“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามเล่ห์หลุมพรางซ้ำซ้อน ผ่านเพจรับแจ้งความปลอมที่แพร่ระบาดหนักขณะนี้กับ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท. ยอมรับว่าในช่วงแรกไม่คิดว่าจะมีผู้เสียหาย หรือมีคนหลงเชื่อมิจฉาชีพในรูปแบบเพจปลอมรับแจ้งความออนไลน์ จนกระทั่งพบว่ามีผู้เสียหายในเคสเหล่านี้จำนวนมาก
รูปแบบคือมิจฉาชีพมักหลอกเป็นตำรวจ บางรายก็แอบอ้างเป็นศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทั้งที่จริงช่องทางแจ้งความออนไลน์มีเพียง เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือ สายด่วน AOC 1441 ที่เปิดรับแจ้งความตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 100 คู่สาย พร้อมย้ำ “ข้อสังเกต” เว็บไซต์หน่วยงานรัฐจะลงท้ายด้วย .go.th องค์การเอกชนจะลงท้ายด้วย .or.th และธุรกิจไทยลงท้ายด้วย .co.th
สำหรับพฤติการณ์เพจปลอมจะเริ่มจากทำทีเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐรับแจ้งความออนไลน์ด้วยการพูดคุยผ่าน “แชต” หรือถึงขั้น “วิดีโอคอล” โดยที่ตัวมิจฉาชีพจะแต่งเครื่องแบบเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนใหญ่มักปลอมเป็นระดับ “ผู้กำกับ” มีการจัดฉากหลังเป็นห้องขัง หรืออาจมีเสียงวิทยุสื่อสารให้เสมือนอยู่ในสถานีตำรวจจริง
ต่อมาจะพยายามไม่ให้ผู้เสียหายติดต่อไปยังหน่วยงานตำรวจ หรือหน่วยงานรัฐจริงๆ และหลอกล่อให้โต้ตอบกันในไลน์ของมิจฉาชีพเท่านั้น
ข้อสังเกตในส่วนนี้ มิจฉาชีพส่วนมากไม่มีเบอร์โทรศัพท์ให้โทรฯ กลับได้ ดังนั้น จังหวะนี้แนะนำให้ขอเบอร์เพื่อโทรฯ กลับ หากโทรฯ ไม่ติดให้เชื่อไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยว่า การรับแจ้งความออนไลน์ “ปลอม” มักพบได้ในช่องทางออนไลน์เกือบทุกแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่าง เมื่อเสิร์ชหาหน่วยงานรับแจ้งความผ่าน Google จะพบเว็บไซต์ปลอมอยู่บนสุด เนื่องจากมีการยิงแอดโฆษณา บางครั้งจะพบว่าอยู่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานตำรวจจริงด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขในส่วนนี้
“ที่ผ่านมาตำรวจมีการดำเนินการปิดเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ที่ไม่ถูกต้องต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ปลอมเป็นตำรวจ หรือหน่วยงานรัฐ ที่เรียกว่าเป็นการตอกย้ำ เนื่องจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกมาแล้ว 1 รอบ และหาที่พักพิงเพื่อแจ้งความแต่กลับถูกเพจปลอมรับแจ้งความหลอกซ้ำอีกรอบ”
นอกจากมาตรการข้างต้น พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ ระบุ ก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่เอาผิดโดยตรงกับบัญชีม้าและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนตัวมองว่ากฎหมายอัดฉีดเต็มที่แล้ว ที่เหลือจึงอยากให้ทั้งประชาชน สถาบันการเงิน ตำรวจ กสทช. เครือข่ายสื่อสาร ปปง. ร่วมขับเคลื่อนปราบปรามสิ่งเหล่านี้ให้เด็ดขาด
“ตนอยากเน้นย้ำถึงการแจ้งความออนไลน์ที่ถูกต้องของตำรวจและหน่วยงานรัฐของจริงมีเพียงแค่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th และสายด่วน AOC 1441 สามารถโทรฯ แจ้งความ แจ้งเบาะแส และระงับบัญชีได้ 24 ชั่วโมง เบอร์เดียวจบ”
เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย หรือตกเป็นเป้าหมายสูญเงินให้มิจฉาชีพ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ ระบุ ไม่อยากให้กลุ่มผู้สูงอายุ หรือประชาชนทั่วไปเก็บเงินไว้ในโมบายแบงค์กิ้งทั้งหมด แต่ควรแยกบัญชีไว้เป็นบัญชี “ออฟไลน์” ด้วย เพราะความสะดวกรวดเร็วแม้เป็นเรื่องดี แต่กลับกันก็เป็นช่องทางของมิจฉาชีพด้วย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน