“แฟชั่น คือ ศิลปะที่ช่วยให้ผมอยู่รอด” ซาร์นี ซึ่งจัดงานแสดงฉลองครบรอบ 10 ปีในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ กล่าว

พ่อแม่ของซาร์นี เดินทางมายังญี่ปุ่นในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อปี 2536 ซึ่งในช่วงวัยรุ่น เขาได้ใช้การแต่งตัวอย่างมีสไตล์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกลั่นแกล้ง โดยมารดาของซาร์นี เป็นคนแรกที่สอนให้เขาตัดเย็บเสื้อผ้า และรูปร่างที่เพรียวบาง ส่งผลให้ซาร์นีได้รับคัดเลือกให้เป็นนายแบบบนเวทีเต้นรำในกรุงโตเกียว

“ในตอนนั้น เราไม่มีอินสตาแกรม ดังนั้น การอยู่ในสายตาของคนอื่น ผมจึงมักไปที่บาร์, ย่านขายของ และตู้ถ่ายรูปที่เรียกว่า ปุริคุระ” ซาร์นี กล่าวเพิ่มเติมว่า เขามักจะไปยังย่านชิบุยะ แม้ในช่วงเวลานั้น มันเป็นพื้นที่อันตรายมาก เนื่องจากเต็มไปด้วยแก๊งยากูซ่าก็ตาม

ขณะที่อาชีพการงานของซาร์นีกำลังรุ่งโรจน์ เขาได้เปิดตัวแบรนด์ “ซาร์นี” เมื่อปี 2554 เพียงหนึ่งปีก่อนที่เขาจะได้รับสัญชาติญี่ปุ่น และมอบ “ลองยี” หรือชุดประจำชาติของเมียนมา ให้แก่นางออง ซาน ซูจี ซึ่งเธอได้สวมใส่ชุดแบรนด์ซาร์นี ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2555 โดยซาร์นีกล่าวว่า เหตุการณ์ข้างต้น “เปลี่ยนชีวิตของเขา”

นอกเหนือจากการเป็นดีไซเนอร์ในอีกหลายปีต่อมา ซาร์นียังทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ระหว่างญี่ปุ่นกับเมียนมา ซึ่งเขาเคยเข้าเฝ้าฯ เจ้าหญิงโยโกะแห่งมิกาซะ โดยสวมชุดแบบดั้งเดิมของซาร์นี เมื่อปี 2562 ด้วย

MizzimaTV

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมา เมื่อปี 2564 และซูจีถูกควบคุมตัว ซาร์นีได้รับข้อความขอความช่วยเหลือจำนวนมาก ซึ่งเขากำลังระดมทุน เพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมาที่หลบหนีออกจากประเทศบ้านเกิด โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ มายังพรมแดนติดกับประเทศไทย

อนึ่ง ซาร์นีทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และจัดงานต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเขากล่าวว่า ชาวเมียนมาสูญเสียความภาคภูมิใจ และรู้สึกเศร้า ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟชั่น เพื่อมอบความมั่นใจ และทำให้พวกเขามีความกล้าหาญ

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ทำให้ความต้องการเสื้อผ้าของซาร์นีลดลง จนเขาต้องปิดโชว์รูมเสื้อผ้าในย่านโอโตเมะซันโดะ ซึ่งเป็นย่านไฮเอนด์ในกรุงโตเกียว แต่การเริ่มต้นใหม่ และการขยายขอบเขตสู่การออกแบบภายใน ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับซาร์นี

ปัจจุบัน ซาร์นีบริหารสตูดิโอของเขา จากอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งมีภาพวาดขนาดเล็กหลายสิบภาพ ที่แสดงภาพทิวทัศน์ชนบทของเมียนมา ประดับอยู่บนผนัง

ทั้งนี้ งานแฟชั่นครั้งล่าสุดในกรุงเทพมหานคร ทำให้ซาร์นีไตร่ตรองถึงรากเหง้าของเขาอีกครั้ง “ผมคิดมาตลอดว่า ผมมาจากไหน ผมเป็นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น หรือเป็นอย่างอื่น ซึ่งในที่สุดผมก็รู้ว่า ผมมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซาร์นี กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP