พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564

@ “ในวันที่ท้อแท้ และสิ้นหวังสำหรับใครหลายๆ คน ที่ชีวิตหม่นหมองร้องไห้ จากพิษโควิด” มหันตภัยร้ายที่ทำลายล้าง หลายๆ สิ่งที่ผ่านมา…และแล้วเราก็เริ่มเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” จากวิกฤติโควิด แม้จะมีความเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ก็ตาม แต่เมื่อเราเริ่มมีปริมาณวัคซีน ที่น่าจะเพียงพอแล้ว และได้มีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควร เราก็ต้องจำเป็นอย่างยิ่งยวด…ในการเข้าสู่ภาวะปกติกันใหม่ เป็นชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ก่อนมีการแพร่ระบาดโควิดตั้งแต่เริ่มแรก อย่างสิ้นเชิง

@ ด้วยนโยบายของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศว่า “วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว สําหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโด๊สแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ โดยมาจากประเทศที่กําหนดว่ามีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย ทุกคนต้องมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หากไม่พบสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ”

@ จ.นครราชสีมา…ประตูสู่ภาคอีสาน เด้งรับทันที โดย “นายวิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ชัดเจนดีในการเปิดประเทศ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 64 โดยไม่มีการกักตัว แต่ก็ยังต้องมีการเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่เดินทางเข้ามายังพื้นที่ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มขึ้นไป มีผลการตรวจ ATK หรือ PCR ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ไว้ยืนยันด้วย

@ ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมา ก็ยังมีการกำหนดอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ และการนั่งดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ในร้าน สถานบันเทิง ต้องมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้โคราชมีความปลอดภัยจากภัยโควิด-19 ทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปากช่อง ถือเป็นด่านหน้า เนื่องจากในพื้นที่ปากช่อง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป โดยได้มอบหมายให้นายอำเภอ พูดคุยกับหน่วยงานในการรับมือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นพื้นที่ประตูสู่จังหวัดภาคอีสานทั้งหมด ทุกพื้นที่ต้องเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก สร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ควบคู่ไปกับสุขภาพของประชาชนต่อไป

@ ทางด้าน จ.สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่…”นายพรชัย มุ่งเจริญพร” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้เร่งรีบดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยว ที่จะมาท่องเที่ยวในจังหวัดที่ “ศูนย์คชศึกษา” หรือโครงการ “Elephant world” มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเสมอ ก็อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมโครงการโลกของช้าง และในเร็วนี้ๆ จะมีโครงการที่ยิ่งใหญ่อีกโครงการหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นการประสานกับ ททท. ในการจัดรวมช้างครั้งใหญ่หลายร้อยเชือก มาร่วมกัน หลังจากนี้ประมาณ 3 เดือน คือช่วงเดือนมีนาคม “เป็นวันช้างไทย” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่วางไว้ พอถึงช่วงนั้นหากพร้อมก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ในส่วนของศูนย์คชศึกษา หรือโครงการ Elephant world ที่หมู่บ้านช้าง ก็เตรียมพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวตลอดเวลา แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ทางภาครัฐกำหนดลงมาด้วย ซึ่งช่วงนี้นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมการแสดงชองช้างได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดุแลและกฎระเบียบของการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด จึงยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง

@ ที่ จ.ศรีสะเกษ…”นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าทางรัฐบาล จะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ในวันที่ 1 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยไม่ต้องกักตัว นำร่อง 10 ชาติความเสี่ยงต่ำ และได้รับการฉีดวัคซีนครบโด๊สเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมหนังสือยืนยัน แต่ในส่วนของทางจังหวัด ซึ่งมีด่านถาวร “ช่องสะงำ” ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นเส้นทางท่องเที่ยว “สู่มรดกโลก นครวัด นครธม” ประเทศกัมพูชา ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเปิดด่านบริเวณดังกล่าว ยังคงต้องรอทางส่วนกลางแจ้งมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จ.ศรีสะเกษ มีความพร้อมทุกด้านหากรัฐบาลมีคำสั่งให้เปิดด่าน พร้อมเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับอย่างเคร่งครัดไว้แล้ว 100%

@ ที่ จ.อุบลราชธานี…”นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกับ “นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร” นพ.สสจ.อุบลฯ มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งเด็กนักเรียน ประชาชนทั่วไป และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว ตามนโยบายของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการแถลงข่าวออกมา โดยนายกรัฐมนตรี ได้เคยลงพื้นที่จังหวัดอุบลฯ เดินทางไป อ.สิรินธร อ.โขงเจียม ใกล้ด่านช่องเม็ก ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เรื่องสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับบริบทของชุมชน คือพลังงานและการเกษตร จนเป็นที่รู้จักในนามโรงเรียน “พลังงานทดแทนต้นแบบ” และศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา พร้อมกับเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามนโยบายของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ต่อไป

@ จ.บุรีรัมย์ ก็พร้อม…”นายธัชกร หัตถาธยากูล” ผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยจังหวัดบุรีรัมย์ยังอยู่ในระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งไม่จำกัดการเดินทาง ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน ร้านอาหารให้บริโภคภายในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน และการกำหนดช่วงเวลาในการเปิดสถานประกอบการตามประกาศ…ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและรูปแบบการให้บริการวัคซีนจังหวัดบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2565 โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนกับประชากรกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับประชาชนชาวบุรีรัมย์ ให้ทันกับมาตรการในการเปิดประเทศ และเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

@ ส่วน จ.อำนาจเจริญ…”นายทวีป บุตรโพธิ์” ผวจ.อำนาจเจริญ ได้เฝ้าติดตามการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งรายงานจาก สสจ.และผู้เกี่ยวข้องในพื่นที่รวมถึงการแจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงจากเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ทึ่สามารถควบคุมได้ ก็พร้อมเปิดแหล่งท่องเที่ยวเกาะแก่งคันสูง เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนบนเกาะแก่งในลำแม่น้ำโขง โดยที่ผ่านๆ มา ได้มีนักเที่ยวมาเที่ยว 1 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งก็ได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้แล้ว รอวันเปิดประเทศ เปิดจังหวัด ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

@ แต่ที่ จ.ยโสธร ยังประสบภัยน้ำท่วม…”น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ” ปศุสัตว์จังหวัด พร้อมด้วย “นายชินกฤต บุญมาก” ปศุสัตว์อำเภอคำเขื่อนแก้ว และนายสำราญ หัวดอน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.กุดกุง ลงสำรวจพื้นที่วัดทรายงาม หมู่ 5 ต.กุดกุง เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นจุดอพยพสัตว์ เพราะยังเกิดอุทกภัย ไว้รองรับโค-กระบือ ได้ประมาณ 400 ตัว และได้จัดตั้งคลังเสบียงอาหารสัตว์ไว้ เป็นหญ้าแพงโกลาแห้ง จำนวน 100 ฟ่อน หรือ 2,000 กิโลกรัม เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ ต.กุดกุง อ.คำเขื่อนแก้ว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำชี เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย มีเกษตรกรจำนวน 36 ราย เลี้ยงโค-กระบือ ประมาณ 70 ตัว ได้นำหญ้าแห้งไปเลี้ยงสัตว์บรรเทาความเดือดร้อนกรณีมีน้ำท่วมขัง จากนั้นได้ไปตรวจจุดอพยพสัตว์ บริเวณที่สาธารณประโยชน์บ้านค้อวัง หมู่ 7 ต.ค้อวัง อ.ค้อวัง รองรับโค-กระบือ ได้ 400 ตัว พร้อมจัดตั้งคลังเสบียงอาหารสัตว์จำนวน 100 ฟ่อน หรือ 2,000 กิโลกรัม จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.ชัยภูมิ…นายไกสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน พร้อมด้วย “นายอร่าม โล่ห์วีระ” นายก อบจ. “ดร.สานนท์ ด่านภักดี” ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อพญาแล และประชาชนจำนวนมาก ร่วมพิธียกเสาเอกเสาโทในการสร้างศาลเจ้าพ่อพญาแล หลังใหม่แทนหลังเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ได้ชำรุดทรุดโทรมและคับแคบ ชาวชัยภูมิจึงพร้อมใจสร้างศาลเจ้าพ่อพญาแล หลังใหม่ขึ้น ใช้งบก่อสร้าง​ประมาณ 46,349,000 บาท ใช้ระยะเวลา​เวลาก่อสร้างเป็นเวลา 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนร่วมสร้างศาลเจ้าพ่อพญา หลังใหม่ในครั้งนี้ได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาชัยภูมิ เลขที่บัญชี 307-3-17295-5 ชื่อบัญชีเงินสมทบทุนสร้างศาลเจ้าพ่อพญาแลได้ทุกวัน

จ.นครราชสีมา…”นายประเสริฐ บุญชัยสุข” นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา สมาชิกสภาเทศบาลฯ เจ้าหน้าที่สำนักกองช่างเทศบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการปรับปรุงภูมิทัศน์ ในตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สวนสาธารณะหนองแก้ช้าง ในการปรับปรุงทั้งด้านความสวยงาม การใช้งาน และคุณภาพ เพื่อให้ได้เมืองที่สวยงาม เป็นหน้าเป็นตา เป็นความภาคภูมิใจของชาวโคราช และสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

จ.อุบลราชธานี…นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ถวายการต้อนรับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในโอกาสที่เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งได้เดินทางไปพื้นที่น้ำท่วม ในอำเภอวารินชำราบ เพื่อมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับพระภิกษุสามเณร ที่จำพรรษาวัดหายโศก ที่ถูกน้ำท่วม พร้อมกับมอบสิ่งของ ช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่ประสบอุกทกภัย ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล ซึ่งประสบกับอุทกภัยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน