หลังผ่านพ้นการประชันวิสัยทัศน์นัดแรก ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำ ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา บทบรรณาธิการออนไลน์ของเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เป็นสื่อใหญ่แห่งแรกของสหรัฐ ที่เผยแพร่บทความ มีเนื้อหาตรงไปตรงมาว่า “การทำเพื่อประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งไบเดนจะสามารถทำได้ตอนนี้ คือการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่สอง”

เนื้อหาในบทความระบุต่อไปว่า ผู้นำสหรัฐไม่สามารถอธิบายเป้าหมายสำหรับสมัยที่สองได้ ไม่สามารถโต้แย้งข้อกล่าวหาของทรัมป์ ไม่สามารถเป็นฝ่ายรุกในการดีเบต และไม่สามารถกล่าวจบประโยคเองได้ “มากกว่าหนึ่งครั้ง”

ขณะที่ ดิ แอตแลนติก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสื่อใหญ่ของกลุ่มการเมืองฝ่ายเสรีนิยม เผยแพร่บทความ 6 ชิ้น มีเนื้อหาไปในทางเดียวกัน เรียกร้องไบเดนยุติเส้นทางของการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ซึ่งจะมีการลงคะแนน ในวันที่ 5 พ.ย. นี้

บทความออนไลน์ของเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เรียกร้องประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผูันำสหรัฐ ยุติเส้นทางของการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี

นอกจากนั้น สื่อใหญ่อีกหลายแห่งของสหรัฐ รวมถึง เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เผยแพร่บทความเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐวัย 81 ปี ถอนตัวเช่นกัน โดยนางเพกกี นูแนน หนึ่งในคอลัมนิสต์การเมืองของ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ถึงขั้นเขียนในบทความว่า การที่พรรคเดโมแครตยังคงดันทุรังสนับสนุนไบเดนต่อไป “ถือเป็นการรังแกคนแก่”

ด้านไบเดนยังคงยืนยันว่า อายุที่มากถึง 81 ปีแล้ว “ไม่เป็นอุปสรรค” แต่ยอมรับว่า “ทำได้ไม่ดี” ในการประชันวิสัยทัศน์นัดแรกกับทรัมป์ วัย 78 ปี โดยไบเดนให้เหตุผลว่า “พักผ่อนไม่เพียงพอ” เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางเยือนหลายประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันดีเบต และไม่ได้เตรียมการกับทีมงานในเรื่องนี้มากพอ พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า “เกือบหลับ” ระหว่างอยู่บนเวที

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐ บนเวทีประชันวิสัยทัศน์ จัดโดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ที่เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจีย 27 มิ.ย. 2567

กระนั้น บทวิเคราะห์ของยูเอสเอ ทูเดย์ ระบุว่า “ไม่พบสัญญาณความง่วง” ของผู้นำสหรัฐ ระหว่างการดีเบตครั้งนี้ และผู้นำสหรัฐไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันดีเบต.

นอกจากนี้ ไบเดนไม่ได้กล่าวถึงสภาพร่างกายในวันดีเบต ว่ามีอาการป่วยหรือไม่ ทั้งที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า การที่ผู้นำสหรัฐทำผลงานได้ไม่ดีพอในวันดีเบต “เนื่องจากมีอาการรบกวนจากโรคหวัด”

อย่างไรก็ตาม บรรดาแกนนำพรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็น อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรมว.การต่างประเทศสหรัฐ นางแนนซี เปโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐคนปัจจุบัน ยังคงยืนยัน สนับสนุนไบเดน ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ทว่าผลสำรวจความคิดเห็นของอเมริกันชนกลับสวนทาง โดยเริ่มมีการให้ความเห็นมากขึ้น จากประชาชนซึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครต ว่าไบเดนควรถอนตัวออกจากการเลือกตั้งนี้ และมีรายงานด้วยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตอย่างน้อย 25 คน เตรียมเข้าชื่อเรียกร้อง ให้ไบเดนถอนตัวออกจากการเป็นตัวแทนพรรค

สื่อมวลชนในสหรัฐไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะต่อการตัดสินใจของประชาชนในทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงการกำหนดนโนบายของพรรคการเมือง และฝ่ายบริหารในประเทศด้วย โดยเฉพาะรายการข่าวทางโทรทัศน์ในอดีต

ชายหนุ่มยืนถือป้ายหน้าทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เรียกร้องประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการสู้ศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.พ. 2511 นายวอลเตอร์ ครอนไคต์ หนึ่งในผู้ประกาศชื่อดังแห่งยุคในเวลานั้น อาศัยรายการข่าวของตัวเอง ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างเปิดเผย ต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายแท้จริง ที่สหรัฐส่งทหารเข้าไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม หลังกองกำลังเวียดกงจู่โจมสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ที่กรุงไซ่ง่อน หรือเมืองโฮจิมินห์ในปัจจุบัน

มีรายงานว่า ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น กล่าวถึงรายการของครอนไคต์ว่า หากสหรัฐพ่ายแพ้ที่เวียดนาม อาจนำไปสู่การสูญเสียอิทธิพลในอเมริกากลาง แล้วหลังรายการของครอนไคต์ที่ออกอากาศวันนั้นเพียงเดือนเดียว จอห์นสันประกาศถอนตัวออกจากการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยให้เหตุผลเพียงว่า “ไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง”

แม้ภูมิทัศน์สื่อตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 56 ปีที่แล้ว สำนักข่าวในสหรัฐนำเสนอเนื้อหาแบบแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น และสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลน้อยลง แต่ปฏิกิริยาของสื่อมวลชนที่ออกมา ย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยเฉพาะบรรดานายทุนของพรรคได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญของไบเดน คือ ทรัมป์ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันเพียง 3 ปี ยังคงดูกระฉับกระเฉง และสื่อสารได้มีประสิทธิภาพกว่ามากในภาพรวม

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขอบคุณเค้กวันเกิดที่มวลชนฝ่ายสนับสนุนมอบให้ ในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 78 ปี ระหว่างการปราศรัยที่เมืองเวสต์ ปาล์ม บีช ในรัฐฟลอริดา 14 มิ.ย. 2567

รายงานบางกระแสระบุว่า บรรดาผู้สนับสนุนรายใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งรวมถึงบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอน วัลเลย์ หารือกันเองเป็นการภายใน เกี่ยวกับการหาทางโน้มน้าวนางจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เจรจากับสามี ขอให้อีกฝ่ายถอนตัวออกจากการเลือกตั้งครั้งนี้

วิกฤติด้านการสื่อสารและภาพลักษณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับไบเดน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เจ้าตัวรับทราบกระแสวิจารณ์มากน้อยเพียงใด แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นของผู้นำสหรัฐ น่าจะเป็นคำตอบได้ชัดเจนเกี่ยวกับ แรงกกันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีกับทรัมป์ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อดีตผู้นำสหรัฐกล่าวเช่นกันว่า หากจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกครั้งนี้จริง อยากให้ประชาชนตัดสินจากความสามารถ มากกว่าวัยวุฒิของผู้สมัคร.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES