เพราะตั้งแต่เปิดให้มีการเลือกสว.เข้าสภา ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต่างก็มีชนวนให้เกิดข้อสงสัยจนมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่กกต.กว่า 800 เรื่อง ได้ดำเนินการเหลือ 200 กว่าเรื่อง และหลังจากที่กกต.ประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว ก็ต้องสะสางข้อสงสัยในคดีร้อนต่างๆ ให้เกิดความกระจ่าง เพื่อเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นให้เกิดกับองค์กร

โดย “แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงยืนยันว่าเรื่องร้องเรียนจากทั้งหมดกว่า 800 เรื่อง ได้ดำเนินการเหลือ 200 กว่าเรื่อง ในส่วนคุณสมบัติผู้สมัครและลักษณะต้องห้าม กกต.ได้ตรวจสอบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น 200 สว.หรือตัวสำรอง 100 คน

สำหรับการร้องเรียนประเด็นเลือกสว.โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตอนนี้มี 47 เรื่องหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะเอาผิด ทั้ง ฮั้ว บล็อกโหวต จัดตั้ง สำนักงาน กกต.จึงขอความร่วมมือ ขอคนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) เพื่อหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หาผู้อยู่เบื้องหลัง นำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่า เกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่

ขณะที่ 200 สว.ป้ายแดงตบเท้าเข้ารายงานตัวคึกคัก โดยกลุ่มสว.อิสระจำนวน 30 คน ประกาศรวมตัวจับกลุ่ม “สว.พันธุ์ใหม่” รวมพลจะไปรายงานตัวพร้อมกันในวันที่ 15 ก.ค. 

เล็งหาตัวแทนลงชิงเก้าอี้ “รองประธานวุฒิสภา” ในสัดสวนของผู้หญิง และประธานกรรมาธิการชุดต่างๆ แข่งกับสว.ค่ายสีน้ำเงิน ที่ส่งบิ๊กหมง“มงคล สุระสัจจะ” สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภา เพราะเป็นคนใกล้ชิดบ้านใหญ่บุรีรัมย์

และในวันไปรายงานตัวที่สภา “บิ๊กหมง”ยังได้สวมเสื้อตราสัญลักษณ์สีเหลือง สอดคล้องกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่สส.พรรคภูมิใจไทย ก็สวมเสื้อผ้าไทยสีเหลือง มาประชุมสภาฯ ด้วยเช่นกัน

“บิ๊กหมง” เต็งหนึ่งนั่งประธานวุฒิสภา ออกมาบอกว่า ขอเวลาเรียนรู้งานก่อนตัวเองถือว่ามาจากก้อนดินก้อนทราย เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา การทำงานในครั้งนี้ ต้องการทำหน้าที่เพื่อตอบแทน หลังจากก่อนหน้านี้ตนเป็นข้าราชการ มาถึงจุดนี้ได้ก็เป็นบุญวาสนา ยอมรับเครียดและกดดันกับกระแสนั่ง ‘ประธานวุฒิสภา’ ระบุตื่นเต้นจนเดินไม่เป็น ขอสื่ออย่าห้อมล้อม ‘ไม่ชอบแบบนี้’

ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตาการงัดข้อกันระหว่างสว. กลุ่มอิสระกับค่ายสีน้ำเงินที่มีสมาชิกเกิน 100 คน และมีนักเลือกตั้งระดับครูใหญ่เป็นคนวางเกม

แต่นอกจากตัวเต็งประธานวุฒิสภาเป็น “บิ๊กหมง” แล้วยังมี “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  อดีตผู้ช่วยผบ.ทบ.และมทภ.4 อดีตทหารคนดัง เพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2561 (วปอ.61) กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกฯและรมว.มหาดไทย  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นผู้คุมเกมในสภาสูง

ภารกิจของวุฒิสภาเป็นหนึ่งในกลุ่มอำนาจที่สามารถชี้เป็นชี้ตายประ เทศได้ และหน้าที่บทบาทสำคัญตามรัฐธรรมนูญ คือ การทำงานด้านนิติบัญญัติ  กลั่นกรองการตรากฎหมายสำคัญๆ ที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ขณะนี้ก็มีอยู่หลายเรื่องที่เป็นวาระร้อน ทั้งเรื่องการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ รวมไปถึงกฎหมายดึงกัญชาไปเป็นยาเสพติด  ขณะเดียวกันสามารถติดตามตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ด้วย 

นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่จอคิวเข้ามาเริ่มจากการสรรหา ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ อัยการสูงสุด ตามด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ 2 คน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 คน สรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 คน ครบวาระในเดือน ก.ย. 2567 และการสรรหา ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

ดังนั้นองค์กรอิสระถือเป็นกลไกหนึ่งที่มีผลต่อสถานการณ์การเมือง จึงเป็นแต้มต่อ หากใครคุมสว.ในสภาสูงได้ ก็จะมีอำนาจในมือ เพื่อไว้ต่อรอง หรือคุมเกมการเมืองในภายหลังได้

และวาระร้อนที่จะกลายเป็นเรื่องที่น่าจับตา คือ การดึงกัญชาเข้ามาเป็นยาเสพติด ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ออกแรงต้านไม่เห็นด้วย ทำให้เห็นแวว เวทีสภาสูงจะเป็นเวทีที่ใช้ต้องประลองกำลังกันในอนาคต เรื่องนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นรอยร้าวหนึ่งในสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นที่รู้กันว่า พรรคภูมิใจไทย ชูนโยบายเอากัญชาออกจากยาเสพติด และสำเร็จได้ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่เกมพลิกเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล ที่มีนายใหญ่บ้านจันทร์สองหล้าคอยถือหางเสือ มีบัญชาให้ลุยแก้ปัญหายาเสพติด โดยส่ง“เศรษฐา” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินลุยแก้ปัญหาทั้งประเทศ พร้อมดึงกัญชาเข้าสู่ยาเสพติด

ทำเอา“สส.แนน” บุณย์ธิดา สมชัย  สส.อุบลราชธานี  โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมสส.พรรคภูมิใจไทย  ต้องออกมาแถลงถึงจุดยืนของพรรคในฐานะเป็นผู้ริเริ่ม และเป็นผู้บุกเบิกเปลี่ยนจากกัญชาเป็นยาเสพติด เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ สุขภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา ไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่ด้วยเหตุผลกลใด เกมการเมืองใดที่เกิดขึ้นทำให้ร่างพ.ร.บ.ไม่ผ่านในสภารอบที่แล้ว แต่ในสภาสมัยปัจจุบัน ได้เสนอพ.ร.บ.ควบคุมกัญชา ไปตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 รอเข้าสู่ระเบียบวาระของสภาต่อไป 

“พรรคเพิ่งปลดล๊อกกัญชาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แล้วอยู่ดีๆ วันนี้มีการเสนอให้กลับไปเป็นยาเสพติดอีก ปัจจุบันมีโดยการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางเศรษฐกิจ มีประชาชนหลายชุมชน ลงทุนเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้าน แล้วจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ จึงบอกว่าจะต้องมีการออก พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ให้ออกมาควบคุม ดีกว่าที่จะกลับไปกลับมา แล้วกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต”  

ขณะที่ม็อบกัญชา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้ยกระดับการชุมนุมแบบอารยะขัดขืน อดข้าวประท้วง นอกจากนี้ยังมีประเด็นดราม่า ลูกผู้ป่วยมะเร็งหอบพ่อรักษาจนรอดตาย ขู่ฟ้องศาลปกครองหากดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด

ยังไม่รวมกับการเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่ จ.นครราชสีมา ปลุกพลังคนรักป่าร่วมลงชื่อคัดค้านในเว็บไซต์ จนเกิดกระแส “#Saveทับลาน” ขึ้นติดเทรนอันดับหนึ่ง

ร้อนถึง “นายกเศรษฐา” ออกชี้เป้าว่า เรื่องนี้เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกำกับดูแล

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่าง “บิ๊กป้อม”กับ“นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวเชื่อม และพร้อมที่จะย้ายบ้านซบเพื่อไทยเมื่อสบโอกาส

จะเห็นได้ชัดในวาระที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็นเจ้าภาพนัดกินข้าวในวันที่ 15 ก.ค.แต่ “บิ๊กป้อม”ไม่ได้ไปร่วม ส่งพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ จน “นายกฯเศรษฐา” ต้องพลิกบท กวักมือเชิญให้ บิ๊กป้อม เข้าร่วมงานเลี้ยง

อย่าลืมว่ารัฐบาลที่ผ่านมามักจบลงด้วยปัญหารอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมากกว่าเสียงฝ่ายค้าน 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็เกิดแรงสั่น เริ่มตั้งแต่ “วรชัย เหมะ” อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของรองนายกรัฐมนตรี(นายภูมิธรรม เวชยชัย) ออกมาสอนมวย เศรษฐา แนะให้ลดการเดินสายลงพื้นที่ แล้วหันมานั่งทำงานพุ่งเป้าสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม ปลุก หมอมิ้ง”นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯออกมาโต้ จน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ต้องออกมาสยบศึก

ตามติดด้วยแรงเขย่าจากบ้านบางบอน “วัน อยู่บำรุง” อดีต สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศว่า จะยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และสัปดาห์หน้า จะไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หลังเจอ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ปลื้มโชว์พราวตำหนิ เหตุปรากฏภาพไปร่วมติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานีที่บ้าน “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งเป็นคู่แข่ง“ชาญ พวงเพชร”ที่พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน

งานนี้เป็นการวัดบารมีของทายาทบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่จะสยบความร้อนแรงบ้านบางบอนได้อย่างไร

แต่สภาพปัญหาที่ทำให้คนรับรู้ได้ช่วงนี้ คือ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการรอเงินหมื่นจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนแต่ยังแทงกั๊กการใช้งาน ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ล่าสุดจะไม่ใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะรัฐบาลไม่มั่นใจว่าผิดกฎหมายหรือไม่

อีกทั้งยังมีการปรับลดเป้าหมายจาก 50 ล้านคนเหลือ 45 ล้านคน โดยอ้างว่าจะมีประชาชนที่มีสิทธิ์ แต่ไม่มาลงทะเบียนราวร้อยละ 10 และอาจไม่ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.แล้ว ทำให้จะเหลือเงินสำหรับใช้ในโครงการนี้เพียง 450,000 ล้านบาทเท่านั้น

จนเจอ “ไหม” ศิริกัญญา ” ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ อัด เศรษฐกิจซบเซา รัฐบาลอั้นงบกลาง 67 ไว้โปะดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน ทำเอานายกฯของขึ้นสวนกลับจนกลายวาทะเด็ดกลางสภาว่า รัฐบาลทำทุกอย่างถูกต้องทำอย่างซื่อสัตย์ ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลนี้จะวิ่งสู้เพื่ออนาคต และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะช่วยกันวิ่งสู้ต่อไป เพื่อปัจจุบันที่ดีกว่า สู้กับแรงค้านที่ไร้อนาคต

มาถึงเวลานี้ต้องจับตาดู รัฐบาลเศรษฐา” ว่า จะใช้กลยุทธ์ใดที่จะพารัฐนาวาฝ่ากระแสรุมเร้าไปได้ และจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบคิดใหญ่ ทำเป็น ได้อย่างไร.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่