ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนทำความเข้าใจพฤติกรรมซื้อขายวุฒิการศึกษา ทั้งด้านกฎหมายและผลกระทบเชิงสังคมกับ ทนายศีรวิษ สุขชัย เจ้าของเพจทนายเบียร์ศีขี้ฟ้อง ให้มุมมองว่า ด้วยเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องยกเลิกกิจการ และทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานหลายอัตรา ทำให้ต้องมีการแข่งขันเข้าทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคง การหาคนที่มีความรู้ที่เข้ามาพัฒนาองค์กร จึงต้องสรรหาจากสายงานในวิชาชีพนั้นๆ และวุฒิการศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่นายจ้างพิจารณาเบื้องต้นในการรับเข้าทำงาน

ทั้งนี้ การเข้าสังคมสำหรับนักธุรกิจที่ไม่มีเวลาเรียนในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะปริญญาโท หรือปริญญาเอก วุฒิการศึกษาจึงจำเป็นต่อวงศ์ตระกูล เพื่อต่อยอดต้นทุนทางสังคมที่ไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ หรือถึงระดับเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง หาซื้อวุฒิการศึกษาได้ตามข้อความโฆษณาทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีตั้งแต่วุฒิการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา , ปวช. , ปวส. , ปริญญาตรี พร้อมใบรับรองและทรานสคริปต์ โดยแอบอ้างสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจหาทางลัดด้วยการซื้อวุฒิการศึกษาปลอม เพื่อใช้ในประโยชน์ของตนเอง ซึ่งคนซื้อวุฒิการศึกษาอาจถูกผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ดำเนินคดีในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 268 ทั้งนี้ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงอีกด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ขณะที่“คนใช้”วุฒิการศึกษาปลอม อาจถูกมหาวิทยาลัยดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นตัวการ หรือผู้สนับสนุนสำหรับผู้ทำ หรือขายวุฒิการศึกษาปลอมแล้วแต่กรณี

ส่วน“คนทำ”หรือ“ขาย”วุฒิการศึกษาปลอม ที่แอบอ้างว่าเป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัยทำวุฒิการศึกษาได้จริง และสามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนบัณฑิต โดยไม่ต้องเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแต่อย่างใด มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265

การใช้วุฒิการศึกษาปลอมนี้ ซึ่งทำให้องค์กร ผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง หลงเชื่อว่าสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาจริง ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติตามเอกสารนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัยและองค์กร ผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง”

ทนายศีรวิษ ระบุ ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้ลงโทษคนใช้วุฒิการศึกษาปลอมให้“จำคุก”ในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม โดย“ไม่รอการลงโทษ”จำคุก เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2563

“ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่กลับหาคนทำปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัย ปลอมปริญญาบัตร และปลอมใบรับรองผลการศึกษา ของมหาวิทยาลัย ให้แก่จำเลย

ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการสมัครงาน และจำเลยได้สมัครงานกับสหกรณ์บริการชุมชนตำบล โดยอ้างเอกสารปลอมดังกล่าว จนสหกรณ์บริการชุมชนตำบล หลงเชื่อว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาจริง จึงรับจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด ทั้งที่จำเลยไม่มีคุณสมบัติตามเอกสารนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัยและสหกรณ์บริการชุมชุนตำบล

พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟัง เพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย”

สำหรับการใช้วุฒิการศึกษาปลอม ส่วนใหญ่องค์กร ผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง จะจับได้ว่ามีการปลอมวุฒิการศึกษา เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนถึงพฤติกรรมของผู้ใช้วุฒิการศึกษา ที่เมื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นๆแล้ว ไม่มีความรู้ความสามารถจริง หรือมีเหตุทุจริตภายในองค์กร ไม่เว้นแม้แต่นักการเมือง ซึ่งในอดีตยังมีการตรวจสอบถึงวุฒิการศึกษาของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีประวัติไม่ดี หรือที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

กรณีลูกจ้างใช้วุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครงาน ทนายศีรวิษ ระบุ การทำงานตามสัญญาว่าจ้างถือได้ว่า“กลฉ้อฉล” และมีผลให้การว่าจ้างเป็น“โมฆียะ”ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 นายจ้างสามารถ“บอกล้าง”นิติกรรมสัญญาว่าจ้าง เพื่อให้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวตกเป็น“โมฆะ” และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏว่าไร้ฝีมือ นายจ้างชอบที่จะบอก“เลิกสัญญา”ว่าจ้างได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือบอกกล่าวล่วงหน้า

ทนายศีรวิษ ยังฝากทิ้งท้ายถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่าร่วมงานกับบุคคลโดยพิจารณาเพียงวุฒิการศึกษาเท่านั้น ประสบการณ์และความสามารถก็ควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย โดยสถานบันการศึกษาควรมีระบบที่เข้มงวด ก่อนจบการศึกษาต้องมีการขึ้นทะเบียนบัณฑิต และต้องส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัย“อนุมัติ”ก่อนให้อธิการบดีเซ็นลงนาม เอกสารทุกฉบับต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ

พร้อมฝากองค์กร ผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง ก่อนรับบุคคลใดร่วมงานให้ประสานไปยังสถาบันการศึกษาต้นสังกัด เพื่อให้ทราบถึงวุฒิการศึกษาของบุคคลนั้นว่ามีอยู่จริง

การซื้อขายวุฒิการศึกษาปลอมในสถานการณ์ของประเทศไทยยังคงระบาดอย่างหนัก นอกจากการกระทำดังกล่าวนี้จะผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่สถาบันศึกษา สังคม และประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึงด้วย”ทนายศีรวิษ ระบุ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]