ภาวะโลหิตจาง คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่ซีดลง กรณีคนไข้บางรายที่มีอาการซีดลงมาก อาจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการเบื่ออาหาร หรือการเจริญเติบโตช้าลงได้

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

  1. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะโลหิตจางจากการที่เม็ดเลือดแดงสร้างได้ไม่เพียงพอ จากการที่เราขาดสารอาหารโดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กจะพบมากในเนื้อสัตว์เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู/เนื้อวัว, ไข่แดง, ผักใบเขียว, ตับ และธัญพืช
  2. สาเหตุที่พบรองลงมาคือ ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการที่ปริมาณเม็ดเลือดแดงสร้างออกมาได้แต่ไม่มีคุณภาพ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ทำให้เม็ดเลือดแดงรูปร่างผิดปกติ มีอายุสั้นกว่าปกติ และถูกทำลายได้ง่าย ซึ่งพบว่าประชากรไทย 1 ใน 3 เป็นโรคพาหะธาลัสซีเมีย
  3. สาเหตุที่เกิดจากการที่ร่างกายมีการสูญเสียเลือดไป เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางโรคที่ทำให้มีเลือดออกเรื้อรังในทางเดินอาหาร หรือในกลุ่มเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่มีประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ


ความสำคัญของธาตุเหล็กคือ ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบหลักของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเม็ดเลือดแดงจะมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ในสมอง และสารสื่อประสาทของเรา ดังนั้นในเด็กที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ไอคิว และการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ถ้ามีภาวะขาดธาตุเหล็กปริมาณมากโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้อย่างถาวร

รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะโลหิตจาง
อันดับแรกคือ ต้องพบแพทย์ก่อนเพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานว่าได้รับธาตุเหล็กเพียงพอหรือไม่ ประวัติคนในครอบครัวมีพาหะธาลัสซีเมียหรือเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ หรือมีภาวะซีดจากสาเหตุอื่นๆ มีการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง และดูขนาดของเม็ดเลือดแดงว่าผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมคือ ตรวจวัดระดับของธาตุเหล็ก ซึ่งในกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กที่ควรตรวจ ได้แก่ เด็กคลอดก่อนกำหนด/เด็กอายุ 6-12 เดือน ที่เพิ่งเริ่มทานอาหารตามวัยช่วงเริ่มต้น อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็จะมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งคือ การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียในกรณีที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมีย

การรักษาภาวะโลหิตจาง
ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าผู้ป่วยเป็นโลหิตจางชนิดอะไร กรณีที่เป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การรักษาคือการให้วิตามินเสริมธาตุเหล็กร่วมกับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อหมู หรือธัญพืช ส่วนโลหิตจางที่เกิดจากโรคธาลัสซีเมีย การรักษาเบื้องต้นกรณีที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดที่ไม่รุนแรงคือการรับประทานวิตามินโฟลิก แต่กรณีผู้ป่วยมีภาวะที่ซีดลงจากการเจ็บป่วย อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับเลือดทดแทน

#โลหิตจาง #ธาลัสซีเมีย #โรคเลือด #ภาวะซีด #ขาดธาตุเหล็ก

บทความโดย
แพทย์หญิง ลลิตา มุสิกรักษ์กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก
ขอแนะนำโปรแกรมตรวจภาวะซีดในเด็กอายุ 9 เดือนขึ้นไป คลิก>> https://tinyurl.com/mwvmkrh9