หลายสัปดาห์ต่อมา อดีตครูคนนี้ ซ่อนตัวอยู่ในรถตู้ลักลอบขนคนเข้าประเทศไทย ซึ่งเธอมีเพียงเสื้อผ้า, เงินสด และบัตรประจำตัวประชาชน และไม่รู้ว่าจะกลับเมียนมาเมื่อไหร่ อีกทั้งในตอนนี้ คายต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพในกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีเอกสารใด ๆ และกังวลตลอดเวลาว่า ตำรวจไทยอาจเจอตัว และส่งเธอกลับประเทศบ้านเกิด

คาย เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มสิทธิคนรุ่นใหม่หลายหมื่นคน ซึ่งคาดว่าหลบหนีออกจากเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพประกาศใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อเสริมกำลังทหารที่มีจำนวนคนลดลง

นายวาย ย่าง ทำงานอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร

อนึ่ง รัฐบาลทหารเมียนมา กำลังต่อสู้กับการต่อต้านการรัฐประหารในปี 2564 อย่างกว้างขวาง และทหารต่างถูกกล่าวหาว่า ก่อเหตุนองเลือด และใช้การโจมตีทางอากาศกับปืนใหญ่ เพื่อลงโทษชุมชนพลเรือน

รัฐบาลทหารระบุว่า ต้องการเกณฑ์ทหารที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 5,000 นายต่อเดือน แต่รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือก, สถานที่เกณฑ์ทหาร และวิธีรับราชการ ยังคงไม่ชัดเจน กระนั้น การที่สื่อรายงานว่า มีชายหนุ่มหลายคนถูกพาตัวเข้ากองทัพ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกมากขึ้น แม้กองทัพปฏิเสธการกระทำดังกล่าวก็ตาม

“กฎหมายการเกณฑ์ทหารนั้นหมายความว่า พวกเราต้องมาเข่นฆ่ากันเอง” นายวาย ย่าง วัย 26 ปี จากรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกของเมียนมา ผู้ข้ามชายแดนเข้ามาในไทย เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กล่าว “เราไม่ได้ทำสงครามกับศัตรูต่างชาติ แต่พวกเรากำลังต่อสู้กันเอง”

ไม่นานหลังจากการบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร รัฐบาลทหารของเมียนมาได้กระชับข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ข้ามพรมแดนทางบกของประเทศ และระงับการออกใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ ให้กับชายฉกรรจ์เป็นการชั่วคราว

ความเคลื่อนไหวข้างต้นส่งผลให้ชาวเมียนมาจำนวนหนึ่ง เลือกเดินทางออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งบางคนถึงขั้นยอมขายทรัพย์สินทั้งหมดของตัวเอง เพื่อแลกกับการให้ “นายหน้า” ลักลอบพาพวกเขาข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชุมชนเมียนมาขนาดใหญ่มาอย่างยาวนาน ตลอดจนมีตลาดที่คึกคักในกรุงเทพมหานคร และเมืองต่าง ๆ ตามแนวชายแดน

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทำให้ยากต่อการสำรวจหรือตรวจสอบจำนวนคนหนุ่มสาว ที่หนีการเกณฑ์ทหารไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไอแอลโอได้รับตัวเลขประมาณการจากแหล่งข้อมูลภาคพื้นดิน ซึ่งระบุว่า มีชาวเมียนมา “หลายแสนคน” หลบหนีกฎหมายการเกณฑ์ทหาร

ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งข่าวในรัฐบาลทหารเมียนมา รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทหารเกณฑ์ชุดที่ 1 ประมาณ 5,000 นาย ซึ่งผ่านการฝึกฝนตามการเรียกเสริมกำลังพล เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จะถูกกระจายกำลังไปปฏิบัติหน้าที่ยังฐานประจำการทั่วประเทศ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP