คือมันก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรหน้าแหกเพราะเอารายละเอียดงบเข้า กมธ.นัดแรก ถูกฝ่ายค้านอัดไปน่วมพอสมควรว่าทำไมโครงการใช้เงินตั้ง 1.5 แสนล้านบาทถึงมีรายละเอียดมาไม่กี่หน้า แถมเหตุผลอะไรเอาไปไว้งบกลาง ? ทาง รมต.หนิม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง บอกว่า ให้ไปทำรายละเอียดมาใหม่และเที่ยวหน้าให้ปลัดกระทรวงการคลังมาตอบเองด้วย จะได้กระจ่าง
เรื่องนี้ นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่า จ่ายเงินเป็นเบี้ยหัวแตก , ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ว่า รัฐบาลแจกเงินรัฐบาลรับผิดชอบเอง แต่คนที่วิจารณ์ถ้าไม่แจกแล้วเกิดความเสียหาย คนๆ นั้นจะรับผิดชอบหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า เงินนี้จะนำไปสู่การลงทุนจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น บ้านนึงมี 5 คนก็เอามารวมกันเป็น 5 หมื่น ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือลงทุน ( แต่ซื้ออะไรได้บ้าง ตอนนี้คณะกรรมการเงินดิจิทัลฯ ยังตอนยอนแบบรอนัดประชุมอยู่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันก่อนบอกซื้อมือถือได้ อีกวันบอกซื้อไม่ได้เสียแล้ว เพื่อต้องการกระตุ้นการบริโภคสินค้าในประเทศ เช่นนี้แล้วก็อยากฝากให้คณะกรรมการฯ เปลี่ยนขอบเขตการใช้เงินด้วย เพราะคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตทะเบียนบ้านเพราะมาทำงาน มาเรียน ก็เยอะแยะ )
เรื่องเงินดิจิทัลนี่เป็นนโยบายที่หลายคนหมิ่นหยามพรรคเพื่อไทย ทำนองว่า “มองคนจนเป็นพวกแบมือขอเงิน” ก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง เพราะการให้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีประเทศอื่นทำกันด้วย บางคนก็บอกว่า นายกฯ ไม่รู้สึกอะไรบ้างเหรอ เวลาลงพื้นที่แล้วเห็นชาวบ้านทวงแต่เงินดิจิทัล ..พอถามว่า แล้วจะให้นายกฯ รู้สึกอย่างไร ได้รับคำตอบว่า “มันดูน่าสมเพชไง ที่ไปมอมเมาประชาชนว่าจะให้เงินตั้งหมื่น สัญญาแล้วพอเขาทวงแล้วทวงอีกมันเหมือนทำให้คนพวกนี้ดูเห็นแก่เงิน ไม่ควรเสนอนโยบายเรื่องเงินดิจิทัลเช่นนั้น ยิ่งรัฐบาลยื้อเท่าไร ยิ่งทำให้ชาวบ้านดูแย่”
เท่านี้ในวงสนทนาก็ตั้งข้อสังเกตว่า “ไปว่าชาวบ้านดูหิวเงิน เวลาเจอเขาทวงเงินหมื่น เป็นการดูถูกชาวบ้านหรือไม่ ?” ก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง บางคนก็ว่ารัฐทำให้ภาพของชาวบ้านดูย่ำแย่มาก บางคนก็ว่ารัฐนั่นแหละดูแย่เองที่ไปสัญญาแล้วยึกยักๆ ทำตัวเหมือนรอให้มีองค์กรไหนสักองค์กรมาคว่ำโครงการนี้หวังให้ไม่ต้องกู้-ผันงบมาจ่าย ..แต่ก็มีบางคนว่า ไปว่าชาวบ้าน ว่าคนจนแบบนี้มันดูเป็นการดูถูก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกลั่นแกล้งรังแก ( bully ) เขา
พอได้ยินคำว่า Bully บูลลี่นี่ก็รู้สึกสนใจขึ้นมา ..ปรากฏการณ์ในสังคมสมัยนี้รู้สึกว่า ผู้คนอ่อนไหวเปราะบางกับคำวิจารณ์มาก บางคนได้ยินคนพูดถึงไม่เข้าหูหน่อยก็ว่า “บูลลี่กันเหรอ” การบูลลี่มันมีลักษณะกระทำโดยการใช้ความรุนแรงทางกาย กระทำโดยใช้ความรุนแรงทางวาจา ..ซึ่งกระทำความรุนแรงทางวาจานี่เมื่อก่อนเขาไม่ใคร่จะซีเรียสกันมาก จึงได้เห็นมุขเหยียดเพศ เหยียดหน้าตา เต็มไปหมดในสังคม และเห็นกันเป็นเรื่องสนุก ซึ่งคนฟังบางครั้งก็ไม่ได้คิดอะไร บางครั้งก็มีตอบโต้ไปบ้าง แบบใครปากแซ่บกว่ากันคนนั้นชนะ ( ไม่รู้จะหากันได้หรือไม่ แต่อยากให้ไปดูหนังเรื่อง Phat girl ฉากที่ตัวละครเอกเป็นสาวอ้วนคือ โมนิค ด่าตอบโต้กับพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดแบบคนเริ่มต้องตาย นี่คือตัวอย่าง )
แต่ในปัจจุบัน “การใช้คำพูดด้อยค่าคนอื่น” ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าเป็นเธอถูกพูดแบบนั้นใส่ล่ะ” เพราะเราแคร์สิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น ( บางคนก็บอกไม่ได้แคร์กันมากขึ้นหรอก เพราะในกลุ่มความเห็นต่างทางการเมืองยังด่าด้อยค่ากันปาวๆ ) ก็เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมมีความเห็นอกเห็นใจ ( empathy ) กันมากขึ้น และเราก็รู้สึกได้ว่า คนในสังคมต้องการสิ่งนี้มากขึ้น สังเกตได้จากการที่ผู้มีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น หนังสือพอคเกตบุ๊กประเภทปลอบประโลม เยียวยาใจ จนถึงให้ “ช่างแม่ง” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็มีมากขึ้น แล้วติดอันดับขายดีเยอะด้วย
เราแคร์ความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น เพราะแนวคิดเรื่องความเห็นอกเห็นใจเข้ามามีบทบาทมาก จากที่แต่ก่อนการล้อเลียนธรรมดาๆ จนถึงจิกกัดมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น …ส่วนสาเหตุการบูลลี่ นี่ก็คงบอกได้แค่ว่า “มันมีหลายตัวแปร” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบัน การเชื่อมโลกด้วยโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ทำให้เราพบ“คนแปลกหน้า”มากขึ้น และเราเจอพวกเกรียนคีย์บอร์ดกันมากขึ้น การที่อยู่ๆ เจอใครมาด่าก็ไม่รู้มันก็เป็นการบั่นทอนใจ แล้วยิ่งถ้ารวมตัวกันมารุมถล่มด้วยเรื่องเดียวกันก็ยิ่งชวนให้รู้สึกตัวเองด้อยค่า ยิ่งคนเราใช้ชีวิตกับโลกโซเชี่ยลฯ นานแค่ไหน ก็เหมือนยิ่งอินลึกไปว่านั่นคือโลกจริงของเขา แล้วถ้าอะไรกระทบใจ ไม่เป็นดังใจ ก็ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกมาก
ตัวอย่างจากต่างประเทศ ว่า เขาถือว่า การบูลลี่ด้วยวาจานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ในต่างประเทศ มันเริ่มจากการยอมให้ถูกกระทำทางวาจาก่อน พอเหยื่อไม่ตอบโต้ มันขยายไปถึงการคุกคามทางกายระดับมีผลถึงชีวิต หรือการด้อยค่าทางด้วยวาจา มันมีผลให้เกิดความทุกข์และระบายออกด้วยความรุนแรง ไปจนถึงทำร้ายตัวเอง
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีการเปิดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เปิดงานว่า เราคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายใหญ่ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาทยกระดับชีวิตคนไทยทุกครอบครัว ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี สร้างแรงงานทักษะสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 20 ล้านตำแหน่ง จะต้องมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 แห่ง ยิมมวยไทยทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 แห่ง
ปรากฏว่า สิ่งที่เป็นที่สนใจมากกว่าที่ น.ส.แพทองธารพูด คือชุดลายแถบสีน้ำเงินมีเติมผ้าไทยเป็นลูกเล่น ซึ่งมันก็ดูรุงรังอยู่ มีคนเอาไปเปรียบเทียบว่าได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าเช็ดเท้า .. ก็เห็นหลายคนโวยวายว่า เป็นการบูลลี่อุ๊งอิ๊ง บูลลี่นักศึกษาที่พยายามออกแบบ ..ขณะเดียวกัน คนที่ว่าบูลลี่อุ๊งอิ๊งบางคน อาจขบขันกับเพจดาราเพจหนึ่งที่ชอบวิจารณ์แฟชั่นดาราฮอลลีวู้ดเวลาเดินพรมแดง แล้วเทียบกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ว่า inspiration ( แรงบันดาลใจ ) ของชุดมาจากวัตถุนี้
การวิจารณ์อุ๊งอิ๊งแต่งตัวเป็นการบูลลี่หรือไม่ พื้นฐานอย่างหนึ่งคืออุ๊งอิ๊ง – แพทองธารลงเล่นการเมือง ก็ต้องอดทนการบูลลี่ให้ได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยโดนข้อกล่าวหาเรื่องโกงสอบเข้ามหาวิทยาลัย และแพทองธารในวันนี้..เวลาใครหยิบยกเรื่องนี้มาพูดก็ตอบกลับแบบสบายๆ ก็มีคนพยายามออกมาปกป้องอุ๊งอิ๊ง และพูดแบบตรรกะไปคนละทางว่า ถ้าว่าชุดนี้เชิงลบคือการชังคนอีสาน เพราะเป็นผ้าอีสาน ออกแบบโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อีสาน ซึ่งไม่รู้ว่าโยงเข้าไปได้ไงเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่า คือเวลาคนเราทำอะไรตามอารมณ์ก็มักหาประเด็นมาปะผุให้มันดูมีเหตุผลให้ได้
เป็นการบูลลี่หรือไม่ ? ก็แล้วแต่จะคิด ความรักชอบในตัวอุ๊งอิ๊งและพรรคเพื่อไทยอาจเป็นตัวแปรด้วย .. แต่ปัญหาคือ ผู้ผลิตผลงานต้องยอมรับวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้ได้ด้วย ความสวยไม่สวยแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน ชุดของอุ๊งอิ๊งในวันนั้น ( หรือกระทั่งชุดเดินงานบางกอกนฤมิตรไพรด์ ที่ถูกแขวะว่าเหมือนกระติกเอาผ้าเขียวห่อ ) ก็ดูรุงรังแบบรักพี่เสียดายน้อง โน่นนี่ก็จะใส่มาให้หมด ถึงมันจะเป็นผลงานของนักศึกษา แต่ถ้ามันไม่สวย คนเราก็มีสิทธิ์ให้ความเห็นได้จริงไหม ? ว่ามันไม่สวยตรงไหนอย่างไร ไม่อย่างนั้นผู้ผลิตจะกลายเป็นพวกปิดกั้นตัวเองจากคำวิจารณ์ทั้งหมด โดยใช้เกราะคำว่า บูลลี่ ขึ้นมากำบัง และสู้ด้วยเหตุผลบ้งๆ เพี้ยนๆ ประเภท ..แรงบันดาลใจฉันมาจากนั่นนี่ ถ้าเธอวิจารณ์เท่ากับเธอดูถูกนั่นนี่ที่เป็นแรงบันดาลใจของฉันด้วย บลาๆ ( “นั่นนี่” คืออะไรไปคิดเอง )
ถ้าบังเอิญคนโดนปากแจ๋วหน่อย ก็สวนกลับแบบถึงลูกถึงคน อย่างกรณีพอตแคสของสื่อๆ หนึ่ง ถูกล็อคอินที่ฟังอยู่ต่อว่าว่า แขกที่มาออกรายการพูดยังกะเอไอ ให้เอไอมาพูดก็ได้ โฮสต์ของรายการก็โต้แบบด่าถึงแม่มึง..และก็ออกมาขอโทษ แต่ยังดีที่ไม่พูดว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเหตุผลเขาน่าสนใจดี คือ การที่ต้องปกป้องแขกรับเชิญด้วย และการไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของ “ผู้ใช้ที่ไม่ระบุตัวตน” ให้มาด่าสนุกปาก พร้อมกับตั้งคำถามว่า แม้กระทั่งการเป็นสื่อ ควรจะปกป้องตัวเองอย่างไรกับการแสดงความเห็นขยะแบบนี้
มันอาจเป็นก้าวแรกของการที่สื่อมวลชนขึ้นมาตั้งคำถามต่อการบูลลี่ในโลกโซเชี่ยลฯ แต่จะเป็นแบบอย่างในอนาคตหรือไม่คิดว่าก็คงยาก เพราะสื่อจะโดนตั้งข้อสังเกตเรื่องความเป็นมืออาชีพ อารมณ์แบบ “หมามันจะเลียปากแล้วไปเล่นกับมันทำไม” แต่พวกคนมีชื่อเสียงบางคนก็ไม่ค่อยจะทนกับความเห็นบูลลี่ ตอบโต้กลับไปบ้าง
ถามว่าคนเราปล่อยผ่านกับการบูลลี่ได้เหมือนกันหรือไม่ ก็ไม่ใช่อีก เพราะภูมิคุ้มกันทางใจไม่เท่ากัน ซึ่งจะแนะนำวิธีง่ายๆ ว่า พื้นที่โซเชี่ยลฯของตัวเองก็ให้ตั้งค่าไพรเวทสำหรับคนรู้จักจริงๆ ด่ามาด่ากลับได้ แต่หลายคนเขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น โดยเฉพาะกลุ่มใช้อินสตาแกรมหรือติ๊กต่อก ที่เขาต้องการเป็น someone ในโลกโซเชี่ยลฯ เคยถามคนที่โดนบูลลี่เยอะๆ ว่า ทำอย่างไร คำตอบคือก็บล็อกไปเป็นคนๆ เพราะจะอ่านความเห็นอื่นที่ชอบต้องมาเห็นเกรียนคีย์บอร์ดมันรำคาญ หรือไม่ก็ถ้าล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวมาก ชักจะเกินไป เป็นคำที่เข้าเค้าว่า “เป็นการด่าที่เป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง ” ไม่ใช่ด่าเลอะเทอะ เช่น ด่าว่า ..แต่งตัวเหมือนโสเภณี… อะไรแบบนี้ ก็แจ้งผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมิ่นประมาท
เขาบอกว่า เกรียนคีย์บอร์ดน่ะปากแจ๋วอยู่หลังคอมทั้งนั้นแหละ พอจะขึ้นศาลก็ขอโทษปลกๆ บอกรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง ทำไปเพราะขาดสติบ้าง แต่รายที่ถามนี้ เขาบอกว่า เขาว่าง สู้คดีนานแค่ไหนเขาก็สู้ ได้ค่าปรับมาก็เอาไปบริจาคสวยๆ ให้เกรียนคีย์บอร์ดได้เห็นว่าได้เนื้อนาบุญด้วย..รายนี้ยังบอกด้วยว่า ไม่คุ้มที่จะไปด่าตอบ เพราะเสียภาพลักษณ์ตัวเอง แถมอีกฝ่ายสามารถอวตารเอาพวกมารุมได้ แล้วไม่จบ ..พร้อมความเห็นว่า ไปยุ่งกับคนที่เราไม่รู้จัก เกิดมันโกรธขึ้นมาจริงๆ มาดักฆ่าเอาทำไงล่ะ เขายิ่งเตือนๆ ห้ามๆ อยู่เรื่องอย่าเปิดเผยโลเคชั่นที่อยู่จริงออนไลน์
ย้อนกลับมาที่วิธีการจัดการการบูลลี่ วิธีการใช้กระบวนการยุติธรรมก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจของตัวเอง ในกรณีที่เราเป็นบุคคลสาธารณะ หรือผลิตสินค้าเพื่อขาย บางทีก็ต้องหายใจลึกๆ ระหว่างอ่าน อย่าไปอินกับมันมาก แล้วต้องค่อยๆ อ่านอย่างไตร่ตรองว่า “ชุดเหตุผล” ที่ควรใช้ชี้แจงคืออะไร ถ้าเห็นว่าไร้สาระที่จะต้องชี้แจงก็ปล่อยผ่าน แต่ถ้าจะชี้แจง ก็ดูเฉพาะการวิจารณ์ที่มีเหตุผล เช่น การตัดชุดที่มันไม่เข้าทรงกับคนใส่ มีผ้าแทรกมีรยางค์อะไรมั่วไปหมด ก็ฟังแล้วมาปรับปรุงงาน แต่ถ้าวิจารณ์ด้วยอคติก็ปล่อย และอย่าใช้วิธีแบบตีโพยตีพายว่า ดูถูกแรงบันดาลใจของฉัน..ไม่อย่างนั้นคืองานคุณก็จะย่ำอยู่กับที่ ..ดีไซเนอร์เมืองนอกดังๆ ก็ยังถูกสับยับมาแล้วถ้าคอลเลคชั่นนั้นไม่สวย อย่างบาลองเซียก้านี่มักจะตกเป็นขี้ปากคนไทยมากที่สุด ใครอยากรู้ว่าเพราะอะไรก็ไปสืบค้นรูปสินค้าบางอย่างของแบรนด์นี้ดู
เข้าใจคนวิจารณ์ว่า 1.ทุกคนมีอคติกำกับความคิด เช่น ถ้าไม่ชอบเพื่อไทย ก็ด่าอุ๊งอิ๊ง ไม่ชอบก้าวไกลก็มาแบบเดียวกันแต่เปลี่ยนคนถูกวิจารณ์เป็นช่อ พรรณิการ์ วานิช หรือไหม ศิริกัญญา ตันสกุลแทน อคติเกิดได้จากหลายสาเหตุแม้แต่ความอิจฉา 2.เรื่อง eyes of beholder คือการมองความงามแบบต่างกัน ประกวดนางงาม ผู้เข้าประกวดก็ไม่พ้นโดนวิจารณ์เรื่องความสวย เรื่องรูปร่าง ดังนั้น สร้างภูมิคุ้มกันกับตัวเองว่า อะไรควรตอบโต้หรือไม่ตอบโต้ และเลือกมองว่าอะไรคือการวิจารณ์โดยสุจริตใจ อะไรคือการบูลลี่ ..ถ้าเป็นการบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์บางทีก็ต้องปล่อยวางเพราะเสียเวลาที่จะไปโต้ตอบให้ปัญหาไม่จบ ก็ไม่ต้องไปสนใจและหาอย่างอื่นทำ ถ้าเป็นการบูลลี่ในชีวิตจริงให้ประเมินว่ามีโอกาสเข้าข่ายคุกคามหรือไม่ และก็ต้องหาแนวทางการป้องกันตัว เช่น ลงบันทึกประจำวัน
ยุคนี้ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ได้ และสร้างความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่พูดอะไรแบบไม่คิดถึงผู้อื่นด้วย.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”