ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ หรือสรุปว่า เหตุการณ์พยายามลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐ ระหว่างการปราศรัย ที่เมืองบัตเลอร์ ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 5 พ.ย. นี้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพทรัมป์ที่มีเลือดอาบ ชูกำปั้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ซีเครต เซอร์วิส ซึ่งเข้ารุมล้อมและพาตัวทรัมป์ลงจากเวที กลายเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ของสหรัฐ และของโลกไปแล้ว

นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ชูกำปั้น ระหว่างเจ้าหน้าที่ซีเครต เซอร์วิส เร่งนำตัวทรัมป์ลงจากเวที หลังเกิดเหตุลอบยิง ระหว่างการปราศรัย ที่เมืองบัตเลอร์ ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ส่งผลให้อดีตผู้นำสหรัฐได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหู

ทรัมป์กล่าวขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยให้เขารอดพ้นจากความพยายามลอบสังหารครั้งนั้น ขณะเดียวกัน อดีตผู้นำสหรัฐเรียกร้องความสมานฉันท์จากชาวอเมริกัน และกล่าวว่า “อย่าปล่อยให้มารร้ายเป็นฝ่ายชนะ”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ที่เมืองมิลวอกี ในรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการรับรองทรัมป์อย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกัน โดยทรัมป์รวบรวมคะแนนคณะผู้เลือกตั้งได้ 2,387 เสียง จากจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 2,429 เสียง

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกันรับรอง นายเจมส์ เดวิด แวนซ์ หรือ เจ.ดี. แวนซ์ วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ วัย 39 ปี ในฐานะผู้ลงสมัครคู่กับทรัมป์ในตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน จากพรรคเดโมแครต เรียกร้อง “การลงอุณหภูมิของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ” โดยกล่าวว่า การมีจุดยืนและความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรถือว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู เนื่องจากทุกคนเป็นอเมริกันชนเพื่อนร่วมชาติ และต้องสามัคคีกัน ดังนั้น “การเมืองไม่ใช่สนามรบที่ถึงขั้นต้องเข่นฆ่าเอาชีวิต” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือสัญญาณว่า ทุกคนต้องถอยคนละก้าว แล้วกลับมาครุ่นคิดทบทวนให้ละเอียดอีกครั้ง ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

นายโดนัลด์ ทรัมป์ เดินลงบันได ระหว่างเข้าร่วมงานประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ที่เมืองมิลวอกี ในรัฐวิสคอนซิน 15 ก.ค. 2567

นอกจากนั้น ผู้นำสหรัฐเน้นย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทรัมป์ “ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” และยอมรับว่า “การสร้างความสมานฉันท์ในอเมริกาเป็นเป้าหมายที่เข้าใจยาก” แต่ไบเดนยกเนื้อหาจากแถลงการณ์ของกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ คือนายจอร์จ วอชิงตัน นายจอร์จ อดัมส์ นายเบนจามิน แฟรงคลิน นายโธมัส เจฟเฟอร์สัน นายเจมส์ เมดิสัน นายอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน และนายจอห์น เจย์ ว่า “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการยืนหยัดเคียงข้างกัน”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไบเดนและทรัมป์ต่างเน้นย้ำ “ความปรองดอง” และ “ความสมานฉันท์” หลังเหตุการณ์พยายามลอบสังหารที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากจะหวังว่า บรรยากาศการเมืองภายในสหรัฐจะมีความเป็นมิตรมากขึ้นนั้น “น่าจะแค่ระยะสั้นเท่านั้น” และไม่น่าสร้างความเปลี่ยนใดอย่างมีนัยสำคัญ ให้กับสังคมอเมริกัน ต่อให้ไบเดนโทรศัพท์ไปให้กำลังใจทรัมป์ และทรัมป์ออกมาขอบคุณผ่านสื่อก็ตาม

ตลอระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างยกระดับการหาเสียงตามปกติ เป็น “สงครามประสาทและการสาดโคลนกันอย่างหนัก” มากขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่า รุนแรงกว่าการแข่งขันทางการเมืองของสหรัฐ “โดยธรรมชาติ”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ชูมือระหว่างชมการจุดพลุเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐ 4 ก.ค. 2567 ที่ระเบียงทำเนียบขาว

ทั้งนี้ ทีมงานหาเสียงเลือกตั้งของไบเดน ประกาศระงับการเผยแพร่สื่อบนทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเนื้อหาโจมตีทรัมป์ ซึ่งที่สื่อท้องถิ่นหลายแห่งในสหรัฐรายงาน โดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในทีมงานหาเสียงของไบเดน ว่า “ขอความร่วมมือ” เจ้าหน้าที่ทุกคนหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นต่อสื่อมวลชน และไม่ควรโพสต์บนบัญชีสังคมออนไลน์ส่วนตัว เกี่ยวกับเหตุพยายามลอบสังหารทรัมป์

ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตถือแผ่นป้ายหาเสียง “ไบเดน-แฮร์ริส” ระหว่างรับฟังการปราศรัยของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ที่โรงเรียนเจมส์ บี.ดัดลีย์ ในเมืองกรีนส์โบโรห์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา 11 ก.ค. 2567

อนึ่ง การโจมตีทรัมป์ถือเป็นหนึ่งในหัวใจของแคมเปญหาเสียง ที่ทีมงานของไบเดนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังดึงคะแนนนิยมให้กับผู้นำสหรัฐวัย 81 ปี ที่ตามหลังทรัมป์ วัย 78 ปี มากขึ้น นับตั้งแต่การดีเบตเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เน้นไปที่การโจมตี “โปรเจ็กต์ 2025” ของทรัมป์ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นโร้ดแมปสำหรับรัฐบาลสหรัฐในอนาคต หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง ว่าคือแนวนโยบายที่ถือเป็นอันตรายและภัยคุกคาม ต่อกลไกประชาธิปไตยของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยืนยันว่า ทรัมป์เลือกแวนซ์ให้ลงสมัครคู่กัน ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ไบเดนออกมาวิจารณ์ทันควันว่า นักการเมืองหนุ่มผู้นี้ “คือร่างโคลน” ของทรัมป์ และมองว่ากลุ่มชนชั้นกลางในสหรัฐจะเสียประโยชน์ เพราะทั้งคู่มีแนวคิดเดียวกัน คือ “ลดภาษีคนรวย ขึ้นภาษีคนชั้นกลาง” อีกทั้งกล่าวว่า ทั้งสองคน “เป็นพวกหัวรุนแรง”

นายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายเจมส์ เดวิด แวนซ์ หรือ เจ.ดี. แวนซ์ ซึ่งทรัมป์เลือกให้ลงสมัครคู่กันในฐานะรองประธานาธิบดี ร่วมงานประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ที่เมืองมิลวอกี ในรัฐวิสคอนซิน 15 ก.ค. 2567

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า เหตุผลที่ทรัมป์เลือกแวนซ์ นอกเหนือจากความหวังในการให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มคนหนุ่มสาวในสหรัฐแล้ว แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างฐานคะแนนนิยมในกลุ่มรัฐสวิงสเตท ซึ่งรัฐโอไฮโอจัดเป็นหนึ่งในนั้น โดยครั้งสุดท้ายที่รัฐโอไฮโอเลือกตัวแทนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ต้องย้อนกลับไปยังสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2555

หลังเหตุการณ์พยายามลอบสังหารทรัมป์ผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่วัน สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีของสหรัฐออกอากาศรายการสัมภาษณ์พิเศษไบเดน ซึ่งผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันยังคงเน้นย้ำ ว่าอดีตผู้นำจากพรรครีพับลิกัน คือ “ภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของประชาธิปไตยในอเมริกา”

ส่วนทรัมป์โพสต์ข้อความบนบัญชีสังคมออนไลน์ ว่าไบเดน “ใช้ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้ง” และใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ตอนนี้ บรรดาผู้สันทัดกรณีทางการเมืองในสหรัฐ พากันออกมาเรียกร้องมากขึ้น ให้ทั้งทรัมป์และไบเดนลดความรุนแรงของการหาเสียง ที่ยังคงมีการประดิษฐ์วาทกรรมตอบโต้กันไปมา และการใช้สำนวนภาษาที่รุนแรงเพื่อให้ชนะใจผู้สนับสนุน และเรียกคะแนนจากประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐสวิงสเตท อย่างไรก็ตาม ท่าทีของไบเดนและทรัมป์คือคำตอบ ที่สื่อไปถึงประชาชนแล้วว่า “อย่าไปคาดหวังอะไรมาก จากวาจาของนักการเมือง”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES