จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่อาจสรุปยอด “ผลกระทบร้ายแรง” ได้ ทั้งแง่เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ กรณี ’ปลาหมอคางดำ“ ซึ่งเป็น ’ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์“ที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในไทย!!… ปลาชนิดนี้ ’รุกรานทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ“ และ ’รุกรานทำลายระบบนิเวศ“ โดยตอนนี้ในไทยต้องเร่งแก้ปัญหากันอย่างจ้าละหวั่น!! ก่อนจะยิ่งกระทบไปมากกว่านี้ ซึ่งเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ว่านี้อยู่ในแหล่งน้ำไทยมานานแค่ไหนแน่? ได้อย่างไร? ใครเป็นต้นเหตุ? คงต้องรอดูผลสืบสวนกันอีกที…ถ้ามี??…

ที่แน่ ๆ คือ…ไทยจำเป็น ’ต้องลุ้น?“
ลุ้นให้ ’ปราบปลาหมอคางดำสำเร็จ?“
และ ’ไม่มีภัยสัตว์เอเลี่ยนอื่น ๆ อีก?“

ทั้งนี้ ย้อนดูเกี่ยวกับ “ปลาหมอคางดำ” ที่มิใช่สัตว์ดั้งเดิมไทย เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species)” ที่แพร่กระจายสร้างผลกระทบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในไทย จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูล “สัตว์น้ำต่างถิ่น” ชนิดนี้ไว้ รวมถึงโดย “เดลินิวส์ออนไลน์” โดย “เว็บไซต์เดลินิวส์” ที่ก่อนหน้านี้มีการนำเสนอไว้ จากการให้ข้อมูลโดย เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และ เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง โดยสังเขปมีว่า… ปฐมบทปลาหมอคางดำระบาดในไทย“ เริ่มระบาดที่ ’ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทร สงคราม“ ราวปี 2544 โดยพบเจ้าปลาเอเลี่ยนชนิดนี้ว่ายปะปนอยู่กับกุ้ง

ตามรายงานข่าวเรื่องนี้ ตัวแทนเครือข่ายฯ ดังกล่าวได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… ช่วงที่เริ่มพบ “ปลาหมอคางดำ” ในพื้นที่นั้น เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาปลานิลและปลาทับทิมที่เพาะเลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาในไทยมีการ ทดลองเลี้ยง ’ปลาหมอคางดำ“ จากทวีปแอฟริกา โดยจากข้อมูลที่เครือข่ายฯ ระบุไว้…ปลาที่นำเข้ามาเลี้ยงถูกระบุว่ามีแค่ 2,000 ตัว เป็นการ “ทดลองเลี้ยงทดลองพัฒนาพันธุ์” เพื่อที่จะ “ดูความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่” แต่ก็หยุดอยู่แค่การทดลอง…ทำลายทิ้งแต่ภายหลังมีการ พบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งหลังถูกพบ…

จริง ๆ เคยมีการร้องเรียนหลายครั้ง
ก็ฮือฮาอยู่พักหนึ่ง…แล้วก็เงียบไป??

หลังจาก “ปลาหมอคางดำ” สร้าง “ปรากฏการณ์รุกราน” ล่าสุด… ทางตัวแทนเครือข่ายฯ ดังกล่าวได้ระบุไว้อีกว่า… กรณีมีผู้เข้าใจว่า “ปลาหมอสี” กับ “ปลาหมอคางดำ” เป็นชนิดเดียวกัน จากการสอบถามนักวิชาการประมง พบว่า… ปลาหมอคางดำ กับปลาหมอสี ต่างก็เป็น ปลาในวงศ์ซิคลิเด (Cichlidae) ตระกูลเดียวกับปลานิลและปลาหมอเทศ แต่ ปลาหมอสีเป็นปลาสวยงาม ซึ่งปลา 2 สายพันธุ์นี้ มีลักษณะภายนอกแตกต่างกัน หลายอย่าง โดย “จุดสังเกตสำคัญ” คือปลาหมอสีคางจะไม่ดำ และส่วนใหญ่มักมีสีสันสดใสที่จะเห็นชัดเจนช่วงที่ปลาโตเต็มวัย ซึ่ง ปลาหมอคางดำเป็นคนละสายพันธุ์!!

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ดังกล่าวยังระบุถึง “ข้อมูลสำคัญ” ไว้อีกว่า… แม้จะตระกูลเดียวกัน แต่พฤติกรรมต่างกันมาก ปลาหมอสีไม่มีพฤติกรรมยึดบ้านสัตว์น้ำอื่นหรือคุกคามระบบนิเวศเหมือนปลาหมอคางดำซึ่งด้วยพฤติกรรม “รุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่น” นี้เอง ’ปลาหมอคางดำจัดเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในไทย“ โดยที่แหล่งน้ำในไทยไม่มีสัตว์นักล่า เช่น ปลาไหลไฟฟ้า ปลาปิรันยา ปลาจระเข้ ไว้ควบคุมประชากร “ปลาหมอคางดำ” อีกทั้งด้วยลักษณะพิเศษที่สามารถ อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ทำให้ปลาชนิดนี้แพร่กระจายได้รวดเร็วมาก จนทำให้ ส่งผลกระทบรุนแรง ดังที่ทราบ ๆ กัน

แต่ก็ดังที่ได้ระบุไว้… ตอนนี้ยังไม่อาจสรุปยอดผลกระทบร้ายแรงที่เกิด…เพราะ “ปัญหายังไม่จบ!!” และทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอสะท้อนเสริมไว้ด้วยว่า… กรณี ’เอเลี่ยนสปีชีส์“สิ่งที่ ’ไทยต้องกลัว“นั้น “มิใช่มีแค่ปลาหมอคางดำ” ยังมีสัตว์น้ำอื่น ๆ อีก และก็ “มิใช่มีเพียงสัตว์น้ำ” ยังมีสัตว์บก สัตว์ปีก รวมถึงที่เป็นพืชด้วย!! ทั้งนี้ มีข้อมูลโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ระบุไว้ว่า… ปัจจุบันในไทยมี “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” หรือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” อยู่มากกว่า 3,500 ชนิด มีราว 138 ชนิด ที่รุกรานในไทยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำ ที่ถูกนำเข้ามาโดยตรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร การเพาะเลี้ยง และก็มีการระบุถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไทย ’ต้องป้องกันควบคุมกำจัด“ ว่า…

แบ่งเป็น 4 รายการ ดังนี้คือ… ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ยังไม่เข้ามาในไทย“ที่มีข้อมูลหลักฐานว่ารุกรานประเทศอื่นแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ามาในไทย, ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ยังไม่รุกราน แต่พบการรุกรานแล้วในประเทศอื่น“หมายถึงที่เข้ามาในไทยแล้ว และก็มีหลักฐานว่ารุกรานในประเทศอื่นแล้ว, ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน“นี่แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหลักฐานการรุกรานในถิ่นอื่น ที่ก็เข้ามาในไทยแล้ว ซึ่งอาจระบาดรุกรานถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุนหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยน แปลง เพราะสามารถตั้งถิ่นฐานแพร่กระจายในธรรมชาติ กับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีต แต่สามารถควบคุมดูแลได้แล้ว

และอีกรายการคือ… ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานไทยแล้ว“ ที่เข้ามาในไทยแล้ว สามารถตั้งถิ่นฐานแพร่กระจายได้ในธรรมชาติจนเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งอาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น-ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ อาจคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขอนามัยมนุษย์ …ซึ่ง “ปลาหมอคางดำ” ก็เข้าข่ายเกือบครบในรายการนี้…

วันนี้ในไทย ’เจ๊งกันยับ-จับกันจนท้อ“
กับเจ้า ’ปลาหมอเอเลี่ยน“ ตัวร้าย…
ที่ก็น่าคิด ’ร้าย!!…ปลาหรือคน??“.