านเล็ก ๆ ที่เป็นเครือข่ายของนายทุนใหญ่ที่มีความพร้อมมีสายป่านยาวเท่านั้นที่เข้าร่วมแทน

กางตำราเงินหมุนไม่เต็ม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะทำอย่างไร ถึงทำให้ประชาชนนำเงินดิจิทัล วอลเล็ต มาใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเงินที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์ ปกติถ้ารัฐบาลแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ไม่ว่าจะโครงการอะไรก็ตาม งบประมาณที่ใช้ไปจะไม่สามารถไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็ม 100% หมายความว่า ปกติในชีวิตประจำวันเราทั่วไปใช้จ่ายวันละ 500 บาทอยู่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลแจกเงินดิจิทัลให้มา 10,000 บาท แต่ประชาชนก็ยังคงใช้จ่ายวันละ 500 บาทเท่าเดิม โดยนำเงินดิจิทัลออกมาใช้แทนเงินสด และเงินสดที่เคยหยิบมาใช้ก็จะเก็บออมไว้ในบัญชี

หากเป็นแบบนี้เท่ากับว่าเงินในระบบเศรษฐกิจจะมีเท่าเดิมคือ วันละ 500 บาท โดยเงินดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ได้ช่วยสร้างเงินใหม่เข้าในระบบเศรษฐกิจอย่างที่ตั้งใจเลย ดังนั้นระหว่างนี้รัฐบาลมีการบ้านว่าจะออกมาตรการคู่ขนานอะไรที่เข้ามาช่วยกระตุ้น จูงใจให้คนนำเงินดิจิทัลมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยไม่ลดการใช้เงินจ่ายเงินปกติของตัวเอง

ทุจริตบ่อนทำลาย

ประเด็นถัดมาปัญหาเรื่องการทุจริต แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการดูแลทุจริตโดยตรง และพยายามตั้งเงื่อนไขเพื่อปิดช่องโหว่ต่าง ๆ เช่น ให้มีการซื้อของได้เฉพาะแบบเจอหน้า หรือเฟซ ทู เฟซ ไม่ให้ซื้อผ่านออนไลน์ หรือให้ซื้อได้เฉพาะสินค้าได้อย่างเดียว ไม่รวมใช้จ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ค่าทำผม เสริมสวย รักษาพยาบาล นวดสปาเหมือนที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะมีคนไทยไม่น้อยที่พยายามหาทางโกงเงินทุจริตกันอยู่ดี

การทุจริตนี้ ถือเป็นตัวบ่อนทำลายสำคัญที่จะทำให้ดิจิทัล วอลเล็ต เกิดความล้มเหลว และทำให้เงินหมุนน้อยกว่าที่คาด ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนยอมแลกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับเงินสด 8,000 บาท โดยไม่ได้ซื้อของจริง ๆ สินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาก็จะไม่ถูกใช้ไป ก็จะไม่เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มเติม ขณะที่เงินทั้งหมดแทนที่จะเกิดการหมุน ก็อาจถูกนำไปเก็บในมือของคนทำทุจริตไม่กี่ราย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลยังมีเวลาที่จะคิดทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อหาทางอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพราะตัวรัฐบาลรู้ดีว่ากระสุนกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือน้อยแล้ว ดังนั้น เดิมพันเงินดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาทครั้งนี้ จึงมีความสำคัญ จะต้องถูกนำไปใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก เริ่มจากประชาชน ร้านเล็ก ร้านใหญ่ จนถึงภาคการผลิตได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น จากพายุอาจกลายเป็นแค่ “หย่อมความกดอากาศต่ำ” ที่เงินตกกระจายไม่ทั่วฟ้า ไปเข้ากระเป๋านายทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย.