การอัปเดตที่มีข้อบกพร่อง จากบริษัทรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัล ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักอย่าง “คราวด์สไตรก์” (CrowdStrike) ทำให้สายการบิน, สถานีโทรทัศน์ และด้านอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เกิดการชะงักงัน

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อบริษัทหรือบุคคลที่ใช้ซอฟต์แวร์ของคราวด์สไตรก์ บนแพลตฟอร์ม “วินโดวส์” ของไมโครซอฟท์ ซึ่งภายหลังการอัปเดต ซอฟต์แวร์ตัวปัญหาที่ไม่เข้ากับระบบปฏิบัติการ ก็ทำให้คอมพิวเตอร์เกิดอาการค้างและหยุดทำงาน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “บลูสกรีน” หรือ “จอฟ้ามรณะ” (Blue Screen of Death)

“ตอนนี้ คราวด์สไตรก์ กลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ในทางที่ดี และกรณีเช่นนี้จะต้องใช้เวลาสักพัก จึงจะคลี่คลาย” นายแดน ไอเวส จากบริษัท เวดบุช ซีเคียวริตีส์ กล่าว

การล่มของระบบปฏิบัติการสำคัญในคอมพิวเตอร์ จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างรวดเร็ว เกี่ยวกับอำนาจของยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ต ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มีปัญหา หรือถูกโจมตีโดยเจตนา โลกก็ดูเหมือนจะล่มสลายได้เลยทีเดียว

“ผมคิดว่า เราเพิ่งได้ลิ้มรสผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในเศรษฐกิจ พึ่งพาบริษัทคลาวด์ไม่กี่แห่ง และระบบสำคัญอื่น ๆ” นายโรหิต โชปรา ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองทางการเงินของผู้บริโภค (ซีเอฟพีบี) กล่าว

ทั้งนี้ โลกเกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ไปสู่ระบบการประมวลผลแบบคลาวด์ ซึ่งบริษัทหลายแห่งใช้เซิร์ฟเวอร์จากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผล แทนการใช้โครงสร้างพื้นฐานของตนเอง ทว่าเหตุการณ์ระบบล่มที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กลับมีต้นตอมาจากบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ สำหรับบริษัทที่ใช้ระบบคลาวด์

ด้านนายจอร์จ คัวร์ตซ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของคราวด์สไตรก์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผลกระทบที่เกิดกับลูกค้า, นักเดินทาง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

แม้ไมโครซอฟท์ กล่าวโทษคราวด์สไตรก์ ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่คนวงในของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กล่าวเตือนว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการมอบความไว้วางใจในการดูแลโลกดิจิทัล ให้กับบริษัทสำคัญ “เพียงไม่กี่แห่ง”

“มันยังคงก่อให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับระบบหรือธุรกิจที่พึ่งพาไมโครซอฟท์เพียงอย่างเดียว ซึ่งปัญหานั้นคือ ความเสี่ยงของการรวมศูนย์” นายไมเคิล แดเนียล อดีตผู้ประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทำเนียบขาว และหัวหน้าคนปัจจุบันของกลุ่มพันธมิตรต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (ซีทีเอ) กล่าว

ขณะที่ นางแคลลี กุนเธอร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัยภัยคุกคามทางไซเบอร์ จากบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ “คริติคอล สตาร์ต” กล่าวเตือนว่า การหันเข้าหาผู้เล่นรายใหญ่ จะยิ่งขยายผลกระทบของความล้มเหลว หรือช่องโหว่ใด ๆ ของระบบมากขึ้น

อนึ่ง บรรดาผู้สันทัดกรณีเตือนว่า เหตุการณ์ระบบขัดข้องครั้งนี้ มีแนวโน้มได้รับการสอบสวนอย่างละเอียด จากหน่วยงานกำกับดูแลและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งคราวด์สไตรก์ อาจต้องปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES