เพราะเรื่อง “ขยะ” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หากแต่เป็น “เรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ” สำหรับชุมชน เมือง ประเทศ ดังนั้น กับ ’พนักงานเก็บขยะ“ ก็จึงถือว่า ’มีความสำคัญ“ และควร ’ต้องให้ความสำคัญ“ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วดูจะมิได้เป็นดังว่า ซึ่งก็ฉายชัดได้จากกรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดกระแสอื้ออึงในบางพื้นที่ หลังมีการเปิดเผยว่า…ในพื้นที่ดังกล่าวกำลังเผชิญ “ปัญหาขยะล้นเมือง” เนื่องจากเกิด ’วิกฤติขาดแคลนคนที่จะมาทำหน้าที่เก็บขยะ“ จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาขยะตกค้างล้นเมือง และก็มีการเผย “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดวิกฤตินี้ว่าเพราะ ’ไร้คนสมัครทำงานนี้“ เนื่องจากอาชีพนี้ถูกมองว่า…

’ไม่น่าอภิรมย์“ ซ้ำ ’รายได้ก็น้อยนิด“
นี่จึง ’ไม่จูงใจคนให้สนใจมาทำงานนี้“
และ ’เหตุผลที่ว่าก็ดูจะถูกต้องจริง ๆ“

เกี่ยวกับ “อาชีพพนักงานเก็บขยะ” ที่คนส่วนใหญ่ต่างก็มองว่าเป็น “อาชีพที่ไม่น่าอภิรมย์” นั้น…ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกนั่นก็ถูกต้อง ขณะที่ในแง่ “รายได้ที่น้อย” นั้น…ในแง่นี้ก็ถูกต้องเช่นกัน และก็น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่จูงใจให้คนสนใจจะทำ…แม้จะเรียนจบไม่สูง-ว่างงาน เพราะแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อดูที่ “อัตราค่าตอบแทน” จากประกาศรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราว ปี 2565 ก็พบตัวเลขค่าตอบแทน พบกรณี ’รายได้พนักงานเก็บขยะ“ ที่ระบุไว้ว่า… ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่ง “พนักงานกวาดขยะพนักงานเก็บขยะ” นั้น… มีรายได้เริ่มต้นอยู่ที่ราว ๆ 8,690 ต่อเดือน

นี่คือ “รายได้-ค่าตอบแทน” ของอาชีพนี้
ย้ำว่า ’นี่ขนาดว่าทำงานในเมืองหลวง“

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “คุณภาพชีวิตพนักงานเก็บขยะ” ที่ในมุมวิชาการก็ได้ให้ความสนใจ มีการศึกษาเกี่ยวกับ “คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานเก็บขยะมูลฝอย” เช่นการศึกษาโดย นงนภัส ธรรมบรรเทิง ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เลือกกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นพนักงานเก็บขยะในพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพฯ และได้มีการระบุเหตุผลที่ทำการศึกษาไว้ว่า…เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงหาแนวทางแก้ไขอุปสรรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานเก็บขยะมูลฝอย…

งานศึกษาวิจัยนี้พบข้อมูลน่าสนใจ
ที่ ’ฉายภาพชีวิตพนักงานเก็บขยะ“

ในรายงานศึกษาวิจัยนี้ นงนภัส ระบุไว้ว่า… กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นพนักงานเก็บขยะมูลฝอยจำนวน 110 คน โดยผลวิจัยก็พบว่า… ปัจจัยด้านเงินเดือน“ คือปัจจัยส่วนบุคคลที่ ’ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานมากที่สุด“ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานตำแหน่งนี้ส่วน ปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ได้แก่ อายุ การศึกษา ระยะเวลาการทำงาน ขณะที่ประเภทบุคลากรนั้น ไม่ได้มีผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานที่แตกต่างกันมากนัก …นี่เป็นสิ่งที่งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ค้นพบ

เงินเดือน” เป็น “ปัจจัยหลักที่สำคัญ”
โดย “เกี่ยวพันกับกรณีคุณภาพชีวิต!!”

ทางผู้ศึกษาวิจัยยังได้มีการระบุไว้ในรายงานอีกว่า… คุณภาพชีวิต (Quality of Life)” นับเป็น “กลไกสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ซึ่งอยู่ในวัยต้องหาเลี้ยงชีพผ่านระบบการทำงาน” ซึ่งก็รวมถึง “อาชีพพนักงานเก็บขยะ” ที่เป็น “ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการทำหน้าที่เพื่อความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้พื้นที่น่าอยู่อาศัย” อย่างไรก็ตาม แม้คนกลุ่มนี้สำคัญในฐานะผู้รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากแต่ผู้คนบางส่วนกลับรังเกียจอาชีพนี้ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับขยะมูลฝอยที่เป็นสิ่งสกปรก ดังนั้น “อาชีพพนักงานเก็บขยะ” จึงจำเป็นที่จะต้อง…

“รู้สึกรักในอาชีพ” และ “ต้องเสียสละ”
การทำหน้าที่นี้จึงจะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัยที่ทำไว้โดย นงนภัส ธรรมบรรเทิง ยังระบุไว้ด้วยว่า… คนที่ทำอาชีพ “พนักงานเก็บขยะมูลฝอย” อยู่ แม้ส่วนใหญ่จะพอใจในการทำงาน แต่เพื่อที่จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน ก็ ควรมีการ ’แก้ไขปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงาน“ของพนักงาน ในด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ… ด้านผลตอบแทน ต้องให้มีรายได้ที่เพียงพอและยุติธรรม โดยควรพิจารณาปรับฐานเงินเดือนตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของคนกลุ่มนี้ และจะช่วยลดการเปลี่ยนงาน ลดการลาออก เพื่อทำให้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนพนักงาน มีพนักงานเพียงพอต่อปริมาณงาน

ส่วนอีกด้านที่ก็มีการเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุง นั่นคือด้านความปลอดภัยจากการทำงานหน้าที่นี้ ที่ ควรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น ทั้งกรณีสถานที่ทำงาน กรณีสุขภาพร่างกาย เนื่องจาก คนทำอาชีพนี้ต้องสัมผัส ’เชื้อโรค“ รวมถึง ’สิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคามสุขภาพ“ ที่มากับขยะมูลฝอย โดยกรณี “ภัยคุกคามชีวิต” นี่ก็น่าคิด…

’พนักงานเก็บขยะ“ นั้น ’ก็สำคัญมาก“
หากแต่ ’ในไทยคุณภาพชีวิตยังไม่ดี“
ทั้งที่ ’มีภัยที่อาจคุกคามชีวิตด้วย!!“.