งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีอาสาสมัครเข้าร่วมหลายร้อยคน และถูกเผยแพร่ในวารสาร “ไซเอนซ์ แอดวานเซส” (Science Advances) มีขึ้นท่ามกลางความกลัวที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบของเครื่องมือเอไอที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งเปลี่ยนข้อความธรรมดาให้กลายเป็นดนตรี ศิลปะ และงานเขียนที่ค่อนข้างซับซ้อนได้

“เป้าหมายของเราคือ การศึกษาว่าเอไอสำหรับการสร้างคอนเทนต์ สามารถช่วยมนุษย์สร้างสรรค์ผลงานได้ในระดับใด และอย่างไร” นายอานิล โดชี ผู้เขียนร่วมจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน กล่าว

สำหรับการทดลองครั้งนี้ โดชี และนายโอลิเวอร์ ฮาวเซอร์ ผู้เขียนร่วมงานศึกษาอีกคนหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ คัดเลือกอาสาสมัครประมาณ 300 คน โดยผู้เข้าร่วมเหล่านี้ไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อหาเลี้ยงชีพ และความสามารถในการสร้างสรรค์โดยธรรมชาติของพวกเขา จะถูกประเมินโดยการทดสอบทางจิตวิทยาแบบมาตรฐาน ที่ให้พวกเขาเขียนคำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจำนวน 10 คำ

จากนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงแบ่งผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม ออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเขียนเรื่องราวความยาว 8 ประโยค เกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งจาก 3 หัวข้อ ได้แก่ การผจญภัยในท้องทะเลอันกว้างใหญ่, การผจญภัยในป่าดงดิบ หรือการผจญภัยบนดาวดวงอื่น

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มแบบสุ่ม และได้รับความช่วยเหลือจากเอไอในระดับต่าง ๆ โดยกลุ่มแรกจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ส่วนกลุ่มที่สองจะได้รับแนวเรื่องราวความยาว 3 ประโยค จากแชตจีพีที และกลุ่มที่สามจะได้รับแนวคิดเรื่องราวที่สร้างโดยเอไอ สูงสุด 5 แนวคิด เพื่อช่วยให้พวกเขาเขียนเริ่มเขียนเรื่องราวได้

หลังจากเขียนเรื่องราวเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมจะถูกขอให้ประเมินความคิดสร้างสรรค์ของผลงานของพวกเขา โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น ความแปลกใหม่ ความเพลิดเพลิน และศักยภาพของแนวคิด ในการนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งผู้ตรวจสอบภายนอกอีก 600 คน จะตัดสินเรื่องราวเหล่านั้นโดยใช้มาตรการเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ ผู้เขียนงานศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เอไอช่วยเพิ่มคุณภาพความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนแต่ละคนมากถึง 10% และเพิ่มความสนุกสนานของเรื่องราวได้ 22% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น โครงเรื่อง และการหักมุม

แต่ในระดับรวม พวกเขากลับพบว่า เรื่องราวที่ได้รับความช่วยเหลือจากเอไอ มีความคล้ายคลึงกัน มากกว่าเรื่องราวที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเอไอ เนื่องจากนักเขียน “ยึดติด” กับแนวคิดที่เอไอแนะนำมากเกินไป

ด้านฮาวเซอร์ ระบุว่า สิ่งนี้สร้าง “ปัญหาทางสังคม” เพราะในแง่หนึ่ง การทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการลดอุปสรรค ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางกลับกัน หากความแปลกใหม่ของศิลปะโดยรวมลดลง มันก็อาจส่งผลเสียในภายหลังได้

ขณะที่โดชี กล่าวเพิ่มว่า การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า มันมีความเสี่ยงที่ผู้คนจะพึ่งพาเครื่องมือเอไอมากเกินไป ก่อนที่จะพัฒนาทักษะพื้นฐานในการเขียน ดนตรี หรืออื่น ๆ เช่นเดียวกับการให้เครื่องคิดเลขพกพาแก่เด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาเรียนรู้วิธีคำนวณพื้นฐานไม่ได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES