โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีอายุมาก เป็นโรคปอด เช่น ถุงลมโป่งพอง คนไข้เคยผ่าตัดทรวงอกด้านซ้ายมาก่อน แต่การรักษาด้วยขดลวดมิใช่จะสามารถใช้กับคนไข้ทุกคนได้ ข้อจำกัดที่สำคัญและพบบ่อยคือ คนไข้ที่มีหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบและช่องเชิงกรานขนาดเล็ก มีหินปูนที่ผนังหลอดเลือดมาก อย่างน้อยหลอดเลือดแดงต้องมีขนาดใหญ่กว่า 7-8 มิลลิเมตร (รูภายใน) จึงจะกว้างพอที่จะให้เครื่องมือผ่านขึ้นไปในตำแหน่งที่ต้องการในหลอดเลือดแดงใหญ่ในอกได้

คนไข้ที่มีหลอดเลือดแดงเล็กหรือตีบที่พบมากคือ คนไข้เพศหญิง อายุมาก เป็นโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์จะรู้ขนาดของหลอดเลือดโดยการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ้าพบว่ามีขนาดเล็กก็ต้องมีการวางแผนที่จะให้เครื่องมือผ่านไปได้ เช่น การขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบด้วยลูกโป่ง ซึ่งอาจขยายไม่ออก เพราะมีหินปูนในผนังมาก หรือหลอดเลือดแดงเล็กกว่าขนาดของเครื่องมือมาก หากคนไข้มีความเสี่ยงมากถ้ารักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก อาจพิจารณาอีกวิธีการหนึ่ง คือ เปิดช่องท้องตรงกลางแล้วใช้เข็มแทงผนังหลอดเลือดใหญ่แล้วขยายจนสามารถผ่านเครื่องมือเข้าไปได้ ก็จะสามารถรักษาหลอดเลือดโป่งพองในทรวงอกได้ แล้ว เย็บซ่อมหลอดเลือดแดงในช่องท้อง คนไข้ก็จะบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดทรวงอกแบบเปิด  แพทย์จะดูว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องส่วนต่ำกว่าหลอดเลือดแดงไตมีขนาดกว้างเท่าไร มีหินปูนที่ผนังมากน้อยเพียงใด ต้องหาตำแหน่งที่ผนังหลอดเลือดแดงมีหินปูนน้อยเป็นจุดที่เจาะหลอดเลือดเพื่อเป็นทางผ่าน

คนไข้สตรีอายุ 84 ปี มีอาการปวดหลังมาโรงพยาบาล ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกส่วนขาลงโป่งพองออกจนมีขนาด 6.4 เซนติเมตร หลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องมีหินปูนเกือบทั้งเส้นรอบวง หลอดเลือดแดงที่แบ่งแขนงมาขาทั้งสองข้างมีหินปูนมาก และตีบทั้งสองข้างตั้งแต่ต่ำกว่าหลอดเลือดแดงใหญ่  แพทย์พยายามผ่านเครื่องมือจากหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ แต่ติดตรงหลอดเลือดแดงในช่องท้อง ขยายด้วยลูกโป่ง ขยายออกได้บ้าง แต่ก็ยังเล็กว่า 8 มิลลิเมตร จึงเปิดช่องท้องไปหาหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต่ำกว่าหลอดเลือดไต คลำพบบริเวณที่ผนังมีหินปูนน้อย เจาะด้วยเข็ม ผ่านลวดและเครื่องมือขึ้นไปในทรวงอกได้ ทำให้การรักษาด้วยขดลวดหุ้มหลอดเลือดเทียบสำเร็จ คนไข้ฟื้นตัวดี ปวดแผลไม่มาก สามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด 5 วัน การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบขดลวดหุ้มหลอดเลือดเทียมสามารถกันผนังส่วนโป่งพองออกจากกระแสเลือดได้ อาการปวดหลังดีขึ้น การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่า ขดลวดสามาถปิดบริเวณที่โป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ดี คนไข้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังการรักษา

ข้อมูลจาก รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 และ 2 / www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่