…..นั่นหมายความว่า  บริษัทจะโค่นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งยืน 1 ในวันนี้ด้วยจำนวนรถเมล์ให้บริการ2,400 คัน ผู้โดยสาร 6.5 แสนคนต่อวัน

นอกจากการบริษัทจะเข้าเดินรถในเส้นทางต่างๆ แทนขสมก.ที่ต้องหยุดให้บริการจำนวนมากในเส้นทางปฎิรูปรถโดยสารในกรุงเทพฯและปริมณฑล  ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในยุคที่ผ่านมา  สร้างความสั่นสะเทือนจนขสมก.อ่อนแอลงแล้ว ล่าสุดยังประกาศรับสมัครกัปตันเมล์-บัสโฮสเตส และตำแหน่งอื่นๆ อีกกว่า 1 พันอัตรา เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการผู้โดยสาร

ขณะเดียวกันทีมผู้บริหาร TSB ยังนำคณะสื่อมวลชน ร่วมเดินทางศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะของเมืองไทเป ไต้หวันที่มีระบบคมนาคมทันสมัย เดินทางง่ายสะดวก ปลอดภัย และมีรูปแบบการเดินทางใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน เพื่อนำมาปรับใช้เป็นโมเดล(ต้นแบบ)การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSB บอกว่า  โมเดลของไต้หวันที่น่าสนใจที่สุดคือการพัฒนาต่อยอดเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่าย Single Network บัตรโดยสารใบเดียวใช้บริการต่างๆ ได้ครบถ้วน ทั้งระบบขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และบริการต่างๆ  แม้จะมีบัตรโดยสารสาธารณะหลายประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบัตร Easy Card ครอบคลุมทุกบริการ  สามารถนำมาต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ซึ่งเป็นบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้าของไทย สมายล์ กรุ๊ป ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันได้

“บัตร Easy Card ของไต้หวัน รัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันทำมากว่า 20 ปีแล้ว ผลิตออกมาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านใบ เป็นบัตรเติมเงิน สามารถซื้อและเติมเงินได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่สถานีรถไฟฟ้า รวมทั้งร้านสะดวกซื้อทั่วไป มีหลายประเภท อาทิ บุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ นักเรียน/นักศึกษา ใช้จ่ายค่าเดินทางขนส่งสาธารณะแทนเงินสด ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟ รถโดยสาร เรือ รถแท็กซี่ เช่าจักรยาน T-Bike และ You Bike รวมทั้งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์ Easy Card

ขณะที่บัตร HOP Card ของไทย สมายล์ กรุ๊ป ใช้งานจำกัดแค่รถเมล์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้าของตัวเอง จึงมีแผนพัฒนาให้สามารถชำระค่าสินค้า และบริการต่างๆ ได้ครอบคลุมเหมือนบัตร Easy Card ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ จ่ายค่าบริการร้านอาหาร สวนสนุก โรงแรม ขึ้นกระเช้า พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ และส่วนลดให้ผู้ใช้บริการ”

ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ TSB ให้รายละเอียดว่า    “ตั๋วร่วม” ในไทยยังเป็นแค่อุดมคติ ไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกันได้  TSB พร้อมเจรจากับผู้ประกอบการขนส่งทุกราย และพร้อมใช้ร่วมกับบัตรต่างๆ โดยภาครัฐควรเข้ามาเป็นคนกลางประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายด้วย

เมื่อตั๋วร่วมของไทยยังไม่เกิดขึ้น TSB ก็มีแผนพัฒนาบัตร HOP Card ของไทย สมายล์ กรุ๊ป ให้มีสิทธิประโยชน์มากขึ้น อยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจ และเจรจากับพันธมิตรร้านค้าต่างๆ จะเริ่มจากร้านค้า ร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร สปา และนวดแผนไทย ที่อยู่ตามแนว 123 เส้นทางที่รถเมล์ไทย สมายล์ บัส ได้รับสัมปทาน รวมถึงร้านค้า และร้านอาหารใน “กลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป” ตลอดจนโรงแรม และโรงพยาบาล คาดว่าจะใช้บริการได้ภายในปี 67 นำร่องร้านค้า และบริการของพันธมิตร รวมประมาณ 300 ร้านค้า และทยอยเพิ่มขึ้นต่อไป

TSB จะนำแนวคิดบัตร Easy Card ของไต้หวันที่ออกแบบสวยงาม มีหลายลวดลาย มีทั้งแบบบัตร แบบพวงกุญแจ เก็บสะสมได้ มาปรับใช้กับบัตร HOP Card ด้วย เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการบัตร HOP Card มากขึ้น เริ่มเจรจากับศิลปินผู้ออกแบบชาวไทยไว้แล้ว คาดว่าหน้าตาของบัตรจะมีบัตรลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก 3-4 ลวดลายจาก 1 ลวดลายภายในปีนี้   HOP Card มีประมาณ 1.4 แสนใบ จากผู้ใช้บริการประมาณ 3-4 แสนคนต่อวัน ภายในสิ้นปี 67 TSB ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้บริการรถเมล์ 6-7 แสนคนต่อวันจากผู้ที่ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ใช้บริการรถเมล์ 50% จากปัจจุบัน 30% ยังเป็นรองขสมก. และตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บัตร HOP Card เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนใบ

HOP Card เป็นบัตรเติมเงิน มีวิธีการใช้งานลักษณะเดียวกับบัตร Easy Card ของไต้หวัน เมื่อขึ้นรถ หรือลงเรือให้นำบัตรขึ้นมาแตะกับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพื่อชำระค่าโดยสาร โดยต้องแตะบัตรทั้งตอนขึ้น และลง หากไม่แตะบัตรแค่ครั้งเดียวต่อการโดยสาร 1 รอบ ระบบจะไม่สามารถคำนวณระยะทางที่โดยสาร และค่าโดยสารเที่ยวนั้นจะถูกคิดเป็น “ค่าปรับ” ตามเรทค่าโดยสารสูงสุดของสายนั้นๆ รถ 25 บาท และเรือ 20 บาท ทั้งนี้ค่าโดยสารรถเมล์ไทย สมายล์ บัส อยู่ที่ 15-25 บาท ขณะที่รถเมล์ไต้หวันค่าโดยสาร 15-30 บาท ไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสารเหมือนไทย จ่ายได้ทั้งเงินสด และบัตร ส่วนใหญ่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตร เงินสดมีตู้หยอดอยู่ข้างพนักงานขับรถ ต้องเตรียมเงินให้พอดี ไม่มีเงินทอน 

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันให้หลากหลาย อาทิ ตรวจสอบเวลาเดินรถ เมื่อกำลังเข้าป้าย คำนวณระยะเวลาเดินทาง และยังมีระบบสำหรับผู้ลงทะเบียนบัตร HOP Card โดยเฉพาะ ให้สามารถเช็กประวัติการเดินทางย้อนหลังพร้อมประเมินความพึงพอใจ หรือร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการส่งข้อมูลตรงถึงฝ่ายปฏิบัติการได้ทันที  

ขณะนี้ TSB มีรถเมล์ในฟีด 2,350 คัน นำออกมาให้บริการประมาณ 1,500 คัน โดยไตรมาสที่ 4 ปี 67 หรือประมาณตั้งแต่เดือน ต.ค.67 จะนำรถออกมาให้บริการเป็น 1,900 คัน จากนั้นต้นปี 68 จะนำรถออกวิ่งให้บริการ 2,100 คัน ที่เหลืออีก 250 คัน ต้องใช้เป็นรถหมุนเวียนในช่วงที่รถถึงรอบซ่อมบำรุง และในปี 68 มีแผนจัดหารถเพิ่มรวมเป็นประมาณ 3,000 คันด้วย

การขึ้นเป็นที่ 1 ได้ไม่ใช่แค่จำนวนรถเมล์เท่านั้น แต่ต้องเป็นที่ 1 ในใจของผู้โดยสารด้วย  เป็นโจทย์ใหญ่ที่”ไทย สมายล์ บัส” ต้องพัฒนายกระดับบริการให้ได้อย่างสมบูรณ์  ขณะที่กระทรวงคมนาคมต้องทำ”ตั๋วร่วม”ให้ถึงเกิดขึ้นจริงใช้บริการได้  ไม่ใช่แค่ลมปากที่พูดกันมาหลายสิบปีแล้ว.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต