โคนิงกา เป็นสมาชิกกลุ่มนักวิจัยที่ติดตามไข้ลาสซา หรือโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสลาสซา ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และแพร่กระจายผ่านหนูที่ติดเชื้อ

โคนิงการู้ดีว่า ไข้ลาสซามีความร้ายแรงขนาดไหน เพราะเขาเคยรักษาตัวอย่างทรมานอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานถึง 20 วัน โดยมีอาการเป็นไข้, ปวดศีรษะ และท้องร่วง อันเกิดจากโรคชนิดนี้ ในตอนที่เขาเป็นนักวิจัยหนุ่มเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เชื้อไวรัสอีโบลา สร้างความเสียหายมหาศาลต่อภูมิภาคนี้ และคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 11,000 รายในกินี, เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ทว่าเซียร์ราลีโอน กลับไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลาอีกเลย นับตั้งแต่การระบาดสิ้นสุดลงเมื่อปี 2559 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดตัววัคซีน

ปัจจุบัน ในเขตเคเนมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในช่วงแรก กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กำลังใช้บทเรียนที่ได้เรียนรู้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อพยายามหยุดยั้งไข้ลาสซา

FRANCE 24 English

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) อัตราการเสียชีวิตจากไข้ลาสซา โดยรวมอยู่ที่ 1% ซึ่งไม่ร้ายแรงเหมือนกับโรคอีโบลา ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยเฉลี่ยถึง 50% อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้ลาสซาในสัดส่วน 20% อาจมีอาการป่วยรุนแรงได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 15%

ด้านนายลันซานา คานเนห์ หัวหน้างานภาคสนามของโรงพยาบาลรัฐบาลเคเนมา (เคจีเอช) กล่าวว่า ความใกล้ชิดกับป่า, การก่อสร้างบ้านด้วยโคลนแบบหยาบ ๆ รวมถึงการเก็บธัญพืชและน้ำที่ไม่มิดชิด ทำให้ที่อยู่อาศัยกลายเป็น “โรงแรมห้าดาว” สำหรับหนู อีกทั้งการขาดแคลนอาหาร ทำให้ชาวบ้านต้องกินอาหารที่ถูกหนูแทะบางส่วนในบางครั้งด้วย

อนึ่ง ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา ระบุว่า ภูมิภาคแอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อไวรัสลาสซาระหว่าง 100,000 – 300,000 คนต่อปี และคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 5,000 ราย แต่ตัวเลขข้างต้นมีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อพิจารณาจากความท้าทายด้านการเฝ้าระวัง

แม้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาไข้ลาสซาในเคจีเอช มีจำนวนลดลงมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่นายโดนัลด์ แกรนต์ หัวหน้าโครงการไข้ลาสซาของเคจีเอช กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลพบผู้ป่วยโรคนี้ตลอดทั้งปี ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้ลาสซา ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ที่มากกว่า 50%

จริงอยู่ที่ว่า การตรวจพบอย่างรวดเร็วเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชีวิตรอด แต่อาการไข้ที่ไม่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ไข้ลาซสาอาจถูกวินิจฉัยผิดเป็นโรคมาลาเรีย, อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ การเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงบนถนนลูกรัง ยังทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ได้รับการรักษาด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP