สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ มีความสุดยอดของเยาวชนไทยมาฝากกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นการโชว์ความสามารถในการทดลองด้านวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้โครงการ Asian Try Zero-G 2023 ร่วมกับเยาวชนจากประเทศออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ผ่านระบบออนไลน์

ซึ่งโครงการดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเข้าร่วมแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย โดยแจ็กซาได้เลือกข้อเสนอการทดลองจำนวน 14 เรื่อง จาก 8 ประเทศ ขึ้นไปทดลองจริงในห้องทดลองคิโบ โมดูล ซึ่งในจำนวน 14 เรื่อง เป็นผลงานของเยาวชนไทยถึง 3 เรื่อง และ 2 ใน 3 เรื่อง สามารถคว้ารางวัลกลับมาได้ด้วย

โดยผลงานการทดลองวิทยาศาสตร์ “การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Starfish exercise for microgravity)” ของ  “มุก” วรรณวลี จันทร์งาม และ “เอม” พุทธิมา ประกอบชาติ ชั้นม.6 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม คว้ารางวัลชนะเลิศ Kibo-ABC Award และ ผลงานการทดลอง เรื่อง “ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้าสถิต (Water spheres and electrostatic force)”  โดย “ฟุง” ชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ ชั้นม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัล Crew Award 

มุก” เล่าว่า ก่อนการแข่งขันได้เตรียมตัวหาข้อมูลกับ “เอม” อย่างหนักเพื่อจัดทำสไลด์ ต้องดูวิดีโอการทดลองซ้ำไปซ้ำมาเยอะมาก และพยายามวาดรูปเอง เพื่อจัดทำสื่อนำเสนอให้น่าสนใจและใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมากที่สุด ซึ่งพอถึงเวลานำเสนอจริง ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ก็ได้พยายามทำให้ดีที่สุด พอได้ยินคณะกรรมการประกาศว่าทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศก็ดีใจมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณนักบินอวกาศญี่ปุ่นที่อธิบายผลลัพธ์ต่างๆ ในช่วงการทดลองบนอวกาศได้อย่างละเอียด ทำให้พวกเรานำไปสืบค้นต่อได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเราจะนำความรู้ที่ได้มาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองต่อไป

ด้าน “ฟุง” บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัล Crew Award ตอนแรกไม่ได้คาดหวัง เพราะการนำเสนอของเพื่อน ๆ ทีมอื่นมีการวิเคราะห์ผลเชิงปริมาณ และนำเสนอกันได้ดีมาก แต่ก็ตั้งใจทำเต็มที่ เน้นการใช้สไลด์ที่เข้าใจง่ายอธิบายถึงแนวคิดและผลการทดลองที่เกิดขึ้น พอทราบผลรางวัลก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่นักบินอวกาศญี่ปุ่นถูกใจหัวข้อการทดลองและการสรุปผลของเรา โดยรวมแล้วการได้เข้าร่วมกิจกรรม Asian Try Zero-G 2023 ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ทำให้ได้รับประสบการณ์ ทักษะ และความรู้ใหม่ๆ เยอะมาก

ทีมงาน “ขาสั้น คอซอง” ขอปรบมือให้กับความยอดเยี่ยมของเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติในครั้งนี้มาได้  ส่วนอีกทีมคือ ผลการทดลอง เรื่อง “การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ” โดย “เฟรม” ณัฐภูมิ กูลเรือน, “ต้นกล้า” จิรทีปต์ มะจันทร์, “เพียว” ฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล และ “ต้นน้ำ” ภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ ชั้นม.6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แม้จะพลาดหวังกลับมา แต่เราขอบอกได้เลยว่า แค่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายก็ถือว่า “สุดยอด” แล้ว